แนวคิดใหม่เกี่ยวกับการศึกษา- เส้นทางสี จิ้นผิง (66)

2023-12-25 09:03:21 | CMG
Share with:

วันหนึ่งในช่วงต้นฤดูร้อนปี 1989 ยามดวงอาทิตย์เพิ่งโผล่พ้นหุบเขาในเทือกเขา จง ทงตี้ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำหมู่บ้านต้าหลิน ตำบลชนเผ่าเซอป่านจง เมืองฝูอัน เขตหนิงเต๋อกำลังทำงานอยู่ในทุ่งนา เขามองเห็นแต่ไกลว่ามีคนแปลกหน้าสามคนกำลังเดินเข้ามายังหมู่บ้าน

ในเวลานั้น หมู่บ้านต้าหลินยังไม่มีทางหลวงเชื่อมกับภายนอก ถนนแคบๆท่ามกลางภูเขานั้นทั้งขรุขระและสูงชัน หากเดินทางมาจากทางตำบล แม้จะเดินเก่งก็ต้องใช้เวลามากกว่าหนึ่งชั่วโมงจึงจะถึงหมู่บ้าน

เมื่อทั้งสามคนเดินเข้ามาใกล้ จง ทงตี้สังเกตเห็นว่าคนที่เดินอยู่ตรงกลางเป็นชายหนุ่มซึ่งมีเหงื่อเต็มหน้า ผู้ที่ร่วมเดินทางมากับเขาคนหนึ่งแนะนำว่า นี่คือเลขาธิการสีจากคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเขต เดินทางมาที่หมู่บ้านเพื่อสำรวจสภาพต่างๆ

“มือของผมเต็มไปด้วยโคลน ตัวก็เปียกชุ่มด้วยเหงื่อ แต่ท่านเลขาธิการสีไม่ได้รังเกียจแม้แต่น้อย กลับยื่นมือมาจับมือผม” จง ทงตี้เล่าย้อนอดีตให้ฟัง เขาหยุดทำงานแล้วพาทั้งสามคนไปที่หมู่บ้าน ระหว่างทางก็แนะนำสภาพของหมู่บ้านไปด้วย

ณ บริเวณปากทางเข้าหมู่บ้าน มีบ้านอิฐเก่าๆหลังหนึ่ง ที่มีหน้าต่างบานเล็กเพียงสองบาน นี่คือโรงเรียนประถมต้าหลิน จง ทงตี้กล่าวว่า ทั้งโรงเรียนมี 4 ชั้นเรียน มีนักเรียนรวม 47 คน ซึ่งทั้งหมดอัดแน่นอยู่ในห้องเรียนเดียว มีครูเพียงคนเดียว เป็นเด็กสาวอายุ 18 ปี แต่ละคาบของชั้นเรียนสามารถจัดสรรเวลาได้เพียง 10 นาทีเท่านั้น บ้านที่ครูอาศัยอยู่นั้นใต้ถุนบ้านเลี้ยงวัวและข้างบนตาก “ตี้กวาหมี่”(ผลิตภัณฑ์มันเทศอย่างหนึ่ง)ไม่มีประตูบ้าน จึงใช้ม่านไม้ไผ่กั้นไว้แทน หากนักเรียนต้องการเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จะต้องไปที่หมู่บ้านเซียนหยานซึ่งอยู่ติดกับหมู่บ้านต้าหลิน

เมื่อได้ฟังการแนะนำของจง ทงตี้ พร้อมกับเห็นเสื้อผ้าโทรมๆ ของเด็ก ๆ นายสี จิ้นผิงมีสีหน้าเคร่งขรึม

คำบรรยายภาพ : นายสี จิ้นผิง เดินทางไปยังตำบลเซี่ยต่าง อำเภอโซ่วหนิงเพื่อสำรวจข้อมูลประกอบการวิจัย พร้อมจัดการประชุมในท้องถิ่นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ.1989(ภาพจากหนังสือ “หลุดพ้นความยากจน”)

