มณฑลฝูเจี้ยนในช่วงทศวรรษ 1980 แห่งศตวรรษที่ 20 โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและการสื่อสารยังค่อนข้างล้าหลัง ในเมืองเซี่ยเหมินในขณะนั้น หากต้องการโทรศัพท์ต้องไปต่อคิวที่สำนักงานไปรษณีย์และโทรคมนาคม ส่วนเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งหนัก ใหญ่และหาได้ยาก ทำได้เพียงประมวลผลขั้นพื้นฐานง่ายๆ เท่านั้น ยิ่งการท่องอินเทอร์เน็ตไม่ต้องพูดถึง
เมื่อครั้งนายเซี่ยง หนาน เป็นผู้บริหารหลักมณฑลฝูเจี้ยน คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลได้ตัดสินใจที่จะรัดเข็มขัดเพื่อมุ่งเน้นไปที่การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และใช้ทุนต่างชาติเพื่อดำเนินโครงการสำคัญ 10 โครงการ ซึ่งรวมถึงโครงการนำเข้าระบบสวิตช์โทรศัพท์ที่ควบคุมด้วยโปรแกรม 10,000 คู่สายสองชุดสำหรับเมืองเซี่ยเหมินและฝูโจว
ในปี 1984 มีการกำหนดให้เมืองเซี่ยเหมินเป็นพื้นที่นำร่องเขตเศรษฐกิจพิเศษและเมืองศูนย์กลางในระบบเครือข่ายข้อมูลเศรษฐกิจสี่ระดับทั่วประเทศ
นายสี จิ้นผิง กล่าวว่า “หากเขตเศรษฐกิจพิเศษต้องการพัฒนาเศรษฐกิจแบบตลาดและมีส่วนร่วมในวงจรเศรษฐกิจระหว่างประเทศ การมีสนามบิน ท่าเรือ และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการสื่อสารยังไม่เพียงพอ ยังต้องสร้าง 'ตาทิพย์' ในระดับมหภาคเพื่อรับรู้ข้อมูลเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ”อย่างถูกต้องและทันท่วงที
ในปี 1984 เมืองเซี่ยเหมินได้ก่อตั้งสถานีคอมพิวเตอร์ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจในปี 1985 ในเดือนกันยายน 1985 เซี่ยเหมินมอบหมายให้บริษัทวิศวกรรมระบบคอมพิวเตอร์แห่งประเทศจีนจำกัดดำเนินการวางแผนและออกแบบโดยรวมของระบบข้อมูลเศรษฐกิจ ในเดือนเมษายน 1986 นายสี จิ้นผิง เป็นประธานการประชุมพิจารณาแผนโดยรวมของระบบข้อมูลเศรษฐกิจเมืองเซี่ยเหมินโดยมีผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียง 75 คนในสาขาคอมพิวเตอร์ เศรษฐศาสตร์ และสาขาอื่น ๆ เข้าร่วม ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนดังกล่าว เมื่อเดือนมิถุนายน 1986 เมืองเซี่ยเหมินได้แต่งตั้งหน่วยผู้นำการบริหารจัดการข้อมูลเศรษฐกิจเป็นการเฉพาะโดยมีนายสี จิ้นผิง เป็นหัวหน้า
ในสายตาของนายเจิ้ง จินมู่ รองผู้อำนวยการคณะกรรมการวางแผนเมืองเซี่ยเหมินในขณะนั้น นายสี จิ้นผิงได้บูรณาการประสานงานและแก้ไขปัญหาทั้งหมดของศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจเมืองเซี่ยเหมิน นายเจิ้ง จินมู่กล่าวว่า “การสร้างระบบขนาดใหญ่เช่นนี้ หากมีกำลังคนเพียงสิบกว่าคนไม่สามารถทำได้ เมืองเซี่ยเหมินจึงได้อนุมัติให้รับพนักงานจำนวน 120 คน เมื่อรับพนักงานเพิ่มขึ้นมาก สถานที่ทำงานก็ต้องได้รับการแก้ไข ดังนั้น จึงมีการจัดสรรงบประมาณซึ้อาคาร 7 ชั้นที่มีพื้นที่รวม 5,040 ตารางเมตรด้วย”
นั่นเป็นยุคที่การสร้างสนามบินน่าสนใจและน่าภูมิใจกว่าการสร้างศูนย์ข้อมูล “สิ่งที่คนอื่นมองว่ามีหรือไม่มีก็ได้ เขากลับมองว่าเป็นสิ่งที่ย่อมต้องมีในอนาคต ทั้งยังจัดให้เป็น 1 ใน 8 โครงการหลักของทั้งเมือง นี่คือความเหนือกว่าคนอื่นของเขา” นายเจิ้ง จินมู่กล่าว
เมืองเซี่ยเหมินต้องการ “ตาทิพย์” ในระดับมหภาค สำหรับเมืองหนิงเต๋อซึ่งค่อนข้างล้าหลังนั้น นายสี จิ้นผิงต้องการใช้ “หูทิพย์” อย่างเร่งด่วนเพื่อลดช่องว่างการพัฒนาที่เกิดจากความล้าหลังด้านการคมนาคมขนส่ง
คำบรรยายภาพ : ฤดูร้อนปี 1989 นายสี จิ้นผิง ซึ่งขณะนั้นเป็นเลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเมืองหนิงเต๋อ ได้เดินทางไปยังเมืองฝูโจวเพื่อตรวจเยี่ยมระบบสวิตช์โทรศัพท์ที่ควบคุมด้วยโปรแกรม (ภาพจากแฟ้มภาพ)
