ปัจจุบันจีนมีโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยจีนมีโครงข่ายรถไฟระยะทางกว่า 155,500 กิโลเมตร เป็นรถไฟความเร็วสูงระยะทาง 43,700 กิโลเมตร
ย้อนไปในปี พ.ศ. 2551 ปีที่จีนเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน รถไฟความเร็วสูงระหว่างเมืองปักกิ่ง-เทียนจิน วิ่งได้ด้วยความเร็ว 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเริ่มเปิดใช้งาน และจากนั้นจีนได้ขยายโครงขายรถไฟความเร็วสูงอย่างต่อเนื่อง
โดยในปี 2566 จีนเปิดตัวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
หนึ่งในส่วนขยายที่โดดเด่นที่สุดของโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงของจีนในปีนี้ คือ รถไฟฝูโจว-เซียะเหมิน-จางโจว ซึ่งเป็นรถไฟความเร็วสูงข้ามทะเลที่เร็วที่สุดของประเทศ โดยรถไฟวิ่งได้ด้วยความเร็วสูงสุด 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมงไปตามแนวตะวันตกทางชายฝั่งช่องแคบไต้หวัน เส้นทางรถไฟนี้มีความยาว 277 กิโลเมตร เริ่มให้บริการเมื่อวันที่ 28 กันยายน ช่วยย่นระยะเวลาการเดินทางระหว่างเมืองฝูโจวและเซียะเหมินลงเหลือเพียงไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง
ทางรถไฟเส้นทางนี้ยังมีทิวทัศน์ของทะเลที่สวยงาม มีรางรถไฟยาว 19.9 กิโลเมตรที่พาดผ่านทะเล เชื่อมเมืองหลายเมือง เปลี่ยนพื้นที่ฝูโจวและเซี่ยเหมินให้เป็นวงแหวนที่สามารถเชื่อมกันได้ภายในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง
ในเดือนสิงหาคม รถไฟความเร็วสูงกุ้ยหยาง-หนานหนิงก็ได้เปิดให้บริการเต็มรูปแบบ โดยเชื่อมโยงเมืองหลวงของมณฑลกุ้ยโจวและเขตปกครองตนเองกว่างสี จ้วง ทางรถไฟสายนี้ได้รับการออกแบบให้มีความเร็วสูงสุดถึง 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถือเป็นทางรถไฟสายแรกของกุ้ยโจวและกว่างซี
นอกจากนี้ จีนยังได้พัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงในการสร้างระบบราง สะพานยาว และอุโมงค์ที่ซับซ้อนในสภาพทางธรณีวิทยาและภูมิอากาศที่ท้าทาย เพื่อขยายรถไฟความเร็วสูงไปยังพื้นที่ห่างไกล
ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ทางรถไฟสายเสฉวน-ชิงไห่ ความยาว 238 กิโลเมตร ทางตะวันตกของจีน เริ่มเปิดให้บริการ นอกจากนี้ ยังมีการให้บริการรถไฟที่เชื่อมระหว่างเมืองลี่เจียงและแชงกรีลา ในมณฑลยูนนานทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและการพัฒนาอุตสาหกรรม เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อพื้นที่แชงกรีลาในเขตปกครองตนเองทิเบตตี๋ชิง
บริษัท China Railway ระบุว่าตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน 2566 มีการเดินทางของผู้โดยสารด้วยรถไฟทั่วประเทศกว่า 3,500 ล้านครั้ง โดยเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เพื่อตอบสนองความต้องการการเดินทางที่เพิ่มขึ้น China Railway ได้ปรับปรุงแผนปฏิบัติการเดินรถไฟและเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่ง โดยมีจำนวนรถไฟโดยสารอยู่ที่ 9,638 ขบวนต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 52 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
นอกจากนี้รถไฟความเร็วสูงของจีนยังถูกนำไปใช้ในต่างประเทศเช่นกัน ในปีนี้รถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุงในอินโดนีเซีย ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม เป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงในต่างประเทศโครงการแรกที่ใช้ระบบรถไฟ เทคโนโลยี และส่วนประกอบทางอุตสาหกรรมของจีนเต็มรูปแบบ
รถไฟความเร็วสูงสายนี้มีความยาว 142.3 กิโลเมตร วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ช่วยลดระยะเวลาเดินทางระหว่างจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย และบันดุง เมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงให้เหลือไม่ถึง 1 ชั่วโมง ภายหลังจากการเปิดใช้งานในเดือนตุลาคม ขณะนี้รถไฟความเร็วสูงสายนี้ได้ให้บริการผู้โดยสารไปมากกว่า 1 ล้านคนแล้ว
นับจากนี้ จีนยังมีแผนการพัฒนาระบบและโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงของจีนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างโครงสร้างการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไป
บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย
อ้างอิง : CGTN