นโยบายสำคัญที่เกี่ยวข้องของจีนในเรื่องส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในภาคบริการขนส่งสาธารณะ
จีนส่งเสริมการใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในภาคบริการขนส่งสาธารณะมาเป็นระยะเวลานาน เมื่อปี ค.ศ. 2009 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงการคลัง คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ และกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศจีนได้ร่วมกันเปิดตัว “โครงการสาธิตการส่งเสริมและการประยุกต์ใช้ยานยนต์ประหยัดพลังงานและพลังงานใหม่ 1,000 คันใน 10 เมือง” ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นการทดลองการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในภาคบริการขนส่งสาธารณะ ต่อมาทางการจีนได้ออกเอกสารอีกหลายฉบับเพื่อผลักดันโครงการนี้
ปี 2020 สำนักงานคณะรัฐมนตรีจีนได้ออก "แผนพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ (ค.ศ. 2021-2035)" ซึ่งระบุว่าถึงปี 2035 ยานยนต์ที่ให้บริการสาธารณะในจีนจะใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด “แผนปฏิบัติการเกี่ยวกับการบรรลุการปล่อยคาร์บอนในระดับสูงสุด (คาร์บอนพีค) ก่อนปี 2030" ที่ออกโดยคณะรัฐมนตรีจีนเมื่อปี 2021 ได้ระบุว่า จีนจะทุ่มเทส่งเสริมรถยนต์พลังงานใหม่ ลดสัดส่วนของรถยนต์เชื้อเพลิงแบบดั้งเดิมในการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ใหม่อย่างเป็นขั้นตอน และส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในภาคบริการขนส่งสาธารณะในเมือง
เดือนมกราคมปี 2023 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีนได้ร่วมกันออก "ประกาศเกี่ยวกับการบูรณาการทดลองเขตใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบในภาคบริการขนส่งสาธารณะ" ซึ่งได้กำหนดระยะเวลาทดลอง คือ ตั้งแต่ปี 2023 ถึงปี 2025 ประกาศฉบับนี้เสนอให้แต่ละเมืองสามารถยื่นคำขอเข้าร่วมโครงการนำร่องนี้
ตามประกาศฉบับนี้ เป้าหมายหลักของการทดลองในเมืองคือ ยกระดับการใช้พลังงานไฟฟ้าของยานพาหนะอย่างมีนัยสำคัญ สร้างหลักประกันที่แข็งแกร่งสำหรับระบบบริการชาร์จและเปลี่ยนแบตเตอรี่ ประยุกต์ใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีใหม่และโมเดลใหม่ โดยมีภารกิจที่สำคัญคือ ยกระดับการใช้พลังงานไฟฟ้าของยานพาหนะ ส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างสร้างสรรค์ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จไฟและเปลี่ยนแบตเตอรี่ให้สมบูรณ์แบบ รวมถึงการปรับปรุงนโยบายและระบบบริหารจัดการให้สมบูรณ์
เมื่อปลายปี 2023 ที่ผ่านมา 8 หน่วยงานของจีน เช่น กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศและกระทรวงคมนาคมขนส่งจีน ได้ร่วมกันออกประกาศว่าจะเริ่มดำเนินการทดลองเขตนำร่องการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบในภาคบริการขนส่งสาธารณะใน 15 เมือง รวมถึงปักกิ่ง เซินเจิ้น ฉงชิ่ง เฉิงตู เจิ้งโจว หนิงโป เซี่ยเหมิน จี่หนาน สือเจียจวง ถังซาน หลิ่วโจว ไหโข่ว ฉางชุน หยินฉวน และออร์ดอส เพื่อส่งเสริมการค้นหาประสบการณ์และรูปแบบที่สามารถเลียนแบบและเผยแพร่ได้จำนวนหนึ่ง
ทั้งนี้ทำให้การพัฒนาของอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ได้รับความสนใจจากทุกสาขาอาชีพในจีนอีกครั้ง การทดลองครั้งนี้หมายถึงอะไร? ทำไมถึงเลือก 15 เมืองเหล่านี้? การใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบในภาคบริการขนส่งสาธารณะจะนำการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างมาสู่ตลาดและอุตสาหกรรม? ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ผู้บริหารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
จีนใช้ภาคบริการสาธารณะเป็นจุดเปลี่ยนเพื่อเร่งยกระดับอุตสาหกรรม
ยานพาหนะในภาคบริการขนส่งสาธารณะที่จะเข้าร่วมการนำร่องในครั้งนี้ รวมถึง รถราชการ รถโดยสารประจำทางในเมือง รถสุขาภิบาล รถแท็กซี่ รถขนส่งไปรษณีย์ รถจัดส่งสิ่งของในระบบโลจิสติกส์ รถยนต์ที่ใช้ในสนามบิน และรถบรรทุกหนักในสถานการณ์เฉพาะ ฯลฯ
ความจริงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนได้เร่งการใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในภาคบริการขนส่งสาธารณะมาโดยตลอด แต่ในครั้งนี้ได้กำหนดอย่างชัดเจนให้ 15 เมืองเริ่มดำเนินการทดลองเขตนำร่อง ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณว่าจีนกำลังเร่งการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้มากขึ้นอีกระดับ
ตามเป้าหมายที่ทางการจีนคาดการณ์ไว้ ภายในระยะเวลาสองปี การทดลองครั้งนี้ใน 15 เมืองดังกล่าวจะมีการใช้รถพลังงานใหม่รวมเกิน 600,000 คัน จะสร้างเสาชาร์จไฟมากกว่า 700,000 เสา และสร้างสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่สาธารณะมากกว่า 7,800 แห่ง
เหตุใดต้องเลือกยานยนต์ในภาคบริการขนส่งสาธารณะ? ผู้สันทัดกรณีมองว่าเป็นเพราะเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับโครงสร้างอุตสาหกรรมในปัจจุบันและได้คำนึงถึงการพัฒนาในระยะยาว
จ้าว ซื่อเจีย หัวหน้าฝ่ายวางแผนนโยบายของศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมอุปกรณ์ของกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศจีนกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าส่วนแบ่งตลาดของรถยนต์พลังงานใหม่ในภาคบริการขนส่งสาธารณะในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 10% ซึ่งยังมีโอกาสเติบโตค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับส่วนแบ่งตลาดโดยรวมของรถยนต์พลังงานใหม่ซึ่งเกิน 30% ในปัจจุบัน ในเวลาเดียวกันรถยนต์สาธารณะมีหลากหลายชนิดและความถี่ในการใช้งานสูง จึงมีผลการชี้นำค่อนข้างมากต่อการรับรู้และการเผยแพร่การใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งย่อมมีบทบาทกระตุ้นการส่งเสริมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างมาก
BO/LU