ระดมประชาชนทุกคนให้มีส่วนร่วมและขอคำแนะนำจากประชาชน ต่างจากวิสัยทัศน์เมืองเซี่ยเหมิน ปี 2000 เป้าหมายของเมืองฝูโจวในครั้งนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น การสำรวจข้อมูลด้วยแบบสอบถาม “จะตามทัน‘สี่เสือแห่งเอเชีย’ได้อย่างไร”เสมือนเป็นการโยนก้อนหินลงน้ำที่ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมขนาดใหญ่
ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1960 ถึงทศวรรษ 1990 แห่งศตวรรษที่ 20 เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์อาศัยความสำเร็จในการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเศรษฐกิจ ได้สร้างปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจโด่งดังไปทั่วโลก และกลายเป็น'ต้นแบบ'เศรษฐกิจเอเชียตะวันออก ยังผลให้‘สี่เสือแห่งเอเชีย’ดังกล่าวมีความโดดเด่นที่สุดในสายตาชาวโลกอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง
การสำรวจข้อมูลด้วยแบบสอบถามครั้งนี้ชาวเมืองฝูโจวมากกว่า 30,000 คนให้เข้าร่วม และได้ตอบแบบสอบถามกลับมาเกือบ 30,000 ชุดในเวลาเพียงครึ่งเดือน คู่สามีภรรยาที่เกษียณอายุแล้วนั่งรถไปมาเป็นเวลาหลายวันติดต่อกันเพื่อสำรวจข้อมูลภายในเมืองและได้ยื่นข้อเสนอแนะมากกว่า 10 ข้อเกี่ยวกับการคมนาคมขนส่งในเมือง การกระจายเครือข่ายการค้า และประเด็นอื่น ๆ ยังมีชาวเมืองขี่จักรยานไปที่ต่างๆในเมืองเป็นเวลาสามวันและได้เสนอข้อเสนอแนะ 16 ข้อเพื่อสร้างเครือข่ายถนน ....ความกระตือรือร้นที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการสำรวจข้อมูลด้วยแบบสอบถามครั้งนี้คือเสียงของชาวฝูโจวที่กำลังรอคอยการเปลี่ยนแปลงอย่างใจจดใจจ่อ
กล่าวสำหรับฝูโจวมันเป็นยุคแห่งการระดมกำลังอย่างกว้างขวาง จากข้อมูลเบื้องต้น เจ้าหน้าที่ 1,627 คนดำเนินการสำรวจข้อมูลประกอบการวิจัยโดยโฟกัสหัวข้อต่างๆมากถึง 581 หัวข้อ และได้เรียบเรียงรายงานการวิจัยมากถึง 367 ฉบับ ได้ส่งทีมงานเดินทางไปที่กวางตุ้ง ไหหลำ เซี่ยงไฮ้ ซานตง เจียงซู ปักกิ่ง และสถานที่อื่นๆ เพื่อสำรวจข้อมูลประกอบการวิจัยด้วย ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการในสาขาต่างๆ ผู้นำหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อเทศบาลเมืองฝูโจว หัวหน้าหน่วยงานระดับอำเภอ(เมือง เขต) ผู้บริหารวิสาหกิจขนาดใหญ่และขนาดกลางของเมืองฝูโจว ตลอดจนสหายระดับรากหญ้าก็ได้รับเชิญให้มีส่วนร่วมด้วย ได้จัดการประชุมระดมความคิดเห็นในรูปแบบต่างๆ หลายสิบครั้ง .........
