ยุทธศาสตร์การพัฒนาข้ามเกาะ- เส้นทางสี จิ้นผิง (80)

2024-03-22 08:43:54 | CMG
Share with:

เวลานั้น ยังไม่มีใครมีประสบการณ์เรื่องการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาควรทำอย่างไร ดังนั้น นายสี จิ้นผิง จึงพาทีมงานเดินทางไปยังกรุงปักกิ่งเพื่อ “เรียนรู้จากประสบการณ์”

นายอี๋ว์ กวางหย่วน นักเศรษฐศาสตร์ เป็นผู้เชี่ยวชาญคนแรกที่นายสี จิ้นผิงพร้อมทีมงานไปเยี่ยมเยียนถึงบ้านภายหลังเดินทางถึงกรุงปักกิ่ง เมื่อเห็นนายสี จิ้นผิง นายอี๋ว์ กวางหย่วนก็พูดว่า “จิ้นผิง คุณมาอีกแล้ว!” เห็นได้ชัดว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นายสี จิ้นผิงพบกับนายอี๋ว์ กวางหย่วน เมื่อครั้งนายสี จิ้นผิงทำงานที่อำเภอเจิ้งติ้ง มณฑลเหอเป่ยนั้น ได้เคยเชิญนายอี๋ว์ กวางหย่วนเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำคณะที่ปรึกษาของอำเภอเจิ้งติ้ง

ต่อจากนั้น นายสี จิ้นผิงและคณะยังได้ไปเยี่ยมเยียนนักเศรษฐศาสตร์อีกหลายคน เช่นนายหลิว กว๋อกวางและนายต่ง ฝู่เหริงจากสภาวิทยาศาสตร์สังคมแห่งประเทศจีน รวมถึงผู้นำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนหนึ่ง

การเดินทางไปปักกิ่งครั้งนี้ทำให้ทุกคนมีความมั่นใจมากขึ้น ต่อมา นายสี จิ้นผิง ได้จัดผู้เชี่ยวชาญจากสภาวิทยาศาสตร์สังคมแห่งประเทศจีนและสภาวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีน ตลอดจนบุคลากรด้านการสอนและการวิจัยจากสถาบันที่เกี่ยวข้องของมหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน ทั้งยังได้คัดเลือกเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเมืองเซี่ยเหมิน รวมทั้งหมดประมาณ 100 คนเพื่อเริ่มทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนา ได้ดำเนินการวิจัยเป็นพิเศษใน 21 หัวข้อโดยมุ่งเน้นไปที่ 3 ประเด็นพื้นฐานอันได้แก่ ปัญหาไต้หวัน การดำเนินนโยบายบางประการของท่าเรือเสรี และการก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษประเภทท่าเรือเสรี โดยได้รวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลจากการสำรวจหลายแสนคำ ในท้ายที่สุดได้จัดทำและเผยแพร่ “ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเซี่ยเหมิน ค.ศ. 1985-2000” โดยใช้เวลารวมหนึ่งปีครึ่ง ทั้งนี้ถือเป็นแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับแรกที่จัดทำโดยทางการท้องถิ่นของจีนซึ่งครอบคลุมระยะเวลานานถึง 15 ปี

คำบรรยายภาพ : ถนนในเมืองเซี่ยเหมินเมื่อ ค.ศ. 1986 ซึ่งสะอาดสะอ้านและมียานพาหนะน้อยมาก

รูปแบบการพัฒนา การกำหนดสถานะของเมือง การพัฒนาอุตสาหกรรม โมเดลท่าเรือเสรี จุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ ทิศทางการปฏิรูปองค์กร ระบบการก่อตั้งรัฐวิสาหกิจ ระบบการเงินเขตพิเศษ สภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยา ........... ประเด็นต่างๆที่เป็นปัญหาก่อนหน้านี้ทั้งหมดล้วนมีคำตอบที่ชัดเจนในแผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้  เป็นอันว่า เซี่ยเหมินบนเส้นสตาร์ทได้ผูกเชือกรองเท้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นายอี๋ว์ กวางหย่วนกล่าวว่า “เซี่ยเหมินเป็นเมืองแรกที่คำนึงถึงประเด็นระบบนิเวศวิทยา เซี่ยเหมินเป็นผู้ริเริ่มเสนอให้ใช้เมืองเซี่ยเหมินเป็นเขตทดลองดำเนินการ ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’และดำเนินนโยบายที่มีต่อไต้หวัน นอกจากนี้เซี่ยเหมินยังเป็นเมืองแรกที่ค่อย ๆ ดำเนินธุรกิจการเงินนอกชายฝั่งและบรรลุการไหลเวียนของเงินทุนที่ค่อนข้างเสรี”

ขณะนายสี จิ้นผิงย้ายออกจากเมืองเซี่ยเหมินนั้น เมืองเซี่ยเหมินยังไม่ได้หารือเกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาฉบับนี้ ก่อนเดินทางไปรับตำแหน่งใหม่นายสี จิ้นผิงได้เข้าหานายหวัง จินส่วย ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการประจำสภาผู้แทนประชาชนเมืองเซี่ยเหมินในขณะนั้นเพื่อเสนอข้อเสนอว่า  “หากยุทธศาสตร์นี้ได้รับการอนุมัติจากเมืองเซี่ยเหมิน ผมขอเสนอให้สภาผู้แทนประชาชนเมืองหารือและศึกษา ” ในมุมมองของนายหวัง จินส่วย แม้นายสี จิ้นผิงจะย้ายไปทำงานในที่อื่นแล้วแต่ก็ยังคงไม่ลืมการพัฒนาของเซี่ยเหมินโดยตลอด