หลังจากนั้นไม่นาน นายสี จิ้นผิงได้มอบหมายเป็นพิเศษให้จ้าว เหวินฟา ซึ่งเป็นกรรมการการเมืองประจำกองบัญชาการทหารเขตหนิงเต๋อเป็นผู้มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือหมู่บ้านต้าหลินไปเยี่ยมเด็กๆ จ้าว เหวินฟาและคณะได้ช่วยกันแบกกระเป๋าทั้งใบใหญ่และใบเล็ก เพื่อส่งอุปกรณ์การเรียนต่างๆ ไปให้โรงเรียน โดยเด็กแต่ละคนจะได้รับกระเป๋านักเรียนหนึ่งใบ กล่องใส่ดินสอหนึ่งกล่อง และดินสอ 10 แท่ง นอกจากนั้นเด็กๆยังได้รับเสื้อผ้าสวย ๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนด้วย เด็กผู้หญิงเป็นชุดติดกัน ส่วนเด็กผู้ชายเป็นชุดกางเกงขาสั้นและเสื้อเชิ้ตแขนสั้น

นายสี จิ้นผิงยังอนุมัติเงิน 60,000 หยวนสำหรับหมู่บ้านต้าหลินด้วย เงินดังกล่าวถูกใช้ในการสร้างถนนสายหนึ่ง สร้างห้องเรียน 4 ห้องและสำนักงานของ "คณะกรรมการสองชุด" (คณะกรรมการพรรคพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำหมู่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้าน เรียกย่อๆว่า “คณะกรรมการสองชุดของหมู่บ้าน”)ของหมู่บ้าน รวมถึงติดตั้งโทรทัศน์และโทรศัพท์อย่างละเครื่องด้วย

“ผมได้ไปเยี่ยมหมู่บ้านหลายแห่ง ได้เห็นอาคารเรียนโรงเรียนที่เรียบง่ายจำนวนไม่น้อย  ทำให้รู้สึกอึ้ง” ในบทความ “เราควรบริหารการศึกษาให้ดีขึ้นอย่างไร”ที่นายสี จิ้นผิงเขียนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1990 นั้น ระบุว่า “ในระหว่างการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเจ้าหน้าที่และครัวเรือนมืออาชีพในชนบท (ครัวเรือนมืออาชีพในชนบทหมายถึงครัวเรือนเกษตรกรที่เน้นดำเนินการผลิตสินค้าหรือประกอบธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นหลัก) ผมยิ่งรู้สึกถึงความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วนของการพัฒนาการเกษตรด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการสร้างความเจริญรุ่งเรืองด้วยการพัฒนาบุคลากร”

ในเวลานั้น ทรัพยากรการเงินทางตะวันออกของมณฑลฝูเจี้ยนขัดสน จึงเป็นการยากมากที่จะจัดการศึกษาให้ดี แต่เนื่องจากดำเนินการด้านการศึกษาทำได้ไม่ดี การพัฒนาเศรษฐกิจจึงเผชิญกับข้อจำกัดด้านบุคลากรเช่นกัน “การใช้แนวคิดใหม่ด้านการศึกษาทำให้เราเห็นความจำเป็นเร่งด่วนมากยิ่งขึ้น”

แนวคิดใหม่ด้านการศึกษาคืออะไร? นายสี จิ้นผิง อธิบายว่า “มันไม่ใช่การศึกษาเหมือนในอดีต แต่เป็นการเชื่อมโยงปัญหาทางการศึกษากับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยพิจารณาว่าการศึกษาในท้องถิ่นสามารถสอดคล้องและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของท้องถิ่นได้หรือไม่”

นายสี จิ้นผิงเห็นว่า ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันของพื้นที่ทางตะวันออกมณฑลฝูเจี้ยน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับการเปิดกว้างและการพัฒนาเศรษฐกิจ “ย่อมต้องถือบุคลากรเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของสภาพแวดล้อมที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์” และ “ปลูกฝังบุคลากรในด้านต่างๆ เริ่มตั้งแต่ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา” ดังนั้น “ประเด็นการศึกษาจึงเป็นประเด็นที่ให้ “รอหน่อย”ไม่ได้เด็ดขาด”  จะต้อง “จัดลำดับความสำคัญให้การศึกษาอยู่ลำดับต้นๆ และมุ่งมั่นที่จะจัดการศึกษาที่ดีอย่างครบวงจร ซึ่งการศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเศรษฐกิจ ต่างก็ส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน”


IN/LU

  • เสียงข่าวประจำวัน (21-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (21-11-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (21-11-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (20-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (20-11-2567)