เมืองฝูโจวเคยอยู่ในภาวะเตรียมพร้อมสำหรับการทำสงครามมาเป็นเวลานาน ทำให้มีการลงทุนขั้นพื้นฐานน้อย มีจุดเริ่มต้นทางเศรษฐกิจต่ำ และมีฐานอุตสาหกรรมที่อ่อนแอ ในช่วงทศวรรษ 1990 แห่งศตวรรษที่ 20 อุปกรณ์เครื่องมือของวิสาหกิจอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ในฝูโจวอยู่ในสภาพเก่าและล้าสมัย การพัฒนาของวิสาหกิจต้องเผชิญกับความยากลำบากมากมาย
“การรับโอนกิจการและการเปลี่ยนแปลงโดยทุนต่างประเทศถือเป็นแนวทางที่เหมาะสมสำหรับวิสาหกิจต่างๆ ในการหลุดพ้นจากปัญหา” นายสี จิ้นผิง สรุปประสบการณ์การปฏิรูปที่เกิดขึ้นจาก“กรณีถ่ายโอนโรงงานผลิตเบียร์ฝูโจว”เป็นตัวอย่าง แต่นี่เป็นเพียงการปฏิรูปรูปแบบหนึ่งเท่านั้น
“การปฏิรูปสามารถมีได้หลายรูปแบบ ต้องเก่งในการชี้ให้เห็นทิศทางตามแนวโน้มด้านต่างๆ รูปแบบไหนจะเป็นประโยชน์ต่อการเปลี่ยนแปลงกลไกการดำเนินงานและการฟื้นตัวของวิสาหกิจก็ลือกใช้รูปแบบนั้น” นายสี จิ้นผิงกล่าวเช่นนี้ในที่ประชุมสัมมนาเพื่อสำรวจข้อมูลประกอบการวิจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องจักรเก่าเมืองฝูโจวซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1993
หนึ่งเดือนต่อมา เขาได้ไปที่โรงงานเครื่องจักรฝูเจี้ยน โรงงานอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าฝูโจว โรงงานอุปกรณ์ไฟฟ้าอะคูสติกฝูโจว และ บริษัท ฝูโจว ต้าถง เอนเตอร์ไพรสซ์ จำกัด เป็นต้น เพื่อสำรวจข้อมูลประกอบการวิจัย
ในระหว่างการสำรวจ นายสี จิ้นผิง กล่าวว่า “ภายใต้สถานการณ์ใหม่ในปัจจุบันที่รัฐบาลกลางกำลังเสริมสร้างการควบคุมระดับมหภาค เราต้องคว้าโอกาสจากการเปิดประเทศ เร่งปฏิรูประบบสิทธิในทรัพย์สินอย่างจริงจัง นำเข้าเงินทุนต่างประเทศเพื่อการถ่ายโอนและการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมระบบร่วมหุ้นอย่างแข็งขัน ดำเนินมาตรการการปฏิรูปด้วยรูปแบบอันหลากหลาย เช่น การให้อำนาจการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจแก่ภาคเอกชน และการควบรวมกิจการ เป็นต้น รวมถึงการปรับโครงสร้างธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นทางออกพื้นฐานในการเร่งการพัฒนาวิสาหกิจอุตสาหกรรมของฝูโจว”
แต่เขาก็ได้เตือนทุกคนด้วยว่าต้องใส่ใจในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ที่ชอบด้วยกฎหมายของคนงานในวิสาหกิจที่ได้รับทุนสนับสนุนจากต่างประเทศ ปกป้องทรัพย์สินของรัฐ และป้องกันไม่ให้สูญหาย ต้องดำเนินการสำรวจ ลงมือปฏิบัติ สรุปประสบการณ์ และขยายผลสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ป้องกันข้อผิดพลาด ต้องเร่งสร้างระบบประกันสังคมที่สมบูรณ์ สร้างความมั่นใจในเสถียรภาพและความมั่นคงของสังคม ตลอดจนบรรลุการผสมผสานอย่างลงตัวระหว่างการปฏิรูป การพัฒนา และเสถียรภาพ
ปีนั้น ภายใต้การส่งเสริมของนายสี จิ้นผิง บริษัท ซินลี่เซิน จำกัดซึ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ได้ช่วยให้โรงงานพิมพ์และย้อมผ้าไหมฝูโจวหลุดพ้นจากหล่มแห่งการขาดทุนโดยสิ้นเชิง โรงงานเหล็กม้วนฝูโจวกับโรงงานเหล็กและเหล็กกล้าจี่หนานได้ดำเนินงานร่วมกัน และต่อมาได้เปลี่ยนจากความร่วมมือแบบหลวม ๆ มาเป็นความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ทั้งยังนำเข้าทุนต่างชาติและได้จัดตั้งวิสาหกิจแบบ “จีน-จีน- ต่างประเทศ”(หมายถึงบริษัทนี้มีทุนจีนที่มาจากสองมณฑลอันได้แก่ ฝูเจี้ยนและซานตงและมีทุนต่างประเทศด้วย) โรงงานกรดซัลฟิวริกฝูโจวได้ประสบความสำเร็จในการควบรวมกิจการของวิสาหกิจปลายน้ำสองแห่ง ซึ่งได้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน------
คำบรรยายภาพ : เดือนกันยายน ค.ศ. 2010 นายสี จิ้นผิงตรวจเยี่ยมชุมชนจินอันในเมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน (ภาพจากแฟ้มภาพ)
