บทวิเคราะห์ : ประชาคมโลกต้องร่วมมือกัน สร้างธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์

2024-01-09 09:10:52 | CMG
Share with:

ช่วงที่ผ่านมา ขณะสรุปสถานการณ์ปี 2023 และมองทิศทางการพัฒนาในปี 2024 สื่อต่างชาติหลายสำนักต่างได้กล่าวถึงคำว่า  “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI  สื่อต่างชาติเหล่านี้แสดงความเห็นว่า  AI ได้เปลี่ยนจากคำศัพท์ในนิยายทางวิทยาศาสตร์มาเป็นเครื่องมือที่ผู้คนนับล้านคนกำลังใช้อยู่ และซึมซาบเข้าสู่ชีวิตประจำวันของผู้คน ตลอดจนขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไปสู่อนาคต  สื่อเหล่านี้ยังเชื่อว่า ในปี 2024 นวัตกรรม AI ที่ได้ทำลายขอบเขตการพัฒนาเดิมๆ จะมีความแข็งแกร่งมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในปี 2023  นอกจากมูลค่าการประยุกต์ใช้และมูลค่าเชิงพาณิชย์อันมหาศาลแล้ว   AI ยังนำมาซึ่งความเสี่ยงและความท้าทายที่เกินคาดอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญในการพัฒนา AI อย่างรวดเร็ว การสร้างธรรมาภิบาล AI จึงเป็นงานเร่งด่วนที่ประชาคมระหว่างประเทศต้องร่วมกันจัดทำ

นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ชี้ว่า ต้องเข้าถึงเทคโนโลยีดังกล่าวด้วยความรู้สึกที่เร่งด่วน มุมมองระดับโลก และท่าทีของผู้ศึกษาเรียนรู้    ประเทศต่างๆ ควรมีส่วนร่วมในการประสานงาน เพื่อกำหนดขอบเขตของ AI  และใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อรับประกันว่า AI จะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ  

จนถึงขณะนี้ จีนได้ออกกฎระเบียบชั่วคราวเกี่ยวกับการกำกับดูแลบริการด้านปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์   (generative AI)  สหประชาชาติได้ตั้งหน่วยงานที่ปรึกษาระดับสูงด้าน AI  การประชุมสุดยอดด้านความปลอดภัยของ AI ได้ออกปฏิญญาเบล็ตชลีย์ (the Bletchley Declaration) สหภาพยุโรปได้บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับร่างกฎหมายปัญญาประดิษฐ์ 

ในปีที่ผ่านมา ทุกฝ่ายมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับความเร่งด่วนในการกำกับดูแล AI และการดำเนินการที่เกี่ยวข้องก็มีความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว    อย่างไรก็ตาม เมื่อเผชิญกับเทคโนโลยีที่อาจส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อวิถีอารยธรรมของมนุษย์ ความท้าทายด้านธรรมาภิบาลยังคงมีอยู่อย่างกว้างขวาง ประชาคมระหว่างประเทศจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริมการประสานความร่วมมือ

ในฐานะประเทศใหญ่ด้าน AI ที่มีความรับผิดชอบ จีนให้ความสำคัญกับการกำกับดูแล AI มาโดยตลอด      นอกจากมีการ กำหนดและปรับปรุงกฎระเบียบและระบบกฎหมายที่เกี่ยวข้องภายในประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป    จีนยังมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการเสริมสร้างธรรมาภิบาล AI ระดับโลกด้วย   

จีนได้เสนอข้อริเริ่มธรรมาภิบาล AI ระดับโลก โดยได้อธิบายถึงแนวทางของจีนในการกำกับดูแลเทคโนโลยี AI อย่างเป็นระบบทั้งในแง่ของการพัฒนา ความปลอดภัย และการบริหาร     

ข้อริเริ่มดังกล่าวยึดมั่นในแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและความปลอดภัยอย่างเท่าเทียมกัน สนับสนุนแนวทางการพัฒนา AI ที่ถือผู้คนเป็นศูนย์กลาง ยึดมั่นในหลักการพัฒนา AI ที่ต้องเป็นไปในทิศทางที่ดี และสนับสนุนหลักการแห่งการเคารพซึ่งกันและกัน ความเท่าเทียมกัน และได้ประโยชน์ร่วมกันในการพัฒนา AI   ซึ่งเป็นการนำเสนอโซลูชั่นที่สร้างสรรค์สำหรับการพัฒนาและการกำกับดูแล AI ที่เป็นข้อกังวลร่วมกันของทุกฝ่าย และถือเป็นพิมพ์เขียวสำหรับการอภิปรายระหว่างประเทศและการสร้างกฎข้อบังคับในสาขานี้  

จีนยังมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการสื่อสาร การแลกเปลี่ยน และความร่วมมือในทางปฏิบัติกับทุกฝ่ายในการกำกับดูแล AI ระดับโลก  ในการพบปะระหว่างประมุขแห่งรัฐของจีนและสหรัฐอเมริกาในซานฟรานซิสโก ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมการเจรจาระหว่างรัฐบาลเกี่ยวกับ AI ทำให้เกิดแรงผลักดันใหม่ในการเสริมสร้างธรรมาภิบาล AI ระดับโลก และสร้างแรงบันดาลใจให้กับประชาคมระหว่างประเทศในด้านนี้ให้มากขึ้น  

AI ถือเป็นสิ่งใหม่ในการพัฒนาของมนุษย์  การกำกับดูแลที่มีประสิทธิผลถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การพัฒนา AI เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ   ภายใต้ภูมิหลังที่สันติภาพและการพัฒนาของโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ  ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะต้องมีวิสัยทัศน์ความมั่นคงร่วมกัน ครอบคลุม ให้ความร่วมมือ และยั่งยืน     ตลอดจนให้ความสำคัญกับการพัฒนาและความมั่นคงอย่างเท่าเทียมกัน สร้างฉันทามติผ่านการเจรจาและความร่วมมือ เพื่อสร้างกลไกการกำกับดูแลที่เปิดกว้าง เที่ยงธรรม และมีประสิทธิภาพ ต้องปฏิบัติเช่นนี้เท่านั้น จึงจะสามารถร่วมกันส่งเสริมการพัฒนา AI ไปในทิศทางที่ดี เป็นระเบียบ และมีความปลอดภัย  ตลอดจนสามารถรับประกันได้ว่า AI จะก้าวหน้าไปในทิศทางที่เอื้อต่อความก้าวหน้าของอารยธรรมแห่งมนุษยชาติตลอดไป 



  (IN/cai)

  • เสียงข่าวประจำวัน (21-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (21-11-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (21-11-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (20-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (20-11-2567)