แพนด้ายักษ์ เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของจีน โดยทําหน้าที่เป็นทูตสันถวไมตรีของจีนเดินทางไปต่างประเทศหลายต่อหลายครั้ง และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างจีนกับประเทศต่าง ๆ
จีนเริ่มดำเนิน "การทูตแพนด้า" ตั้งแต่ทศวรรษ 1950 โดยมอบแพนด้ายักษ์เป็นของขวัญประจําชาติในนามของรัฐบาลและประชาชนจีนให้กับประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตที่ดีกับจีน ในช่วง 26 ปีระหว่างปี 1957 ถึง 1982 จีนได้มอบแพนด้ายักษ์จำนวน 24 ตัวให้แก่ 9 ประเทศ ได้แก่ สหภาพโซเวียต เกาหลีเหนือ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น สเปน และเม็กซิโก
ประเทศแรกที่รับของขวัญเป็นแพนด้ายักษ์จากสาธารณรัฐประชาชนจีนคือ สหภาพโซเวียต โดยจีนได้มอบแพนด้ายักษ์ชื่อว่า “ผิงผิง” และ“อันอัน” ให้สหภาพโซเวียตเป็นของขวัญประจําชาติในปี 1957 และปี 1959 ตามลำดับ
ชื่อแพนด้ายักษ์ “ผิงผิง” มีความหมายว่า ราบรื่น และชื่อ “อันอัน” มีความหมายว่า สงบสุข ชื่อแพนด้ายักษ์คู่นี้แสดงให้เห็นถึงความปรารถนาอันดีงามของจีนที่มีต่อ
ประเทศเพื่อนบ้าน
ในช่วงระหว่างปี 1965 ถึงปี 1980 จีนได้เคยมอบแพนด้ายักษ์จำนวน 5 ตัวให้กับสาธารณรัฐประชาชนเกาหลีประเทศเพื่อนบ้านอีกประเทศหนึ่งของจีน
ย้อนกับไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 1972 ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่เดินทางมาเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ในช่วงการเยือนครั้งนี้ นายโจว เอินไหล นายกรัฐมนตรีของจีนในเวลานั้นประกาศว่า จีนจะมอบแพนด้ายักษ์คู่หนึ่งเป็นของขวัญระดับชาติให้แก่สหรัฐฯ 2 เดือนให้หลังคือ เดือนเมษายนปีเดียวกัน แพนด้ายักษ์ “ซิงซิง” และ “หลิงหลิง” เดินทางไปยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยชาวอเมริกันจำนวน 8,000 คนฝ่าฝนไปต้อนรับแพนด้ายักษ์คู่นี้ เฉพาะเดือนแรกของการเปิดตัว “ซิงซิง” และ “หลิงหลิง” ก็มีผู้ชมมากกว่าหนึ่งล้านคนแห่กันไปชมแพนด้ายักษ์คู่นี้ที่สวนสัตว์แห่งชาติของสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน แพนด้ายักษ์กลายเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างจีนกับสหรัฐฯ
ความร่วมมือในการอนุรักษ์แพนด้ายักษ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ เกิดขึ้นก่อนการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ ตลอดเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมา แพนด้ายักษ์ยังคงอยู่ในสหรัฐอเมริกา พร้อมกับเด็กอเมริกันหลายชั่วอายุคนให้เติบโตอย่างมีความสุข เมื่อวันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 2022 สวนสัตว์แห่งชาติของสหรัฐฯในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้จัดกิจกรรมฉลองครบรอบ 50 ปีการไปถึงสหรัฐฯของแพนด้ายักษ์
เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายเซี่ย เฟิง เอกอัครราชทูตจีนประจําสหรัฐอเมริกาประกาศว่า จีนและสหรัฐอเมริกาจะดำเนินความร่วมมือรอบใหม่ในการอนุรักษ์แพนด้ายักษ์ โดยจีนจะจัดส่งแพนด้ายักษ์อีก 2 ตัวที่เกิดในปี 2021 เป็นทูตคนใหม่ของจีนไปประจำสหรัฐฯ ในปลายปีนี้