เมื่อการปฏิรูปเริ่มเห็นผล นายสี จิ้นผิงได้เสนอข้อกำหนดที่สูงยิ่งขึ้นสำหรับการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ
“จุดประสงค์ของการปฏิรูปคือการสร้างระบบวิสาหกิจที่ทันสมัย” เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1993 หลังเสร็จสิ้นการสำรวจวิสาหกิจสาขาอุตสาหกรรมและการคมนาคมขนส่ง นายสี จิ้นผิงเสนอให้“เลือกวิสาหกิจที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจํานวนหนึ่งเพื่อดําเนินโครงการนําร่องในการสร้างระบบวิสาหกิจที่ทันสมัย และเลือกวิสาหกิจที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวหนึ่งหรือสองแห่งเพื่อดําเนินการนําร่อง”
เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1994 นายสี จิ้นผิงชี้ให้เห็นในระหว่างการสำรวจวิสาหกิจอุตสาหกรรมของทั้งเมืองฝูโจวว่า การกระตุ้นให้รัฐวิสาหกิจมีชีวิตชีวานั้นจะต้องดำเนินการให้ดีใน 3 ประการ ได้แก่ ทีมงาน ทิศทาง และเงินทุน “หากวิสาหกิจหนึ่งไม่มีทีมผู้นำใหม่ที่สามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและมุ่งมั่นที่จะแสวงหาความก้าวหน้า ก็ยากที่จะนำพาวิสาหกิจให้อยู่รอดในตลาดที่มีการการแข่งขันอันรุนแรง ส่วนทิศทางก็คือต้องเลือกผลิตภัณฑ์หลักให้ดี การมีผลิตภัณฑ์หลักของตัวเองเท่านั้นจึงจะสามารถอยู่รอดได้ในตลาดที่มีการแข่งขันอันดุเดือด หน่วยงานกำกับดูแลมีหน้าที่ช่วยเหลือวิสาหกิจในการแก้ไขปัญหาทั้งสองประการนี้ให้ดี ในส่วนของเงินทุนนั้น ถือเป็นปัญหาทั่วไปที่สร้างความยากลำบากให้กับรัฐวิสาหกิจ ทางออกในการแก้ไขปัญหาเงินทุนนั้นไม่สามารถพึ่งพาสินเชื่อจากธนาคารได้ทั้งหมด แต่ควรทุ่มเทสรรพกำลังมากยิ่งขึ้นในการดึงการลงทุนและการประสานความร่วมมือภายใน”
โดยมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาระบบวิสาหกิจให้ทันสมัย “เจี้ยนจ่ง”(กลุ่มบริษัทซานมู่)ซึ่งปีนั้นได้กลายเป็นบริษัทนำร่องในการปฏิรูประบบร่วมหุ้นของรัฐวิสาหกิจภายใต้การส่งเสริมของนายสี จิ้นผิง ได้ผลักดันการสร้างระบบต่างๆอย่างแข็งขัน เช่น บริษัทได้กำหนดหลักนโยบายอันได้แก่ “บุคลากรทุกคนต่างมีโอกาสแสดงฝีมืออย่างเต็มที่ พนักงานทุกคนต่างทำผลงานให้ดีที่สุด กำหนดเงินเดือนตามตำแหน่งงานอย่างชัดเจน เลือกงานได้อย่างอิสระ และแบ่งระดับการจ้างงาน” และกำหนดค่าจ้างทักษะการทำงานตามตำแหน่ง ความรับผิดชอบ ความเข้มข้นของการทำงาน และสภาพงานที่แตกต่างกัน รวมถึงดำเนินการประกันสังคมหลายประการ เช่น ประกันเงินบำนาญหลังเกษียณ และประกันการว่างงาน เป็นต้น ซึ่งได้ขจัดความกังวลต่ออนาคตของพนักงานในขั้นพื้นฐาน------
แนวปฏิบัติเหล่านี้ยังคงมีความหมายสำหรับการเรียนรู้และนำมาปรับใช้ในปัจจุบัน
“ด้วยการสนับสนุนของนายสี จิ้นผิง สามารถกล่าวได้ว่าในมณฑลฝูเจี้ยนเราเป็นผู้บุกเบิกการนำระบบวิสาหกิจสมัยใหม่ไปปฏิบัติ บริษัทเราเป็นบริษัทแรกที่ดำเนินการปฏิรูประบบร่วมหุ้น เป็นบริษัทแรกที่ดำเนินการควบรวมกิจการและการปรับโครงสร้างองค์กร เป็นบริษัทแรกที่ดำเนินการโอนหุ้นนิติบุคคลตามสัญญาและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และเป็นรายแรกที่ก่อตั้งกลุ่มบริษัท รวมทั้งเป็นบริษัทแรกได้สั่งสมประสบการณ์มากมายในการดำเนินธุรกิจและการบริหารจัดการวิสาหกิจสมัยใหม่” นายเฉิน เหว่ยฮุย ผู้จัดการใหญ่ของ“เจี้ยนจ่ง”กล่าว
ในช่วงหลายปีต่อมา หลังจากมีการนำกลไกการเปลี่ยนแปลงที่หลากหลายมาใช้ เช่น ระบบร่วมหุ้น บริษัทจำกัด ให้อำนาจการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจแก่ภาคเอกชน การเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว การร่วมทุน การเช่าซื้อ การลดขนาดและการควบรวมกิจการ เป็นต้น ทำให้รัฐวิสาหกิจหลักๆของฝูโจวส่วนใหญ่ได้ตั้งเป็นระบบวิสาหกิจสมัยใหม่ในขั้นต้น
IN/LU