การประชุมครั้งแรกของคณะรัฐมนตรีจีนในปี 2024 ที่จัดขึ้นเมื่อต้นเดือนนี้ มุ่งเน้นไปที่การพัฒนา “เศรษฐกิจสูงวัย”หรือ Silver Economy เพื่อให้บรรดาผู้สูงอายุจีนมีความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น ที่ประชุมย้ำว่า การพัฒนา “เศรษฐกิจสูงวัย” เป็นมาตรการสําคัญในการรับมือสังคมผู้สูงอายุ และส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสูง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งปัจจุบันและอนาคต
ต่อจากนั้น คณะรัฐมนตรีจีนได้ออก “ความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนา ‘เศรษฐกิจสูงวัย’ และการปรับปรุงความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุให้ดียิ่งขึ้น” โดยตั้งเป้าว่าจะเร่งการพัฒนา “เศรษฐกิจสูงวัย” ให้มีขนาดใหญ่ ได้มาตรฐาน คลัสเตอร์(clustering) และสร้างแบรนด์ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้สูงอายุเพลิดเพลินกับวัยชราอย่างมีความสุข
เมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา สํานักงานสารนิเทศ คณะรัฐมนตรีจีนได้จัดแถลงข่าว เพื่ออธิบายอย่างละเอียดเกี่ยวกับ “ความคิดเห็นในการพัฒนา ‘เศรษฐกิจสูงวัย’ และการปรับปรุงความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุให้ดียิ่งขึ้น” ในการแถลงข่าวดังกล่าว นายหลิว หมิง อธิบดีกรมพัฒนาสังคม คณะกรรมการพัฒนาและการปฏิรูปแห่งชาติจีนระบุว่า “เศรษฐกิจสูงวัย” ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ “เศรษฐกิจผู้สูงวัยในช่วงวัยชรา” และ “เศรษฐกิจเตรียมความพร้อมสู่วัยชราซึ่งเป็นช่วงก่อนวัยชรา”
อธิบดีกรมพัฒนาสังคมยังระบุด้วยว่า “เศรษฐกิจสูงวัย” จัดเป็นอุตสาหกรรมที่มีความหลากหลาย มีศักยภาพมาก และมีอนาคตกว้างไกล ซึ่งเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุตสาหกรรมต่าง ๆ ครอบคลุมเกือบทุกสาขาเศรษฐกิจ และมีความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็นส่วนสําคัญของระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่
“ความคิดเห็นในการพัฒนา ‘เศรษฐกิจสูงวัย’ และการปรับปรุงความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุให้ดียิ่งขึ้น” ดังกล่าว เสนอให้ส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและอุปกรณ์อัจฉริยะรุ่นใหม่แบบบูรณาการ เช่น เทอร์มินัลเคลื่อนที่ อุปกรณ์สวมใส่ และหุ่นยนต์บริการในบ้าน ชุมชน สถาบันบำเหน็จบำนาญ โดยจะพัฒนาผลิตภัณฑ์อัจฉริยะด้านการบริหารสุขภาพ การดูแลผู้สูงอายุ และการปลอบใจเป็นสำคัญ
สถิติจากกระทรวงกิจการพลเรือนจีนระบุว่า ปัจจุบัน จีนมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปถึง 280 ล้านคน คิดเป็นเกือบ 20% ของประชากรทั้งหมด รายงานเกี่ยวกับการพัฒนา “เศรษฐกิจสูงวัย” ของจีนที่เผยแพร่โดยสถาบันผู้สูงอายุของมหาวิทยาลัยฟู่ตั้นนครเซี่ยงไฮ้คาดว่า ถึงปี 2023 ขนาด“เศรษฐกิจสูงวัย” ของจีนจะอยู่ที่ประมาณ 19 ล้านล้านหยวน คิดเป็น 28% ของการบริโภคทั้งหมดของประเทศ และคิดเป็น 9.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
ปัจจุบัน ผู้สูงอายุจีนส่วนใหญ่มีเงิน มีเวลาว่าง และมีสุขภาพแข็งแรงดี พวกเขานิยมเดินทางท่องเที่ยว ช้อปปิ้งออนไลน์ บำรุงสุขภาพ การเข้าสังคม การไปเรียนในมหาวิทยาลัยสําหรับผู้สูงอายุ...... ถือเป็นพลังสำคัญในการบริโภคของจีน ซึ่งได้สร้างโอกาสการพัฒนา “เศรษฐกิจสูงวัย” อีกทั้งขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องของจีนพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น การดูแลผู้สูงอายุแบบอัจฉริยะ การดูแลผู้สูงอายุแบบดิจิทัล แม่บ้านดิจิทัล หุ่นยนต์พยาบาล เป็นต้น
ทั้งนี้ สื่อมวลชนจีนจึงรณรงค์ให้รวมพลังของสังคมในการพัฒนา “เศรษฐกิจสูงวัย” โดยระบุว่า ทุกครอบครัวต่างมีผู้สูงอายุ ไม่ว่าใครล้วนจะมีวันที่แก่ตัวลง ความต้องการของผู้สูงอายุในปัจจุบันจะเป็นความต้องการในอนาคตของคนหนุ่มสาว การพัฒนา“เศรษฐกิจสูงวัย” ไม่เพียงแต่จะส่งเสริมให้บรรดาอาจารย์ ช่างฝีมือ และอาสาสมัครที่ปลดเกษียณแล้วมีส่วนร่วม หากยังต้องการให้คนทุกวัยในสังคมมีส่วนร่วมอีกด้วย
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ขณะนี้ “เศรษฐกิจสูงวัย” ในจีนยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย แตกต่างและเป็นส่วนตัวของผู้สูงอายุได้ ด้วยเหตุนี้ ควรเรียนรู้ประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ก้าวหน้าจากต่างประเทศ โดยนำเข้าทรัพยากรระหว่างประเทศที่มีคุณภาพสูง เสริมสร้างความร่วมมือกับสถาบันบริการการบําเหน็จบํานาญระหว่างประเทศเพื่อร่วมกันพัฒนาตลาด “เศรษฐกิจสูงวัย” ของจีน และให้ “เศรษฐกิจสูงวัย” กลายเป็นจุดเติบโตใหม่ของเศรษฐกิจจีน
(IN/ZHOU)