“มัดตราสังอุทกภัยที่ประดุจปีศาจร้าย”เพื่อคืนความสงบสุขชั่วนิรันดร์ให้กับบรรดาชาวบ้านถือเป็นบททดสอบที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนซึ่งมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
ไม่ควรทำ “สงครามเชิงรับ”และ“สงครามตามแบบแผน”เหมือนอดีตอีกต่อไป แต่ต้องใช้มุมมองระยะยาว การสร้าง “กำแพงแห่งชีวิต” ที่แข็งแกร่งทนทานไม่อาจทำลายได้ริมแม่น้ำและทะเลอันกว้างใหญ่นั้นถือเป็นภารกิจ“การสร้างคุณูปการในปัจจุบันและเป็นประโยชน์ต่ออนาคตอันยาวไกล” ทั้งยังเป็นความปรารถนาของชาวฝูเจี้ยนอีกด้วย
มณฑลฝูเจี้ยนมีประวัติศาสตร์อันยาวนานในด้านการสร้างสิ่งก่อสร้างเพื่อป้องกันน้ำท่วม เขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลหรือกำแพงกันคลื่นเริ่มถูกสร้างขึ้นอย่างกว้างขวางตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง ช่วงเวลาที่หวัง เซินจือบริหารฝูเจี้ยนในยุคอู่ไต้สือกั๋ว (ห้าราชวงศ์สิบแคว้น ค.ศ. 907-979) เขาได้สร้างเมืองและกำแพงกันคลื่น และทำโครงการชลประทานอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสมัยนั้นฝูเจี้ยนถูกมองว่าเป็น “ดินแดนของคนป่าเถื่อนทางตอนใต้” และไม่ใช่แหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ ในด้านการก่อสร้างเพื่อป้องกันน้ำท่วมบรรดาผู้ปกครองในยุคต่างๆจึงให้การสนับสนุนน้อยมาก ชาวบ้านและชนชั้นสูงในชนบทจึงได้สร้าง “กำแพงช่วยเหลือตนเอง” และ “กำแพงการผลิต” ด้วยความสมัครใจ แต่ก็ถูกทำลายและสร้างขึ้นใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อเกิดน้ำท่วม พื้นที่ชายฝั่งทะเลและริมแม่น้ำลำธารก็ยังคงไม่ได้มีการปกป้องแต่อย่างใด
หลังการสถาปนาประเทศจีนใหม่ สถานการณ์นี้ได้ปรับดีขึ้น คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนและมณฑลฝูเจี้ยนแต่ละชุดต่างให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการป้องกันและลดภัยพิบัติ และได้สร้างสิ่งก่อสร้างด้านชลประทานเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อก้าวสู่ช่วงทศวรรษ 1990 แห่งศตวรรษที่ 21 เขื่อนริมฝั่งแม่น้ำและทะเลในฝูเจี้ยนยังคงประสบปัญหาต่างๆ เช่น มาตรฐานต่ำ การกระจายตัว และความสามารถในการป้องกันน้ำท่วมและคลื่นทะเลที่ยังต่ำ
ในเวลานั้นทั้งมณฑลฝูเจี้ยนมีกำแพงกันคลื่นทะเล 298 แนวที่สามารถปกป้องพื้นที่การเกษตรมากกว่า 1,000 โหม่ว (2.4 โหม่วเท่า 1 ไร่) โดยมีความยาวรวม 1,134 กิโลเมตร แต่มีถึง 90% ที่ยังไม่ค่อยได้มาตรฐาน โดยมีส่วนที่ต้องดำเนินการสร้างเสริมให้มั่นคงแข็งแรงถึง 1,008 กิโลเมตร ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเลมีความกังวลใจว่า “ถ้าไม่สร้างเสริมกำแพงกันน้ำทะเลให้มั่นคง เมื่อใดก็ตามที่กำแพงพังทลายก็จะกลายเป็น ‘สึนามิ’ พวกเราคงได้แต่ร้องไห้!” นักธุรกิจต่างชาติที่ตั้งใจมาลงทุนดำเนินธุรกิจในพื้นที่ชายฝั่งทะเลทางตะวันออกเฉียงใต้ของฝูเจี้ยนมักจะถามก่อนว่า “กำแพงกันคลื่นทะเลแข็งแกร่งไหม?”
