“เศรษฐกิจผมสีเงิน” เศรษฐกิจใหม่ที่น่าจับตามอง”

2024-02-07 09:47:01 | CMG
Share with:

ทุกวันนี้ความเจริญทางการแพทย์ทำให้คนอายุยืนขึ้น  คนแก่มีมากแต่เด็กเกิดใหม่กลับน้อยลง   เพราะเยาวชนรุ่นใหม่ส่วนมากเสพติดกับชีวิตที่เป็นอิสระ ไม่อยากสร้างภาระกวนใจโดยไม่จำเป็น  ช่องว่างระหว่างคนแก่ที่ไม่มีรายได้ กับคนหนุ่มสาวในวัยทำงานจึงเกิดช่องห่างที่นับวันถ่างกว้างขึ้น  เรื่องนี้กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของแต่ละประเทศ โดยมีญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีปัญหาหนักหน่วงที่สุด ไทยเองก็ถูกจัดเป็นสังคมผู้สูงวัยตั้งแต่ปีที่แล้ว ด้วยสถิติคนอายุ 60 ปีขึ้นไปมีมากกว่า 13 ล้านคน หรือราว 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรไทยทั้งหมด

สังคมผู้สูงวัยเป็นปัญหาใหม่ของโลกที่ประเทศต่าง ๆ พยายามหาทางแก้แต่แก้ไม่ง่ายอย่างที่คิด  ประเทศจีนเมื่อครั้งตั้งประเทศใหม่ ๆ เศรษฐกิจย่ำแย่ไม่พอเลี้ยงปากท้อง  รัฐแก้ปัญหาด้วยการออกกฎหมายบังคับให้ทุกครอบครัวมีลูกได้คนเดียว  ข้อห้ามนี้ รัฐมีทางออกได้ไม่ยากด้วยการตั้งคลีนิคขึ้นมากมายเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย  หญิงทุกคนที่ตั้งท้องลูกคนที่ 2 ต้องไปขอทำแท้งฟรีจึงจะถูกกฎหมาย กาลเวลาผ่านไปไม่นานนัก  การเสียสมดุลที่เกิดจากเด็กเกิดใหม่มีน้อยเกินไปก็ส่อเค้าให้เห็น  ครั้งนี้จีนแก้ปัญหาด้วยวิธีที่ตรงข้ามกับครั้งแรก  คือทั้งกระตุ้นทั้งวิงวอนขอให้ทุกครอบครัวช่วยกันมีลูก 2 คนก็เถอะ  แต่ก็ไม่บรรลุเป้าหมาย  ต้องวิงวอนกันใหม่ คราวนี้ขอเพิ่มเป็น 3 คนไปเสียเลย  แต่ก็ช้าไปเสียแล้ว  เยาวชนรุ่นนี้กับคนรุ่นพ่อแม่แม้อายุจะห่างกันแค่ 20-30 ปี  แต่ชีวิตความเป็นอยู่และทัศนะต่อชีวิตกลับต่างกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ และจากนั้นจวบจนบัดนี้จีนก็เลิกวิงวอน  หาทางแก้ปัญหาสังคมผู้สูงวัยตั้งแต่นั้น

จีนเข้าสู่ปัญหาผู้สูงวัยเต็มตัวในปี 2000   ครั้งนั้นมีผู้สูงวัยอายุเกิน  65 ปี 90 กว่าล้านคนคิดเป็น 7% ของจำนวนประชากร  และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเมื่อปลายปีที่แล้วสำนักงานสถิติแห่งชาติเผยว่า  ทั่วประเทศมีคนที่อายุเกิน 60 ปีจำนวน 296.97 ล้านคน  คิดเป็น 21% ของประชากรทั้งประเทศ อายุเกิน 65 ปีมี 216.76 ล้านคนคิดเป็น 15.4%

เมื่อแก้ปัญหาไม่ได้มีแต่หนักหน่วงขึ้น วิธีการขั้นต่อไปของจีนคือหามาตรการรับมือกับปัญหาที่เป็นจริงและมีประสิทธิภาพ   ต้นปี 2023 ที่ผ่านมา ทางการได้ประกาศ “ยุทธศาสตร์การรับมือสังคมผู้สูงวัย” สาระสำคัญของยุทธศาสตร์นี้  คือการหาทางทำให้รัฐ วิสาหกิจ สังคม ครอบครัว และตัวบุคคลผู้สูงวัยเอง  ต่างกระทำหน้าที่ขอตนให้ดีเพื่อประโยชน์สุขของสังคม  ในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่ของภาครัฐ  การดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุเป็นเรื่องสำคัญที่สุด  รัฐได้อำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงวัยด้วยระบบดูแลจนถึงครอบครัว  ยกระดับสถานสงเคราะห์ในแต่ละชุมชนให้มีประสิทธิภาพ   ในเขตเมืองผู้เฒ่าจะสามารถเข้าถึงหน่วยบริการใกล้บ้านในระยะห่างไม่เกิน 15 นาที   ในกรณีที่จำเป็นอาจได้รับบริการอาหาร และการบำบัดฟื้นฟูที่บ้านด้วย

