การประชุมประจำปี Boao Forum for Asia 2024

2024-04-02 22:57:06 | CMG
Share with:


โดย ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์

นักวิจัยด้านความมั่นคงใหม่และวัฒนธรรมสัมพันธ์เอเชีย

ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อวันที่ 26-29 มีนาคมที่ผ่านมา จีนเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปี Boao Forum for Asia 2024 ที่ตำบลโป๋อ๋าว มณฑลไห่หนาน สโลแกนของงานคือ Asia and the World: Common Challenges, Shared Responsibilities โดยเน้นประเด็นเศรษฐกิจกับการพัฒนาในเอเชียภายใต้วาระสันติภาพกับความร่วมมือ

Boao Forum for Asia 2024 ประกอบไปด้วยการประชุมย่อย 40 กลุ่ม มีผู้แทน 2,000 กว่าคนจาก 60 กว่าประเทศทั่วโลกเข้าร่วม รวมทั้งทัพผู้สื่อข่าวอีก 1,100 คนจาก 40 กว่าประเทศ หัวข้อหลักสัมพันธ์กับการลงทุนในเอเชีย การแสวงหาความร่วมมือทางการเงินในเอเชีย และแนวทางสร้างสรรค์เอเชียให้เป็นศูนย์กลางความเติบโต หัวข้อเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนภาพเอเชียให้เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจยุคหลังโควิด โดยเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลประสบการณ์จากผู้แทนชาติต่าง ๆ มองกันว่า ผลการประชุมจะเพิ่มความมั่นใจให้แก่นักลงทุน

ในระหว่างประชุมกลุ่มย่อย หัวข้อสำคัญอย่างปัญญาประดิษฐ์ ยานยนต์พลังงานแห่งอนาคต และความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางถูกกล่าวถึงอย่างจริงจัง เพราะทั้งหมดเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการพัฒนาสู่อนาคต อย่างมณฑลไห่หนานเองเคยประกาศว่า จะเป็นเมืองแรกในจีนที่ห้ามการซื้อขายยานยนต์พลังงานฟอสซิลภายในปี 2030 นั่นทำให้มุมมองเศรษฐกิจอิงแนวปฏิบัติทางเทคโนโลยีล่าสุดเสมอ

จริง ๆ แล้ว Boao Forum for Asia เริ่มในปี 2001 ด้วยวัตถุประสงค์ด้านการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและทำหน้าที่สะพานเชื่อมชาติเอเชีย การประชุมครั้งล่าสุดพยายามสานต่อเจตนารมณ์ด้วยการยกระดับความร่วมมือให้สูงขึ้นกว่าเดิม หลายกลุ่มประชุมมุ่งเป้าใหญ่อย่างแนวทางปรับปรุงระบบนิเวศสำหรับการลงทุน การเพิ่มแรงจูงใจด้านการลงทุนจากต่างประเทศ งานพัฒนาความร่วมมือทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่แท้จริงในเอเชีย และนโยบายเสริมความแกร่งให้แก่ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมกับห่วงโซ่อุปทานในเอเชีย

หลัง Boao Forum for Asia 2024 เสร็จสิ้น ผู้แทนภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาควิชาการจากทั่วโลกเห็นตรงกันว่า ควรเพิ่มความร่วมมือและการเปิดกว้างระหว่างกันเพื่อรับมือความท้าทายทุกระดับโดยเฉพาะลัทธิปกป้องทางการค้าและการเอาชนะคะคานในทางภูมิรัฐศาสตร์ บทสรุปการประชุมสามารถแยกออกมาเป็นรายประเด็นได้ดังต่อไปนี้

-  เอเชียจะเป็นผู้นำแห่งยุคสมัยในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนและจีนจะเป็นเสาหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนเช่นเดิม

- ในการนี้จีนจะเปิดกว้างมากขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุนกับชาติต่าง ๆ และชาติอื่นก็จะเดินตามวิถีเดียวกัน

- นวัตกรรมจะเป็นปัจจัยหลักสำหรับการพัฒนาและทุกประเทศจะต้องเร่งภารกิจแก้ไขภาวะภูมิอากาศแปรปรวนเพื่อลดความผันผวนทางการผลิต

- จีนจะใช้การพัฒนาคุณภาพสูงและใช้กฎการค้าระหว่างประเทศดึงดูดความร่วมมือจากประเทศต่าง ๆ ให้มากขึ้น

- การงดเว้นภาษี การผ่อนคลายกฎระเบียบทางการตลาดและการลงทุนจากต่างประเทศจะเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการค้าการลงทุนยุคใหม่ โครงการนำร่องพื้นที่การค้าเสรีและท่าเรือเสรีที่มณฑลไห่หนานคือตัวอย่างหนึ่ง

บทสรุปข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลการประชุมทั้งหมด แต่หลายข้อช่วยส่งสัญญาณว่า เศรษฐกิจเอเชียจะยังคงสดใสต่อไปแม้จะมีความท้าทายรอบโลกเกิดขึ้นก็ตาม ความท้าทายที่ว่าแบ่งออกได้เป็น 5 ข้อ ได้แก่ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะแนวรบด้านยุโรปตะวันออกและความขัดแย้งตะวันออกกลาง ความเชื่อที่ว่า เศรษฐกิจจีนชะลอตัวจนกระทบชาติคู่ค้า ภาวะหนี้สินสูงในแต่ละชาติรวมทั้งการเผชิญปัญหาอัตราดอกเบี้ยสูง การค้าขายที่ต้องเจอกับมาตรการทางการค้าใหม่ ๆ และการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศซึ่งทำให้ผลผลิตไม่แน่นอน แม้กระนั้น เศรษฐกิจเอเชียปีนี้กลับมีแนวโน้มเติบโตร้อยละ 4.5 และกิจกรรมในเอเชียถูกมองเป็นส่วนสำคัญของการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

ไม่ว่าอย่างไร Boao Forum for Asia 2024 ช่วยขยายเจตจำนงของจีนเกี่ยวกับการทูตเศรษฐกิจ เพราะ Boao Forum for Asia 2024 เดินหน้าต่อเนื่องจากการประชุม China Development Forum ในกรุงปักกิ่งซึ่งจัดระหว่างวันที่ 24-25 มีนาคม หลังจากนั้นในวันที่ 27 มีนาคม นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีนก็พบกับผู้แทนฝ่ายธุรกิจ ยุทธศาสตร์ และวิชาการของสหรัฐฯ ทั้งสองฝ่ายยอมรับความท้าทายตรงกันและตระหนักความจำเป็นที่จะต้องมีเอกภาพในการรับมือ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ประกาศว่า เศรษฐกิจจีนยังคงแข็งแกร่ง ไม่ได้หวือหวาจนเกินขอบเขต หรือ ล่มสลายอย่างที่คาดการณ์

เมื่อศักยภาพทางเศรษฐกิจรวมเข้ากับอุดมการณ์การพัฒนา ความยั่งยืนแห่งเอเชียจะไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรง เพราะเอเชียพร้อมไปด้วยทรัพยากรการผลิต ทักษะ เทคโนโลยี ขอเพียงทุกชาติยอมรับการปรับตัวและสัมพันธภาพแทนการตั้งแง่เข้าหากัน และเปิดทางให้แก่การจัดการอย่างมีสติ เช่น ลดการผูกขาด เน้นภาคการผลิต ใส่ใจความร่วมมือ ภาวะเศรษฐกิจเอเชียจะกลับฟื้นคืนด้วยอิงพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แท้จริง

       

  • เสียงข่าวประจำวัน (01-05-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (01-05-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (01-05-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (30-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (30-04-2567)