กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับการคาดการณ์การการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปีนี้ว่า เศรษฐกิจจีนจะเติบโต 5% เพิ่มขึ้น 0.4% จากรายงานการคาดการณ์เศรษฐกิจ World Economic Outlook (WEO) เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา นอกจากนี้ IMF ยังปรับการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปี 2568 เพิ่มขึ้น 0.4% เป็น 4.5%
Gita Gopinath รองกรรมการผู้จัดการคนที่ 1 ของ IMF ระบุว่า การปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจจีน มาจากแรงหนุนจากการเติบโตของ GDP ในไตรมาสแรกที่แข็งแกร่ง และมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน โดยก่อนหน้านี้ทีม IMF ยังได้เดินทางเยือนจีนเมื่อวันที่ 16-28 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อร่วมหารือเรื่องนโยบายทางเศรษฐกิจกับเจ้าหน้าที่ทางการจีน
โดย IMF แถลงว่า จีนพยายามขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนโยบายการพัฒนาคุณภาพสูง ส่งเสริมนวัตกรรม โดยเฉพาะเทคโนโลยีสีเขียว ยกระดับกฎระเบียบของภาคการเงิน ดำเนินมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของภาคอสังหาริมทรัพย์ มีนโยบายสนับสนุนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยราคาย่อมเยาว์ เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ
ตัวชี้วัดการเติบโตเศรษฐกิจในดือนเมษายน มาจากภาคการผลิต การค้า และการบริโภค จากมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ยังคงต้องกระตุ้นการการบริโภคภายในประเทศ และมีมาตรการรักษาเสถียรภาพในภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเต็มรูปแบบและเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
ก่อนหน้านี้ มีการวิเคราะห์จากนักวิชาการอย่าง Guo Liyan รองผู้อํานวยการ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของจีนว่า เมื่อเดือนเมษายน ทางการจีนประกาศตัวเลข GDP ไตรมาสแรกของปีนี้ว่าเติบโต 5.3% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเติบโต 4.6 และคาดว่าปีนี้ทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะเป็นไปตามเป้าหมายที่เติบโต 5% การที่จีดีพีของจีนเพิ่มขึ้น 5.3% คิดเป็นมูลค่ากว่า 29 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 145 ล้านล้านบาท มาจากปัจจัยหลักคือการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ โดยไตรมาสแรกของปีนี้ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 6.1% ภาคการผลิตด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงขยายตัว 7.5% จากไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 ขณะที่ภาคบริการขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง คิดเป็น55.7% ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ
แรงผลักดันสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในภาพรวม มาจากการขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว และการกระตุ้นการบริโภค โดยในอนาคต นโยบายการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศให้มาลงทุนในจีน ควบคู่กับการส่งเสริมการบริโภคในประเทศ รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีอื่นๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ จะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งในการทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตบรรลุตามเป้าหมายที่ 5% ในปีนี้ และวางรากฐานที่แข็งแกรงให้เศรษฐกิจจีนเติบโตในระยะยาวต่อไป
บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย
ภาพ : CGTN