สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเชิญชม “ดินจากดวงจันทร์” จากยานฉางเอ๋อ 5 ในงานอว.แฟร์ 22-28 กรกฎาคมนี้

2024-07-23 18:30:43 | CMG
Share with:

ตัวอย่างดินจากดวงจันทร์จากภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของยานรฉางเอ๋อ 5 ถูกนำมาจัดแสดงในงาน อว.แฟร์ ระหว่างวันที่ 22-28 กรกฎาคม 2567 ที่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  โดยองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (China National Space Administration: CNSA)  ให้ยืมตัวอย่างดินจากดวงจันทร์มาจัดแสดงในงานนี้โดยเฉพาะ เพื่อให้คนไทยได้ชมอย่างใกล้ชิด  ซึ่งเป็นการจัดแสดงดินจากดวงจันทร์นอกประเทศจีนเป็นครั้งแรก

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติระบุว่า ตัวอย่างดินบนดวงจันทร์ที่นำมาจัดแสดงนี้ มีชื่อในภาษาจีนว่า “หมิงเยว่จ้าวหว่อหวน” แปลว่า “ดวงจันทร์ส่องแสงมาที่ฉัน”  ตัวอย่างดินที่นำมาจัดแสดงมีน้ำหนัก 75 มิลลิกรัม จัดเก็บในคริสตัลทรงกลมรูปดวงจันทรเต็มดวง  เส้นผ่านศูนย์กลาง 20 มิลลิเมตร ทำจากกระจกพิเศษที่ใช้เป็นแว่นขยายคริสตัลทรงกลม  ตั้งอยู่บนฐานคริสตัลทรงสี่เหลี่ยมคางหมู 3 ชั้น หมายถึงการปฏิบัติภารกิจของยานฉางเอ๋อ 5 ใน 3 ขั้นตอน ได้แก่ การโคจร การลงจอด และการส่งตัวอย่างกลับโลก

ความสำเร็จในการเก็บตัวอย่างหินและดินจากดวงจันทร์แสดงความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอวกาศของจีน โดยยานฉางเอ๋อ 5 ขึ้นสู่อวกาศระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน – 17 ธันวาคม 2020  เก็บตัวอย่างหินและดินจากดวงจันทร์ด้วยการใช้สว่านขุดลงไปและการตักตัวอย่างจากพื้นผิว  นำตัวอย่างดินและหินจากดวงจันทร์กลับมายังโลก 1,731 กรัม เพื่อศึกษาวิจัย ซึ่งประเทศจีนเป็นประเทศที่ 3 ในโลกที่สามารถเก็บตัวอย่างหินและดินบนดวงจันทร์กลับมายังโลกได้สำเร็จ รองจากสหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต และเป็นการเก็บตัวอย่างหินและดินจากดวงจันทร์สำเร็จในรอบ 40 ปี หลังจากยาน Luna 24 ของสหภาพโซเวียตเก็บตัวอย่างหินและดินจากดวงจันทร์เมื่อปี 1976

ตัวอย่างหินและดินที่ได้จากยานฉางเอ๋อ 5 ในปี 2020 นี้ ยังมีความน่าสนใจ เพราะมาจากตำแหน่งลงจอดที่เป็นแอ่งลาวาขนาดใหญ่ ในส่วน Oceanus Procellarum หรือ “มหาสมุทรแห่งพายุ” ซึ่งเกิดจากภูเขาไฟที่ปะทุขึ้น  ทำให้ได้หินและดินจากดวงจันทร์ที่มีอายุประมาณ 2,000 ล้านปี จากที่ก่อนหน้านี้ยานสำรวจเคยเก็บตัวอย่างหินและดินจากดวงจันทร์ที่มีอายุ มากกว่า 3,000 ล้านปี และอายุน้อยกว่า 1,000 ล้านปี  หินและดินชุดนี้จึงช่วยเต็มเติมการศึกษาดวงจันทร์ในช่วงเวลาที่ขาดหายไป 

หลังจากที่ได้หินและดินจากดวงจันทร์ จากภารกิจฉางเอ๋อ 5 นักวิจัยได้ศึกษาตัวอย่างหิน ผลการศึกษาพบแร่ธาตุชนิดใหม่ที่ยังไม่เคยพบมาก่อนในโลก  โดยนักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อว่า “ฉางเอ๋อไซต์” (changesite-(Y)  แร่ธาตุที่พบจัดอยู่ในกลุ่มแร่ฟอสเฟตจำพวก merrillite มีลักษณะใสไม่มีสี  การค้นพบนี้จึงเป็นองค์ความรู้สำคัญในการศึกษาเรื่องความเป็นไปได้ในการตั้งสถานีวิจัยของมนุษย์บนดวงจันทร์ในอนาคต  โดยองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีนยังได้แบ่งตัวอย่างหินและดินจากดวงจันทร์ให้กับห้องวิจัยในหลายประเทศร่วมกันศึกษา เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สวีเดน  ออสเตรเลีย เป็นต้น

การจัดแสดงดินจากดวงจันทร์ จากภารกิจฉางเอ๋อ 5 นี้ เป็นความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติกับองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน และนับเป็นโอกาสพิเศษที่คนไทยจะได้ชมดินจากดวงจันทร์อย่างใกล้ชิด  ท่านที่สนใจสามารถร่วมชมได้ที่บูธสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ใน งาน อว. แฟร์ ระหว่างวันที่ 22-28 กรกฎาคม 2567  เวลา 09:00-20:00 น. ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ


บทความ/ภาพ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย

ข้อมูล : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

  • เสียงข่าวประจำวัน (21-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (21-11-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (21-11-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (20-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (20-11-2567)