โดย ดร.ภูมิพัฒณ์ พงศ์พฤฒิกุล หัวหน้าหลักสูตรธุรกิจนวัตกรรม วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ท่ามกลางกระแสผันผวนทางเศรษฐกิจทั่วโลก ในขณะที่ประเทศต่างๆ ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว จีนได้มีการเสนอต่อสภานิติบัญญัติระดับชาติ โดยมีการตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ ปี 2024 อยู่ที่ 5% นอกจากนั้น ยังได้มีการวางแผนขยายตำแหน่งงานในเมืองมากกว่า 12 ล้านอัตรา เพื่อรองรับกับปัญหาผู้ว่างงาน และผู้ที่สำเร็จการศึกษาใหม่ จีนได้ทำนโยบายเชิงรุกมาก่อนหน้านี้หลายปีแล้ว และยังมุ่งใช้นโยบายเชิงรุกเช่นเดิมร่วมกับนโยบายการเงินที่รอบคอบร่วมด้วย เพื่อส่งเสริมมาตรการการผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศจีนได้รับผลกระทบลบอย่างมากจากปัจจัยต่างๆ ส่งผลให้เศรษฐกิจมีการเติบโตชะลอตัว ปัญหาสำคัญที่ประเทศต้องเผชิญ ได้แก่ วิกฤตหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ และการขาดแคลนพลังงาน การควบคุมหนี้และการเติบโตในภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาฟองสบู่ และความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ทำให้เกิดข้อจำกัดในการผลิตพลังงาน ประเด็นเหล่านี้รวมทั้งปัญหาในภาคการผลิตที่ถูกผลกระทบจากการขาดแคลนอุปทานและนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ได้ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจจีนชะลอตัว แม้จะมีการเติบโตของจีดีพีในแต่ละไตรมาส แต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า การเติบโตยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนนั้นเป็นผลสืบเนื่องจากหลายปัจจัย ทำให้ตลาดและภาคการผลิตประสบกับความไม่แน่นอนและอุปสรรคต่างๆ การขาดแคลนพลังงานและปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ไม่เพียงแต่กระทบต่อภาคการผลิตแต่ยังส่งผลไปถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน ซึ่งสะท้อนถึงความท้าทายที่รัฐบาลจีนต้องเผชิญในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ พวกเขาจำเป็นต้องหาสมดุลระหว่างการควบคุมปัญหาในระยะสั้นกับการวางแผนพัฒนาในระยะยาว เพื่อไม่ให้ผลกระทบเหล่านี้ส่งต่อไปยังภาคส่วนอื่นๆ ของเศรษฐกิจ และความเสถียรโดยรวมของประเทศ
นโยบายการเงินที่ได้กล่าวมา เป็นเส้นทางสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนของชาวต่างชาติในประเทศจีนอย่างมีนัยสำคัญ โดยเน้นที่การรับรองหลักปฏิบัติเพื่อให้เท่าเทียมกับนักลงทุนในประเทศ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายในการเติบโตอย่างน้อย 5% ตามที่ได้กำหนดไว้ อีกทั้ง ยังมีการเพิ่มความดึงดูดในการลงทุนจากต่างประเทศโดยยกเลิกข้อจำกัดในการเข้าถึงตลาดในภาคการผลิตและลดข้อจำกัดในภาคธุรกิจบริการ ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ธุรกิจบริการสามารถดำเนินกิจการได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในประเทศจีน เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายที่ได้วางไว้ จีนได้ดำเนินมาตรการอย่างครอบคลุมเพื่อกลายเป็นปลายทางยอดนิยมสำหรับการลงทุนของนักธุรกิจต่างชาติ และเป็นสถานที่อุดมคติสำหรับผู้ที่มองหาความรู้และการพัฒนาที่เป็นรูปธรรมในความร่วมมือของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) โดยจากเป้าหมายนี้ จีนจึงได้เสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ทวิภาคี และพหุภาคี พร้อมทั้งแสวงหาความร่วมมือกับประเทศพันธมิตรอย่างใกล้ชิด ในส่วนของภายในประเทศจีน รัฐบาลจะออกตราสารหนี้เฉพาะกิจสำหรับรัฐบาลท้องถิ่น ด้วยมูลค่ามหาศาล 3.9 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 19.5 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 1 แสนล้านหยวน (ประมาณ 5 แสนล้านบาท) จากปีก่อน พร้อมกับแผนออกพันธบัตรรัฐบาลเฉพาะกิจระยะยาวในอนาคต เพื่อใช้รายได้สนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติสำคัญและเสริมความมั่นคงหลายด้าน