ส่วนแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำนั้น นับตั้งแต่จีนดำเนินการปฏิรูปและเปิดประเทศเป็นต้นมา พนังป้องกันน้ำท่วมได้ถูกสร้างขึ้นใหม่หลายครั้งในบริเวณตอนล่างของแม่น้ำหมิ่นเจียง แม่น้ำจิ่วหลงเจียง แม่น้ำจิ้นเจียง และเมืองสำคัญสามเมืองอันได้แก่ ฝูโจว จางโจว และฉวนโจว อย่างไรก็ตาม ความสามารถโดยรวมในการควบคุมน้ำท่วมของเขตเมืองระดับอำเภอยังคงเปราะบางมาก โดยประมาณ 70% ของเขตเมืองระดับอำเภอมีมาตรฐานการป้องกันน้ำท่วมที่ต่ำ ซึ่งเป็นระดับพอที่จะป้องกันน้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นในรอบ 2 ถึง 10 ปีเท่านั้น ทุกครั้งที่เกิดน้ำท่วมจึงมีอันตรายอยู่ทุกที่ มักเกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่งและแนวป้องกันน้ำพังทลาย นอกจากนี้ยังมีประมาณ 30% ของพื้นที่เขตเมืองระดับอำเภอไม่ได้ใช้มาตรการป้องกันน้ำท่วมอะไรเลย จึงได้แต่ปล่อยให้น้ำท่วมสร้างความเสียหายตามธรรมชาติ
คำบรรยายภาพ : กำแพงกันคลื่นที่สวยงามหลังการสร้างเสริมความแข็งแรงจนได้มาตรฐาน
การสร้าง “แนวป้องกันชีวิต” ริมแม่น้ำและชายฝั่งทะเลจึงถือเป็นเรื่องเร่งด่วนเป็นอย่างยิ่ง
ปี 1991คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนและมณฑลฝูเจี้ยนได้รวมการสร้างเสริมกำแพงกันคลื่นเข้าไว้ในบัญชีรายชื่อ “โครงการรับใช้ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม” เมื่อวันที่ 29 ธันวาคมปีเดียวกัน การประชุมเต็มคณะของคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลฝูเจี้ยนชุดที่ 5 ครั้งที่ 4 ได้เสนอว่า “จะใช้เวลา 3 ปีในการสร้างเสริมกำแพงกันคลื่นยาว 935กิโลเมตรให้ได้มาตรฐาน เพื่อยกระดับความสามารถในการป้องกันน้ำท่วมและคลื่น”
เริ่มตั้งแต่ปี 1992 หลังได้ใช้ความพยายามมากว่า 3 ปี ทั้งมณฑลได้เสริมกำแพงกันคลื่นยาวกว่า 400 กิโลเมตร ซึ่งสร้างสถิติใหม่ในประวัติศาสตร์ แต่กำแพงกันคลื่นที่ยังไม่ได้สร้างมีระยะทางยาวกว่า หากดำเนินการต่อไปตามอัตราความเร็วเท่าเดิมจะต้องใช้เวลาจนถึงปลายศตวรรษที่ 20 จึงจะสร้างเสริมกำแพงกันคลื่นความยาวประมาณ 1,000 กิโลเมตรได้เสร็จ
ประชาชนไม่สามารถรอได้
ในช่วงดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเมืองฝูโจว นายสี จิ้นผิงนำฝูโจวสร้างผลงานโดดเด่นที่สุดในมณฑลในด้านการสร้างเสริมกำแพงกันคลื่นให้ได้มาตรฐานการป้องกัน ระยะทาง 1,000 กิโลเมตร กำแพงกันคลื่นในเมืองฝูโจวมีความยาวรวม 320.44 กิโลเมตร โดยฝูโจวได้รับมอบภารกิจสร้างเสริมกำแพงกันคลื่นความยาว 252.7 กิโลเมตรให้ได้มาตรฐานให้เสร็จภายใน 3 ปี แต่คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนและเมืองฝูโจวได้ให้คำมั่นอย่างหนักแน่นว่า “ทำภารกิจ 3 ปีให้เสร็จภายใน 2 ปี”
วันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ.1995 คณะกรรมการพรรคฯและทางการมณฑลฝูเจี้ยนได้จัด “การประชุมการสร้างสรรค์ระบบป้องกันหลัก 5 ระบบ(ระบบป้องกันหลัก 5 ระบบหมายถึงระบบป้องกันทางวิศวกรรม ระบบเตือนภัยน้ำท่วม ระบบวิศวกรรมกักเก็บน้ำ ระบบเตือนสภาพอากาศเลวร้ายระดับปานกลาง และระบบป้องกันทางชีวภาพ )ทั้งมณฑล”ที่เมืองฝูชิง โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างเสริมกำแพงกันคลื่นให้ได้มาตรฐาน ที่ประชุมครั้งนี้ได้ให้ความเห็นชอบประสบการณ์และแนวปฏิบัติของฝูโจว ทั้งได้ออกคำขวัญ“ต้องเร่งสร้างเสริมกำแพงกันคลื่นเช่นเดียวกับโครงการทางหลวงซึ่งต้องมาก่อน”
หลังการประชุมครั้งนี้ ทั่วมณฑลฝูเจี้ยนได้เกิดกระแสการเรียนรู้จากฝูโจวเพื่อตามให้ทันกระทั่งแซงหน้าฝูโจว ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงสถานการณ์การสร้างเสริมกำแพงกันคลื่นที่ดำเนินไปค่อนข้างช้าของทั้งมณฑลอย่างมีนัยสำคัญ ทหารและพลเรือนนับร้อยล้านคนใน 6 เมืองและเขต ตลอดจน 30 อำเภอตามแนวชายฝั่งทะเลสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่อันแสนหนักหน่วงให้สำเร็จ
ปฏิรูปกลไกการลงทุน กำหนดกลไกการเพิ่มแรงจูงใจอย่างสร้างสรรค์ ทีมงานก่อสร้างเลื่อนเวลารับค่าจ้างกระทั่งจ่ายเงินสำรองเพื่อการสร้างกำแพงกันคลื่น เจ้าหน้าที่และมวลชนต่างพร้อมใจกันทุ่มเททั้งเวลาและแรงกายเพื่อสนับสนุนการก่อสร้างอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย.........ถึงปลายปี 1996 ฝูเจี้ยนเสร็จสิ้นการสร้างเสริมกำแพงกันคลื่นให้ได้มาตรฐานความยาว 1,070 กิโลเมตรตามกำหนดซึ่งถือว่าสามารถทำได้เกินภารกิจที่กำหนดไว้ที่ 1,000 กิโลเมตร
กำแพงกันคลื่นยาวนับพันกิโลเมตรได้รับการขยายให้กว้างและสูงขึ้น กำแพงฝั่งด้านนอกสร้างด้วยหิน ด้านนอกกำแพงเป็นทะเลอันเวิ้งว้างที่มีคลื่นยักษ์เป็นระยะๆ กำแพงฝั่งด้านในหญ้าเล็กๆปลิวไสวตามลมทะเลที่พัดผ่าน วันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ.1996 พายุไต้ฝุ่นหมายเลข 8 เคลื่อนตัวผ่านฝูเจี้ยน ประจวบเหมาะเป็นช่วงเวลาที่ระดับน้ำทะเลขึ้นสูงมาก ทำให้ระดับน้ำทะเลตามสถานที่ต่างๆ แนวชายฝั่งฝูเจี้ยนโดยทั่วไปต่างสูงเกินกว่าสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งเกินความสูงเดิมของกำแพงกันคลื่นก่อนการสร้างเสริมให้ได้มาตรฐาน โชคดีที่กำแพงกันคลื่นส่วนใหญ่ในมณฑลได้รับการซ่อมแซมและสร้างเสริมให้ได้มาตรฐานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงไม่มีใครเสียชีวิตแม้แต่คนเดียวขณะพายุไต้ฝุ่นหมายเลข 8 เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งที่อำเภอฝูชิง
IN/LU