ท่านทูตเซี่ย เฟิง ยังระบุด้วยว่า ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมาจีนและสหรัฐฯได้ดำเนินความร่วมมือในการอนุรักษ์และเพาะพันธุ์แพนด้ายักษ์ และได้ประสบความสำเร็จในการป้องกัน การวินิจฉัย และการรักษาโรคของแพนด้ายักษ์ อีกทั้งให้การศึกษาสู่สาธารณชน ซึ่งทำให้ความร่วมมือในการอนุรักษ์แพนด้ายักษ์ระหว่าง 2 ประเทศได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และได้เพิ่มพูนมิตรภาพระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ ความร่วมมือรอบใหม่ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะมุ่งเน้นไปที่การป้องกันและรักษาโรคที่สําคัญของแพนด้ายักษ์ และเสริมสร้างการปกป้องที่อยู่อาศัยของแพนด้ายักษ์ รวมทั้งการอนุรักษ์แพนด้ายักษ์ป่า
หลังจากจีนดำเนินการปฏิรูปและการเปิดประเทศเมื่อทศวรรษปี 1980 จีนได้หยุดการมอบแพนด้ายักษ์เป็นของขวัญให้กับต่างประเทศ แทนที่เป็นการจัดโชว์แพนด้ายักษ์เชิงพาณิชย์ โดยอนุญาตให้สวนสัตว์ต่างประเทศเช่าแพนด้ายักษ์จากจีนไปโชว์ที่ต่างประเทศเป็นการชั่วคราว
เมื่อปี 1984 ก่อนเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่เมืองลอสแองเจลิสของสหรัฐฯ จีนได้จัดส่งแพนด้ายักษ์ "หย่งหย่ง" และ "อี๋งซิน" จากสวนสัตว์ปักกิ่งไปทัวร์สหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อแสดงการสนับสนุนของจีนต่อการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ลอสแองเจลิส จากสถิติพบว่า สวนสัตว์ในสหรัฐอเมริกาได้สร้างรายได้จากตั๋วชมแพนด้ายักษ์ถึงหลายสิบล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาเพียง 2-3 เดือน นี่คือจุดเริ่มต้นของการทัวร์ต่างประเทศของแพนด้ายักษ์
ต่อมาภายหลัง แพนด้ายักษ์ในสวนสัตว์ต่าง ๆ ของจีนก็พากันเดินทางไปเยือนต่างประเทศในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนหรือนานถึงหนึ่งปี ประเทศดังกล่าวรวมแคนาดา ไอร์แลนด์ สวีเดน และเบลเยียม เป็นต้น ทว่านโยบายการให้แพนด้ายักษ์ไปทัวร์ต่างประเทศก่อให้เกิดการจับแพนด้ายักษ์เพื่อส่งออก และส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการปกป้องแพนด้ายักษ์ ประกอบด้วยจํานวนประชากรแพนด้ายักษ์ลดลงอย่างมาก จีนจึงหยุดให้แพนด้ายักษ์ไปทัวร์ต่างประเทศเชิงพาณิชย์แทนทีดำเนินโครงการความร่วมมือเพื่อการเพาะพันธุ์ของแพนด้ายักษ์
ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ฉบับปี 1975 สวนสัตว์ต่างประเทศสามารถได้แพนด้ายักษ์เฉพาะแบบยืม-เช่าในนามของการแลกเปลี่ยนเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าแห่งชาติของจีนและสมาคมสวนสัตว์จีนได้ทำข้อตกลงกับองค์การพิทักษ์สัตว์ระหว่างประเทศว่า จีนสามารถจัดส่งแพนด้ายักษ์ที่แข็งแรงและสมบูรณ์ไปยังประเทศอื่น ๆ เป็นเวลา 10 ปีเพื่อการวิจัยแบบร่วมมือกัน ในช่วงนี้ ลูกหลานของแพนด้ายักษ์ที่เกิดในต่างประเทศจะเป็นของจีน หากแพนด้ายักษ์ตายโดยไม่คาดคิด ศพแพนด้ายักษ์ก็จะส่งให้จีนด้วย นอกจากนี้จีนสามารถส่งบุคลากรด้านเทคนิคไปทํางานร่วมกับฝ่ายต่างประเทศเพื่อทําการวิจัยเกี่ยวกับแพนด้ายักษ์ และฝ่ายต่างประเทศจะจ่ายเงินให้ฝ่ายจีนปีละประมาณ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อแพนดาร์ยักษ์ตัวหนึ่ง รวมแล้วคิดเป็น 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐในระยะเวลา 10 ปี
ปี 1994 ฐานวิจัยการเพาะพันธุ์แพนด้ายักษ์เฉิงตูของจีนได้จัดส่งแพนด้ายักษ์คู่หนึ่งไปยังสวนสัตว์วาคายามะของญี่ปุ่นถือเป็นจุดเริ่มต้นของแพนด้ายักษ์ที่เดินทางไปต่างประเทศเพื่อทําการวิจัยแบบร่วมมือ
(YING/ZHOU)