ต่อกรณีที่เมื่อเร็วๆนี้นักการเมืองและสื่อมวลชนในประเทศตะวันตกบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่สิ่งที่เรียกว่า “กำลังการผลิตจีนล้นเกิน”บ่อยครั้งนั้น นักสังเกตการณ์ชี้ว่าปรากฏการณ์นี้เป็นการจงใจกุข่าวทั้งสิ้น เหตุผลก็คือภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่อุตสาหกรรมพลังงานใหม่ของจีนได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว กลุ่มคนจำนวนหนึ่งในประเทศตะวันตกนับวันร้อนใจและกังวลมากขึ้นว่าจะไม่สามารถแข่งขันกับจีนได้ ส่วนจุดประสงค์การกุข่าวก็เพื่อใส่ร้ายป้ายสีจีนว่า”กำลังการผลิตส่วนเกินส่งผลกระทบทั่วโลก” อันเป็นการบิดเบือนและทำให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับทั่วโลกเสื่อมเสีย ทำลายอุตสาหกรรมที่ได้เปรียบของจีน ขัดขวางการก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมจีน และพิทักษ์การผูกขาดของประเทศตะวันตกในห่วงโซ่อุตสาหกรรม ห่วงโซ่อุปทานและระบบเศรษฐกิจโลกที่นำโดยสหรัฐอเมริกา
ในความเป็นจริง ไม่ว่าพิจารณาในแง่ของหลักการระบบเศรษฐกิจแบบตลาด การแบ่งงานทั่วโลก และตลาดระหว่างประเทศ ล้วนไม่มีปัญหาเรื่อง “กำลังการผลิตของจีนล้นเกิน”แต่อย่างใด
การตัดสินว่ามีกำลังการผลิตล้นเกินหรือไม่นั้นควรพิจารณาจากความต้องการของตลาดโลกและศักยภาพในการพัฒนาในอนาคต ความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานมีความสัมพันธ์กันในลักษณะเชิงเปรียบเทียบและความไม่สมดุลมักเป็นเรื่องปกติ ความไม่สมดุลประเภทนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเศรษฐกิจที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด และเคยเกิดขึ้นหลายครั้งในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกอื่นๆ หากพิจารณาในแง่อุปสงค์และอุปทานของตลาดโลก ถ้าขนาดของตลาดยังคงขยายตัวต่อไปและมีการกระตุ้นศักยภาพอย่างเต็มที่ “กำลังการผลิตส่วนเกิน”ก็จะไม่ดำรงอยู่อีกต่อไปและอาจกลายเป็นการขาดแคลนด้วยซ้ำ ในแง่นี้ วิธีแก้ปัญหายังคงขึ้นอยู่กับการปรับตัวของตลาดตามกฎของมูลค่า จีนเป็นตลาดเปิดที่หลอมรวมอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์ การจัดสรรทรัพยากรของวิสาหกิจจีนไม่เพียงคำนึงถึงภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงต่างประเทศด้วย นี่คือแนวโน้มตามธรรมชาติของบริษัทสากล หากกำลังการผลิตเกินความต้องการในประเทศจึงเรียกได้ว่า “กำลังการผลิตล้นเกิน” ก็เท่ากับเป็นการส่งออกผลิตภัณฑ์ด้วย“กำลังการผลิตส่วนเกิน” ซึ่งไม่เป็นไปตามตรรกะของเหตุผลทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน
มุมมองของทั่วโลกในปัจจุบัน กำลังการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่ได้มีส่วนเกิน แต่เป็นการขาดแคลนอย่างหนัก ตามการประมาณการของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ ความต้องการรถยนต์พลังงานใหม่ของทั่วโลกจะสูงถึง 45 ล้านคันในปี 2030 ซึ่งมากกว่าปี 2022 ถึงสามเท่า ความต้องการทั่วโลกต่อกำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ใหม่จะสูงถึง 820 กิกะวัตต์ซึ่งมากกว่าปี 2022 ประมาณสามเท่า จึงถือได้ว่ากำลังการผลิตในปัจจุบันยังห่างไกลจากความต้องการของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่มีศักยภาพความต้องการผลิตภัณฑ์พลังงานใหม่มหาศาล การที่จีนในฐานะผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สีเขียวที่สําคัญของโลกยังคงดําเนินกิจกรรมการผลิตต่อไปนั้นสอดคล้องกับกฎแห่งระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ผู้เชี่ยวชาญชี้ให้เห็นว่าภายใน 5 ปีข้างหน้าทั่วโลกต้องการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนจำนวนมาก เพื่อให้ทันกับพันธกรณีภายใต้ข้อตกลงปารีสในการรับมือกับภาวะโลกร้อน จีนไม่เพียงแต่ต้องตอบสนองความต้องการภายในประเทศและส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนเท่านั้น แต่ยังต้องมีส่วนสนับสนุนการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของทั่วโลกและการบรรลุการพัฒนาสีเขียวอีกด้วย การยับยั้งอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ด้วยลัทธิกีดกันทางการค้านั้นย่อมจะทำให้ความสามารถของประเทศต่างๆ ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอ่อนแอลงอย่างไม่ต้องสงสัย
หากพิจารณาจากดัชนีชี้วัดสำคัญที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันก็ยังไม่มีสัญญาณบ่งบอกว่าจีนมี“กำลังการผลิตล้นเกิน” ในขณะที่การส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าของจีนเพิ่มขึ้น ราคาก็สูงขึ้นเช่นกัน ราคาขายรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ชั้นนำของจีนในยุโรปเฉลี่ยแล้วประมาณสองเท่าของราคาในจีน นี่แสดงให้เห็นว่าทฤษฎีที่เรียกว่า “การทุ่มตลาด” ของประเทศตะวันตกนั้นไร้เหตุผล อีกด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความต้องการของตลาดกำลังเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ปัจจุบันจีนยังเป็นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลก และสัดส่วนการส่งออกต่อการผลิตยังต่ำกว่าประเทศผู้ผลิตรถยนต์ เช่น เยอรมนี ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้อย่างมาก
ความได้เปรียบในการแข่งขันของอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ของจีนมีรากฐานมาจากความได้เปรียบทางการตลาดขนาดใหญ่พิเศษของจีน ระบบอุตสาหกรรมที่ครบครัน และทรัพยากรมนุษย์ที่อุดมสมบูรณ์ ความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของจีนไม่ได้ขึ้นอยู่กับการอุดหนุนของรัฐบาลตามที่ชาติตะวันตกกล่าวหา แต่ขึ้นอยู่กับการยกระดับขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนาของจีน การสนับสนุนของห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานที่สมบูรณ์ ควบคู่ไปกับตลาดขนาดใหญ่มหึมาของจีน ปัจจัยที่ประเทศอื่นไม่สามารถเทียบชั้นได้กับจีนดังกล่าวนี้ประกอบขึ้นเป็นความได้เปรียบด้านกำลังการผลิตของจีน ในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเกิดใหม่ซึ่งรวมถึงรถยนต์พลังงานใหม่นั้น สหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกบางประเทศยืนกรานในแนวคิดผลรวมเป็นศูนย์ ละเมิดกฎเศรษฐกิจในการกำหนดนโยบายอุตสาหกรรม และจงใจขัดขวางการจัดสรรทรัพยากรทั่วโลกอย่างมีประสิทธิภาพผ่านสิ่งที่เรียกว่า“การกำจัดความเสี่ยง” และวิธีอื่น ๆ ทำให้การพัฒนาวิสาหกิจในท้องถิ่นของตนถูกขัดขวาง ซึ่งเป็นผลที่สืบเนื่องมาจากความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศทางการเมือง
IN/LU