มุมมองของนายหวัง จินส่วยได้รับการยืนยันหลังก้าวเข้าสู่สหัสวรรษใหม่

ด้วยเส้นทางการพัฒนาที่ปูทางโดย “ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเซี่ยเหมิน ค.ศ. 1985-2000” เมืองชายฝั่งทะเลเล็กๆริมแนวป้องกันประเทศซึ่งครั้งหนึ่งเคยโดดเดี่ยวได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม หลังจาก ค.ศ. 2000 เซี่ยเหมินเผชิญกับความยากลำบากใหม่ๆในการพัฒนา แม้ว่าเมืองเกาะแห่งนี้จะมีข้อได้เปรียบที่หันหน้าไปทางทะเลมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่ถ้ามีเพียงทะเลและไม่มีการเชื่อมต่อข้ามอ่าวไปยังแผ่นดินใหญ่ที่มีแดนชั้นในอันกว้างใหญ่ เซี่ยเหมินก็ยังคงเป็นได้เพียงเมืองที่โดดเดี่ยวและเกาะเล็กๆแห่งหนึ่งเท่านั้น

ค.ศ. 2002 นายสี จิ้นผิง รองเลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนและผู้ว่าการมณฑลฝูเจี้ยนในขณะนั้น ได้โฟกัสไปยังเมืองเซี่ยเหมินอีกครั้ง เดือนมิถุนายนของปีนั้น นายสี จิ้นผิงได้ไปที่เซี่ยเหมินเพื่อสำรวจข้อมูลประกอบการวิจัย เขาชี้ให้เห็นถึงปัญหาคอขวดของการพัฒนาเซี่ยเหมินอย่างตรงจุดว่า เกาะหลักของเซี่ยเหมินนั้นโดยพื้นฐานแล้วมีความอิ่มตัว แต่ภายนอกเกาะนั้นการพัฒนายังล้าหลังอย่างเห็นได้ชัดและพื้นที่ทางเศรษฐกิจมีขนาดเล็กห่างไกลจากตัวเมือง การขยายพื้นที่การพัฒนาของเมืองที่เป็นศูนย์กลางและการขยายพื้นที่ห่างไกลจากการพัฒนาเศรษฐกิจได้กลายเป็นประเด็นเร่งด่วนมากในการสร้างสรรค์และพัฒนาเมืองของเซี่ยเหมิน

จะเปิดโลกใหม่สำหรับการพัฒนาของเซี่ยเหมินได้อย่างไร? นายสี จิ้นผิง ได้ออกคำสั่งระดมพลเพื่อ “การยกระดับเกาะหลักและการพัฒนาข้ามเกาะ” ด้วยกลยุทธ์โดยรวมเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ เขาสนับสนุนให้เซี่ยเหมินเร่งการเปลี่ยนแปลงจากเมืองบนเกาะไปเป็นเมืองนิเวศวิทยาประเภทอ่าวและชี้ให้เห็นการคิดเชิงกลยุทธ์เกี่ยวกับการพัฒนาข้ามเกาะ “การหลอมรวมสี่ประการ” อันได้แก่  การยกระดับเกาะหลักรวมกับการขยายตัวของอ่าว ผสมผสานการเปลี่ยนแปลงเมืองกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ผสมผสานการพัฒนาอุตสาหกรรมชนบทกับการขยายตัวของเมือง ผสานการสร้างเอกลักษณ์ของเมืองให้โดดเด่นกับการปกป้องระบบนิเวศของอ่าว

 จากพื้นที่ 131 ตารางกิโลเมตรเพิ่มเป็น 1,573 ตารางกิโลเมตร การพัฒนาข้ามเกาะทำให้เซี่ยเหมินขยายโครงสร้างและกรอบเขตเมือง และไล่ตาม “ขบวนรถไฟแห่งยุคสมัย”ได้อีกครั้ง

นายหง หย่งซื่อ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเมืองเซี่ยเหมินกล่าวว่า “ยุทธศาสตร์การพัฒนาข้ามเกาะไม่เพียงแต่มีความหมายชี้นำการขยายพื้นที่การพัฒนาข้ามเกาะเท่านั้น แต่ยังนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในด้านความคิดของบรรดาเจ้าหน้าที่และมวลชนด้วย สหายสี จิ้นผิงกล่าวอย่างจริงจังในเวลานั้นว่า เซี่ยเหมินต้องขจัดจิตสำนึกของชาวเกาะให้มากขึ้น หลีกเลี่ยงการหลงมัวเมาในความสะดวกสบาย ต้องทำให้เจ้าหน้าที่เกิดจิตสำนึกที่จะเร่งปฏิบัติภารกิจอันยิ่งใหญ่โดยเร็ว”


IN/LU

  • เสียงข่าวประจำวัน (22-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (22-11-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (22-11-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (21-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (21-11-2567)