“อะไรคือความหมายที่แท้จริงของการพัฒนาซอฟท์เพาเวอร์หรืออำนาจทางวัฒนธรรม ?”

2024-01-14 11:05:20 | CMG
Share with:

โดย รศ.วิภา อุตมฉันท์

คำว่า “ซอฟท์เพาเวอร์” (soft power) เป็นศัพท์ใหม่  ฮิตขึ้นมาเมื่อไม่กี่ทศวรรษนี่เอง  เพื่อให้เห็นต่างจาก “ฮาร์ดเพาเวอร์” (hard power) ซึ่งหมายถึงการส่งออกทหารและอาวุธไประรานประเทศอื่น  มีคนพยายามแปลซอฟท์เพาเวอร์เป็นไทยว่า “อำนาจละมุน”  แต่ก็ไม่ติดตลาด  สุดท้ายถือเป็นความเข้าใจร่วมกันว่า  ซอฟท์เพาเวอร์หรืออำนาจลมุลหมายถึง “วัฒนธรรม” ซึ่งเป็นอำนาจที่ได้มาโดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง   ทุกวันนี้ประเทศต่าง ๆ กำลังแข่งกันส่งออกซอฟท์เพาเวอร์ของตนที่คิดว่าโดดเด่น  แปลกหูแปลกตา  สวย ๆ งาม ๆ น่าอยู่ น่ากิน  น่าไปท่องเที่ยว ฯลฯ ออกไปอวดชาวโลก  ด้วยหวังว่านอกจากจะสร้างชื่อให้กับประเทศแล้ว  อำนาจที่แท้จริงในการส่งออกซอฟท์เพาเวอร์  จะเป็นแรงดึงดูดเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศมากกว่า   

ยกตัวอย่างรัฐบาลไทยชุดนายเศรษฐาฯ  ขึ้นมาได้ไม่กี่เดือนสิ่งที่ทำเป็นจริงเป็นจังก็คือการตั้ง “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟท์เพาเวอร์แห่งชาติ”ขึ้น  มีนายกฯนั่งหัวโต๊ะ อุ๊งอิ๊งนั่งติดกันในฐานะรองประธาน  คณะกรรมการชุดนี้ต้องการจะเห็นซอฟท์พาเวอร์ที่ไทยเรามีความโดดเด่นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว  สามารถส่งออกเป็น “ทูตทางวัฒนธรรม” ให้นานาประเทศรู้จัก  จนได้ชื่อว่าเป็นผู้นำวัฒนธรรมระดับโลก

การกินข้าวเหนียวมะม่วงของแร้ปเปอร์สาว “มิลลี่” บนเวทีระดับโลก   การได้ครองมงกุฎอันดับ 2 ของสาวไทยในการประกวดมิสยูนิเวอร์สเมื่อเร็ว ๆ นี้   แม้กระทั่ง “หมูกระทะ” ที่คุณอุ๊งอิ๊งยกตัวอย่างขึ้นมาให้เป็นซอฟท์เพาเวอร์อย่างหนึ่งของไทยก็ดี  อาจสรุปได้ว่า  อะไรก็ตามที่คนไทยคิดขึ้น  มีความแปลกใหม่  ก็ให้ถือเป็น”วัฒนธรรมไทยที่ควรหาทางส่งออก” ให้คนชาติอื่นรู้จัก  เพื่อชื่อเสียงของไทยและนำรายได้เข้าสู่ประเทศไทย

ผู้เขียนในฐานะชาวบ้านธรรมดา ๆ อยากจะบอกว่า   จนป่านนี้ยังรู้สึกมึน ๆ งง ๆ มองไม่ค่อยเห็นหน้าตาของการสร้างชาติด้วยวัฒนธรรมแปลกใหม่และโดดเด่นแบบไทย ๆ อย่างที่กล่าวมานี้เลย  มองเห็นแต่ความคิดแปลก ๆ ของเหล่าดารานักแสดงและบรรดาเซเลปทั้งหลาย   ซึ่งถือโอกาสรวมสิ่งที่ตนคิดสร้างขึ้นให้เป็นส่วนหนึ่งของ “วัฒนธรรมไทย”  ขณะเดียวกันก็ยังมองไม่ออกว่ารัฐบาลไทยจะเน้นสิ่งเหล่านี้และอาศัยสิ่งเหล่านี้ไปแปลงเป็นสินค้าส่งออกที่มีผลยั่งยืนต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยได้อย่างไร