“หมื่นคนตอบแบบสอบถาม พันคนสำรวจข้อมูลประกอบการวิจัย ร้อยคนตรวจสอบรับรอง” ครึ่งปีต่อมา คือ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1992 “วิสัยทัศน์-กลยุทธ์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 20 ปีของเมืองฝูโจว” ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมถึง 10 ครั้ง ได้ผ่านการตรวจสอบและอนุมัติในที่ประชุมเต็มคณะ (จัดให้มีผู้ร่วมประชุมมากกว่าปกติ) ของคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเมืองฝูโจวชุดที่ 6 ครั้งที่ 6
คำบรรยายภาพ : เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1993 นายสี จิ้นผิง (คนซ้ายสุด) ซึ่งขณะนั้นเป็นเลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเมืองฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยน กำลังต้อนรับมวลชนเนื่องในโอกาส “วันร่วมกันต้อนรับมวลชนของผู้นำเมืองฝูโจวและเขตไถเจียง ”(ภาพจากสำนักข่าวซินหัว)
อย่างไรก็ตามหลังจากเสนอแผนพัฒนาชุดนี้แล้ว มีสหายบางคนไม่เข้าใจ และมีสหายบางคนกังวลว่า “จะดำเนินการพัฒนาทางทะเลไหวหรือทั้งๆที่การพัฒนาทางบกยังไปไม่ถึงไหนเลย?” “เมืองระดับสากลเป็นสิ่งที่ยังอยู่ไกลเกินไปสำหรับเราหรือไม่?” “มาดำรงตำแหน่งราชการเพียงวาระเดียว แต่คิดไกลถึง 20 ปีทำไม?” .......ต่อคำกล่าวเช่นนี้นายสี จิ้นผิง ได้ยินจนชินแล้ว แม้ว่าในการประชุมผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเมืองฝูโจวเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1992 นายสี จิ้นผิงได้เสนอว่าต้องขจัดอุปสรรคทางความคิด 5 ประการอันได้แก่ แสวงหาแต่ความมั่นคงอย่างเดียวจนไม่กล้าบุกเบิกเพราะกลัวเกิดความวุ่นวาย หยุดการพัฒนาเพราะพอใจกับผลสำเร็จในเบื้องต้น คอยดูผลการทำงานของคนอื่นเพื่อรอคอยโอกาส ไม่เข้าไปมีส่วนรวมเพื่อปัดความรับผิดชอบ และไม่ดำเนินการใดๆเพราะไร้ความคิดสร้างสรรค์ แต่ข้อจำกัดต่างๆก็ยังคงดำรงอยู่เช่นเดียวกับครั้นกำหนด “ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเมืองเซี่ยเหมิน ค.ศ. 1985-2000” ณ เมืองเซี่ยเหมินเมื่อหกปีที่แล้ว
นายสี จิ้นผิง กล่าวในคำนำของ “วิสัยทัศน์-กลยุทธ์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 20 ปีของเมืองฝูโจว” ว่า “การปฏิรูปและการเปิดประเทศเป็นภารกิจระยะยาวที่หนักอึ้งและซับซ้อน ในกระบวนการพัฒนามีประเด็นสำคัญมากมายต้องพิจารณาในระยะยาวและตัดสินใจอย่างรอบคอบ ประสบการณ์และบทเรียนทางประวัติศาสตร์บอกเราว่า การพัฒนาของท้องที่ใดก็ตามหากไม่มีการวางแผนระยะยาวมักจะนำไปสู่ข้อผิดพลาดร้ายแรงในการสร้างสรรค์ กระทั่งทิ้งความเสียใจไว้ถาวร “ทุกวันนี้ เรากำลังยืนอยู่ที่ต้นทางแห่งการสร้างอนาคต จึงต้องมีจิตสำนึกล้ำยุคและกล้าที่จะเป็นผู้นำเทรนด์แห่งยุค”
การเร่งพัฒนาเมืองยังเป็นการต่อสู้เพื่อการปลดปล่อยทางความคิดอีกเช่นกัน เมื่อวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 1992 นายสี จิ้นผิง เขียนในบทความหัวข้อ“การจัดการความสัมพันธ์แปดประการในการสร้างสรรค์เมืองให้ดี” ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฝูเจี้ยนเดลี่ว่า “การสร้างสรรค์เมืองเป็นโครงการที่เป็นระบบซึ่งเชื่อมโยงอดีตกับอนาคต เป็นประโยชน์ต่อปัจจุบัน และสร้างความผาสุกแก่ลูกหลาน จำเป็นต้องคำนึงถึงผลลัพธ์ระยะสั้นแต่ยิ่งต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ระยะยาวด้วย”
เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1993 นายสี จิ้นผิง เขียนในบทความหัวข้อ“แนวคิดบางประการเกี่ยวกับการขยายการเปิดกว้าง”ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฝูเจี้ยนเดลี่ว่า “การคิดอย่างสุขุมรอบคอบก็เพื่อเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่สำหรับการเร่งพัฒนา มีเพียงการสำรวจประกอบการวิจัยเชิงลึก รวมถึงรู้จักสรุปประสบการณ์จากภาคปฏิบัติและกำนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงเท่านั้น จึงจะสามารถชี้แนะและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว ในแง่นี้ การคิดอย่างใจเย็นและการวางแผนระยะยาวก็ถือเป็นงาน ‘ลับมีด’เช่นกัน เพื่อ'ตัดไม้'ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
IN/LU