หนึ่งถามเรื่องโทรศัพท์ สองถามเรื่องถนน สามถามเรื่องโครงการ สี่ถามเรื่องที่อยู่อาศัย สำหรับเมืองหนิงเต๋อซึ่งเศรษฐกิจอยู่ในอันดับล่างๆมายาวนานในช่วงทศวรรษ 1980 และ1990 คำตอบของทั้งสี่คำถามดังกล่าวมักทำให้นักธุรกิจต่างชาติที่ต้องการมาลงทุนที่นี่ท้อใจ
ในปี 1989 ซึ่งขณะนั้นนายสี จิ้นผิง ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเมืองหนิงเต๋อ ได้เสนอให้ใช้การปรับปรุงการสื่อสารมาชดเชยการขาดแคลนด้านการคมนาคมขนส่ง และติด"หูทิพย์"ให้กับพื้นที่เขตเก่าทางตะวันออกของฝูเจี้ยน “การลงทุนด้านการคมนาคมขนส่งมีขนาดใหญ่และใช้เวลาก่อสร้างยาวนานซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จัดการได้ง่าย เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วการลงทุนด้านการสื่อสารทางไปรษณีย์และโทรคมนาคมใช้เงินน้อยกว่า แต่เห็นผลได้เร็ว และมีความเป็นไปได้สูง การสื่อสารที่ดีขึ้นสามารถชดเชยการขาดแคลนด้านการคมนาคมขนส่งได้ นี่ก็คือสิ่งที่เรียกว่า 'เท้ายาวไม่พอ ต้องใช้ ‘หูทิพย์’มาช่วย”
เมื่อปี 1982 ฝูโจวกลายเป็นเมืองแรกในประเทศที่ใช้ระบบสวิตช์โทรศัพท์ที่ควบคุมด้วยโปรแกรม 10,000 คู่สาย ซึ่งถือเป็นการก้าวกระโดดครั้งประวัติศาสตร์จากยุค “โทรศัพท์มือหมุน” สู่ยุค “โทรศัพท์อิเล็กทรอนิกส์”
เนื่องจากการนำระบบนี้มาใช้จำเป็นต้องใช้เงินตราต่างประเทศและลงทุนจำนวนมาก ทางมณฑลจึงกำหนดให้แต่ละเขตยกเว้นเมืองฝูโจวสามารถนำเข้าได้เพียงชุดเดียว คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเมืองหนิงเต๋อตัดสินใจที่จะติดตั้งระบบสวิตช์โทรศัพท์ที่ควบคุมด้วยโปรแกรม 10,000 คู่สายทั้งในเมืองหนิงเต๋อและอำเภอฝูอันซึ่งมีสภาพเศรษฐกิจที่ดีกว่าหากเทียบกับอำเภออื่นๆในเมืองหนิงเต๋อ
วันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ.1989 นายสี จิ้นผิงได้นำนายทัง จินหัว รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารเมืองหนิงเต๋อ นายหยาง อี้ว์หมิ่น ผู้อำนวยการสำนักงานไปรษณีย์และโทรคมนาคมเมืองหนิงเต๋อ และนายหยาง จิ่นหยาน ผู้อำนวยการสำนักงานไปรษณีย์และโทรคมนาคมอำเภอฝูอัน เดินทางไปยังสำนักงานไปรษณีย์และโทรคมนาคมมณฑลฝูเจี้ยนเพื่อยื่นคำขอติดตั้งระบบโทรศัพท์ดังกล่าว นายหยาง จิ่นหยาน เล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า “เราได้ไปเยี่ยมชมสำนักงานโทรคมนาคมเมืองฝูโจวและสถานีหลักไมโครเวฟประจำมณฑล นายสี จิ้นผิงหยิบไมโครโฟนขึ้นมาและโทรไปที่ปักกิ่ง สายดังกล่าวเชื่อมต่อได้ทันทีเมื่อเขาโทรออก และเสียงก็ชัดเจนมาก”
การเดินทางไปเมืองฝูโจวครั้งนี้ทําให้นายสี จิ้นผิงตัดสินใจอย่างแน่วแน่ เขากล่าวว่า: “หากหนิงเต๋อต้องการเปลี่ยนสภาพที่ล้าหลัง หนีไม่พ้นต้องเร่งพัฒนาการไปรษณีย์และโทรคมนาคม ซึ่งเป็นรากฐานของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และหากโทรศัพท์ไม่ได้เชื่อมต่อการเปิดกว้างก็เป็นคําพูดที่ว่างเปล่า ทางตะวันออกของฝูเจี้ยนค่อนข้างล้าหลัง แต่การสื่อสารของเราต้องไม่ล้าหลัง การไปรษณีย์และโทรคมนาคมทางตะวันออกของฝูเจี้ยนต้องพัฒนาเร็วยิ่งขึ้น”
ด้วยเหตุนี้ เมืองหนิงเต๋อจึงกลายเป็นเมืองแรกในมณฑลที่ได้ติดตั้งระบบสวิตช์โทรศัพท์ที่ควบคุมด้วยโปรแกรม 10,000 คู่สายรวมสองชุด
ด้วยประสบการณ์ดังกล่าว จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะเข้าใจท่าทีอันแข็งขันของนายสี จิ้นผิงเมื่อครั้งเขาเห็น“ข้อเสนอโครงการ ‘ดิจิทัลฝูเจี้ยน’” ในปี 2000
IN/LU