คราวนี้เรามาดูซอฟท์เพาเวอร์ในอีกแง่หนึ่งซึ่งเป็นแบบจีนกันบ้าง  อันที่จริงจีนใช้คำว่าซอฟท์เพาเวอร์น้อยมาก ๆ แต่ใช้คำว่า “วัฒนธรรม” แทน  จีนก็เช่นกันได้ยกระดับความสำคัญเรื่องวัฒนธรรมขึ้นมาอย่างเด่นชัดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา   ปกติจีนจะจัดประชุมสรุปงานการโฆษณางานด้านความคิดเป็นประจำ   แต่ในการประชุมเมื่อวันที่ 7-8 ตุลาคมที่ผ่านมานี้  ได้มีการเติมคำว่า “วัฒนธรรม” ให้กับหัวข้อการประชุม  เป็น “การประชุมสรุปงานด้านการโฆษณาความคิดทางวัฒนธรรม  ผลการประชุมครั้งนี้จึงเป็นสิ่งสะท้อนแนวคิดด้านวัฒนธรรมของสีจิ้นผิงโดยตรง

นับตั้งแต่สมัชชาพรรคฯครั้งที่ 18 (2012) เป็นต้นมา  สีจิ้นผิงได้พูดถึงการยกฐานะความคิดทางวัฒนธรรมของจีนให้สูงเด่นอยู่เสมอ  อีกทั้งได้ให้คำชี้แนะเกี่ยวกับแผนการทำงานในแต่ละด้านอย่างใกล้ชิด  สีฯเน้นอยู่เสมอว่า ประเพณีวัฒนธรรมของจีนซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่า 5,000 ปีมีความอุดมสมบูรณ์มาก  พร้อมที่จะให้นำไปใช้เป็นพื้นฐานรองรับและต่อยอดการสร้างสังคมนิยมแบบจีนที่เจริญก้าวหน้าต่อไปในอนาคต

แต่ก่อนอื่นพรรคฯ มีหน้าที่ต้อง “สร้างความเชื่อมั่น 4 ประการ” ให้กับประชาชน  ได้แก่.. เชื่อมั่นต่อหนทางสังคมนิยม  เชื่อมั่นต่อแนวทางทฤษฎีที่จีนยึดถือ  เชื่อมั่นต่อระบบการบริหารงานของพรรคฯและรัฐ  เชื่อมั่นต่อวัฒนธรรมอันดีงามของประชาชาติจีน” 

สีฯชี้ว่าในรอบร้อยปีมานี้โลกเดินมาถึงจุดที่การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างเป็นไปอย่างรวดเร็ว  ภารกิจของจีนคือต้อง  ชูธงให้สูงเด่นเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน  บ่มเพาะคนรุ่นใหม่  สร้างวัฒนธรรมใหม่ ๆ อารยธรรมใหม่ ๆ ให้กับสังคมจีน  การสร้างอารยธรรมใหม่ ๆ จะต้องยึดหลักการ “2 ประสาน” คือ ประสานลัทธิมาร์กซ์ให้เข้ากับสภาพที่เป็นจริงของจีน  ประสานบทเรียนที่ได้ใหม่ให้เข้ากับประเพณีวัฒนธรรมเก่า สีฯเน้นว่า “วัฒนธรรมดั้งเดิมของจีนเป็นรากฐานให้กับทฤษฎี  หากไม่มีอารยธรรม 5000 ปีก็จะไม่มีจีนยุคใหม่ที่มีลักษณะพิเศษของตัวเองอย่างที่เป็นอยู่”

การรวมศูนย์สร้างวัฒนธรรมใหม่  ก็คือการเริ่มต้นประวัติศาสตร์ใหม่ที่จะกลับมาผลักดันความรุ่งเรืองของวัฒนธรรมที่มีอยู่ก่อนให้ก้าวหน้าต่อไปเรื่อย ๆ ทำให้จีนเป็นประเทศที่เข้มแข็งทางวัฒนธรรม  เสริมอารยธรรมใหม่ ๆ ให้กับจีนยุคใหม่ต่อไปเรื่อย ๆ

นอกจากมุ่งมั่นต่อการสร้างอารยธรรมและวัฒนธรรมใหม่ๆ ให้กับประเทศแล้ว  สีฯยังให้ความสำคัญกับการนำผลที่ได้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อสากล  จีนจะต้องลงแรงเผยแพร่วัฒนธรรมที่ดีงามสู่สากล  กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนและศึกษาอารยธรรมใหม่ ๆ ของแต่ละประเทศอย่างจริงจังด้วย

       

  • เสียงข่าวประจำวัน (02-05-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (02-05-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (02-05-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (01-05-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (01-05-2567)