นอกจาก “ยุทธศาสตร์รับมือสังคมผู้สูงวัย” แล้ว  เร็ว ๆ นี้รัฐยังออกเอกสารเรื่อง “การสร้างความสุขให้กับผู้สูงวัย ด้วยการ“พัฒนาเศรษฐกิจผมสีเงิน”  (อิ๋งฝ่าจิงจี้) ซึ่งได้รับการขานรับจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี  โดยเฉพาะภาคเอกชนซึ่งมองเห็นจำนวนลูกค้าที่มีอยู่ได้เป็นอย่างดี   ที่สำคัญวิสาหกิจเอกชนล้วนมีสายตาแหลมคมพอที่จะมองเห็นความแตกต่างระหว่างคนผมสีเงินยุคเก่ากับคนยุคใหม่ได้ชัดเจน   คนผมสีเงินยุคเก่าส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านธรรมดา  พวกเขาให้ค่ากับเงินทุกบาททุกสตางค์ที่เก็บหอมรอมริบมาตลอดชีวิตไว้อย่างแน่นหนา แม้จะต้องใช้เพื่อแลกกับสุขภาพที่ดีก็ยังฝืนใจเต็มทน

ทุกวันนี้โครงสร้างการบริโภคได้เปลี่ยนไปแล้ว  คนแก่ยุคใหม่เกือบทั้งหมดเป็นคนในยุคดิจิทัล  พวกเขาเรียนรู้จากประสบการณ์ว่า  เงินทองที่หามาได้มีไว้เพื่อสุขภาพ และการหาความสุขตามอัตภาพให้กับตนเองเป็นสำคัญ หากจำเป็นต้องใช้เพื่อสุขภาพก็พร้อมที่จะจับจ่ายซื้อหาอาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์บำรุงร่างกาย เครื่องสำอางค์บำรุงผิว เวชภัณฑ์และบริการทันสมัยต่าง ๆ นอกจากสุขภาพแล้วยังรู้ว่าต้องกันเงินส่วนหนึ่งไว้สำหรับรสนิยมดิจิทัลสมัยใหม่ที่ตนเคยเสพและพอใจ เช่น  การสั่งซื้ออาหารและสินค้าทุกอย่างแบบออนไลน์  ไปไหนก็เรียกแท๊กซี่ด้วยมือถือ ชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ด้วยการสแกนคิวอาร์โค๊ต จะไปเที่ยวก็จองตั๋วเดินทางออนไลน์  บางคนก็ใช้เวลาว่างฝึกร้องเพลง  เต้นรำ  วาดรูป ฯลฯ  สร้างวงสังคมเล็ก ๆ ที่รู้ใจกัน  นัดกันไปเล่นดนตรี  ร้องเพลง  เต้นรำ  (เล่นไพ่)  ตกเย็นออกจากบ้านไปพบเพื่อนบ้านเต้น street dance (เจียอู่) มีความสุขด้วยกันจนหมดเวลาไปหนึ่งวัน

“เศรษฐกิจผมสีเงิน” ของจีนเพิ่งจะเริ่มต้น  แต่แหล่งข่าวจากสถาบันวิจัยผู้สูงวัยของมหาวิทยาฝู่ตันก็ชี้ให้เห็นว่า  มีอัตราส่วนการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 1.6 % ได้แก่ของกินของใช้ การติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าอำนวยความสะดวก  ตลอดจนสินค้าไฮเทคอื่น ๆ  อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายต่างเชื่อว่าพลังแฝงจากลูกค้ากลุ่มนี้ยังมีอีกมาก  การจดทะเบียนของบริษัทที่มุ่งต่อกลุ่มลูกค้าสูงวัยในปีนี้มีถึง 7.5 หมื่นราย สูงกว่าปีที่ผ่านมา 28.6%  เฉพาะมณฑลซานตงมีผู้จดทะเบียนถึง 7,400 ราย  สินค้าและบริการที่จดทะเบียนมากที่สุดจะเป็นสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ รองเท้า เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย โทรศัพท์มือถือ และของใช้จำเป็นภายในบ้าน ฯลฯ

เข้าทำนอง รู้จักกลับร้ายให้เป็นดี !!


โดย รศ.วิภา อุตมฉันท์

  • เกาะกระแสจีน (07-09-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (07-09-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (06-09-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (06-09-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (06-09-2567)