โดย รศ.วิภา อุตมฉันท์
ปี 1972 เป็นปีแรกที่สหประชาชาติจัดการประชุมใหญ่เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก ณ กรุงสต็อคโฮล์ม ประเทศสวีเดน มีประเทศเข้าร่วม 113 ประเทศ ที่ประชุมมีมติกำหนดให้ทุกวันที่ 5 ของทุกปีเป็น “วันสิ่งแวดล้อมโลก” (World Environment Day) มีการร่างปฏิญญาว่าด้วยการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งแผนงานต่าง ๆ ที่จะปฏิบัติ ตั้งแต่นั้นการประชุมก็จัดขึ้นทุกปี หมุนเวียนไปตามประเทศต่าง ๆ ปีนี้ประเทศปากีสถานเป็นเจ้าภาพ
แม้มนุษย์จะตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับโลก และเริ่มรวมกำลังกันประชุมเพื่อช่วยกันแก้ปัญหา แต่ผลที่ได้ตลอดกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาตั้งแต่การประชุมครั้งแรก สิ่งแวดล้อมโลกทุกด้านกลับเลวร้ายลงอย่างน่าตกใจ อะไรที่ไม่เคยเกิดมาก่อนก็มาเกิดขึ้นในยุคนี้ อะไรที่เคยเกิดอยู่แล้วก็เกิดอีกด้วยอัตราความถี่และความร้ายแรงที่แย่ลงกว่าเก่า คำว่า “โลกร้อน” ซึ่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้เองเป็นคำที่มนุษย์คิดขึ้นเพื่อบอกกล่าวให้รู้ถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับโลก ปัจจุบันคำนี้ถูกแทนที่ด้วยคำว่า “โลกเดือด” ซึ่งไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่ามันคือความจริงอันน่ากลัวที่กำลังจะเกิดขึ้น
ผู้ทำลายสิ่งแวดล้อมโลกไม่ใช่ใครอื่น คือมนุษย์ตัวเป็น ๆ ที่ดำรงชีวิตอยู่บนโลกใบนี้เอง ความไร้เดียงสาของประชาชนหรือความเห็นแก่ได้ของพวกนายทุนที่ไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดกับโลกในระยะยาว เป็นสาเหตุของปัญหามากมายนับไม่ถ้วนที่สะสมเพิ่มขึ้นจากปริมาณไปสู่คุณภาพ เช่น มนุษย์เป็นผู้สร้างสาร CFC (สารคาร์โรฟลูโอโรคาร์บอน) ขึ้นมาจากการผลิตทางอุตสาหกรรม และอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้าน สาร CFC เป็นตัวการที่ไปทำลายชั้นโอโซนในบรรยากาศที่ห่อหุ้มโลกซึ่งมีความหนาถึง 20 กว่าก.ม. หรือ 90% ของชั้นบรรยากาศ โอโซนมีคุณสมบัติในการดูดซับรังสี UV ปกป้องสิ่งมีชีวิตบนโลก เมื่อชั้นโอโซนถูกทำลาย แสง UV ก็จะส่องลงมาถึงพื้นโลกจนเป็นอันตรายต่อมนุษย์ โดยเฉพาะผลต่อสายตาและผิวหนัง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็ง รังสีนี้ยังส่องลึกลงไปใต้น้ำได้ถึง 10 เมตร สัตว์น้ำตื้นบางชนิดต้องสูญพันธุ์ ห่วงโซ่อาหารและความสมดุลของระบบนิเวศจึงถูกทำลาย
ถ้าจะนับนิ้วดูว่าธรรมชาติรอบตัวเราที่วิปริตแปรปรวนจากปัญหาการทำลายสิ่งแวดล้อมของมนุษย์มีอะไรบ้าง นิ้ว10 นิ้วบนมือก็มีไม่พอให้นับ ที่สำคัญก็คือปัญหาแต่ละอย่างกำลังอยู่ในระหว่างสะสมความวิปริตรุนแรงต่อโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น โลกร้อนขึ้นทำให้ธารน้ำแข็งขั้วโลกละลาย น้ำทะเลทั่วโลกจึงมีระดับน้ำสูงขึ้น คาดกันว่าหมู่เกาะมัลดีฟอาจเสี่ยงต่อการจมหายไปในทะเลมากที่สุด แม้แต่พื้นที่บริเวณอ่าวไทยของเราก็อาจหนีไม่พ้นปัญหานี้เช่นกัน นอกจากน้ำแล้วยังมีปัญหาอากาศแปรปรวน อากาศร้อนขึ้นผิดปกติ แผ่นดินไหวรุนแรง แผ่นดินถล่มอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ไฟป่าเกิดขึ้นไม่เลือกที่ ภัยจากธรรมชาติที่ใกล้ตัวเราที่สุดในเวลานี้ ก็คือปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่บุกถึงบ้านโดยเราไม่มีทางป้องกันตัวเองได้
จีนเป๋นประเทศที่ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกอย่างจริงจังมาโดยตลอด ไม่ว่าประเทศไหนเป็นเจ้าภาพในนามของสหประชาชาติ แต่จีนก็จัดงานของตัวเองขึ้นทุกปีเช่นกัน ปีนี้จัดที่นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง กำหนดคำขวัญเพื่อ่ใช้เป็นเป้าหมายปฏิบัติร่วมกันทั้งประเทศว่า... “ร่วมกันผลักดันจีนให้สวยงามทั่วทุกด้าน” หลังทำพิธีเปิดงานแล้วประธานได้กล่าวสุนทรพจน์ ฉายภาพยนตร์เรื่อง “มองดูจีนที่สวยงามจากที่นี่” จากนั้นได้ประกาศผลการทำงานในรอบปีที่ผ่านมา มอบรางวัลเกียรติยศแก่บุคลากรดีเด่น จัดปาฐกถา และเปิดให้วิสาหกิจต่าง ๆ แลกเปลี่ยนความเห็นกัน
ปัญหาพิทักษ์สิ่งแวดล้อมโลก เป็นเรื่องที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเอาใจใส่และให้คำชี้แนะตลอดมา คำที่สีฯเน้นมากที่สุดคือคำว่า “สีเขียว” สีจิ้นผิงพูดอยู่เสมอว่า “เขาเขียว..น้ำใส.. ก็คือภูเขาเงินภูเขาทอง”.... “การพัฒนาให้เป็นสีเขียว เป็นพื้นฐานให้กับการพัฒนาที่มีคุณภาพ พลังการผลิตคุณภาพใหม่แท้ที่จริงก็คือการผลิตพลังงานสีเขียวนั่นเอง”
ด้วยคำชี้แนะของสีจิ้นผิง การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของจีนได้รวมการพิทักษ์ธรรมชาติทุก ๆ ด้านเข้าไว้ด้วยกันเป็นองค์เดียว ตั้งแต่ป่าเขา ลำน้ำ ทะเล ทะเลสาบ ทุ่งหญ้า ทะเลทราย ฯลฯ ที่ผ่านมาจีนสามารถฟื้นฟูพื้นดินไม่ให้กลายเป็นทะเลทรายได้ถึง 100 ล้านโหม่ว ตัวอย่างหนึ่งที่สหประชาชาติได้ให้การยกย่องผลงานโดดเด่นของจีนก็คือ..... การสร้างกำแพงเมืองจีนสีเขียว (ปลูกป่า) ยาวตั้งแต่ชายฝั่งตะวันออกไปจนถึงมณฑลซินเกียงทางภาคตะวันตกของประเทศ ซึ่งสามารถเอาชนะหรือลดกำลังแรงของพายุทรายที่โหมกระหน่ำกรุงปักกิ่งและเมืองต่าง ๆ ทางภาคเหนือของจีนเป็นประจำ นอกเจากนี้จีนยังแสดงบทบาทนำหน้าในด้านการใช้พลังงานแสงแดดให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการสร้างฟาร์มโซลาเซลล์ขนาดยักษ์ใหญ่ขึ้นกลางทะเลทราย สั่งห้ามไม่ให้ใช้วัสดุที่มีผลทำให้ชั้นโอโซนในอากาศถูกทำลาย พิทักษ์ลุ่มแม่น้ำแยงซีและฮวงโหโดยห้ามไม่ให้ผู้ใดทำการบุกเบิกพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มเติม รักษาต้นน้ำให้เป็นสีเขียวตลอดกาล จากภาพถ่ายทางดาวเทียมสามารถยืนยันความมหัศจรรย์ของจีนที่เดินหน้าโครงการ... “ทำให้พื้นที่สีเขียวรุดหน้า พื้นที่ทะเลทรายถดถอย” ลงได้อย่างน่าอัศจรรย์ แต่ละปีจีนมีป่าไม้และทุ่งหญ้าเพิ่มขึ้นถึง 40 ล้านโหม่ว ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นความเอาจริงเอาจังของจีนในการพิทักษ์และฟื้นฟูทั่วประเทศจีนให้เป็นสีเขียว ดังคำรายงานของเจ้าภาพจัดงานระบบนิเวศของจีนเมื่อปีที่แล้ว (2023) ที่กล่าวว่า “ท้องฟ้าเป็นสีครามมากขึ้น น้ำใสสะอาดขึ้น ภูเขางดงามยิ่งขึ้น จีนเป็นประเทศแรกในโลกที่สามารถบรรลุภารกิจ....ทำให้การขยายตัวของทะเลทรายเป็นศูนย์”
เคล็ดลับที่ทำให้จีนสามารถทำเช่นนี้ได้ เพราะความร่วมแรงร่วมใจปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบ มีการตรวจสอบผลงานอย่างสม่ำเสมอ มีกฎหมายที่เป็นมาตรฐานวางไว้ให้ปฏิบัติ กำหนดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบแต่ละด้านอย่างชัดเจน วางมาตรฐานการให้คุณให้โทษอย่างเป็นธรรม ประเมินผลงานทุกปี แล้วนำไปเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาทุก ๆ 5 ปี ในส่วนของประชาชนทั่วไป จีนเผยแพร่แนวคิดเรื่องการใช้ชีวิตแบบสีเขียวอยู่ตลอดเวลา พยายามระดมกำลังมวลชนเข้าร่วมกระบวนการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น ช่วยกันแยกขยะ เลิกใช้ถุงพลาสติก ฯลฯ เรื่องพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่จีนเอาจริงเอาจังมากและตั้งเป้าให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรมไว้อย่างชัดเจน
ไทยเราก็คงไม่ลืมความสำคัญของวันสิ่งแวดล้อมโลก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทยน่าจะได้จัดกิจกรรมบางสิ่งบางอย่างไปบ้าง แต่........ไม่เป็นข่าว !!