“รูปธรรมที่น่าสนใจ 2 เรื่องเกี่ยวกับการสร้างระบบนิเวศสีเขียวของจีน”

2024-08-20 10:54:46 | CMG
Share with:

โดย รศ.วิภา อุตมฉันท์

ตั้งแต่สีจิ้นผิงขึ้นมาเป็นผู้นำ  ก็โปรโมทแต่เรื่องสิ่งแวดล้อมสีเขียวเพื่อสู้กับปัญหา “โลกร้อนและโลกเดือด” คำขวัญที่ออกมากระตุ้นความตื่นตัวของประชาชนมีมากมาย เช่น ถ้าช่วยกันทำให้ป่าไม้เป็นสีเขียวแหล่งน้ำใสสะอาด  มันจะกลายเป็นเงินเป็นทองให้เราใช้ได้ไม่รู้จักหมด “ระบบนิเวศสีเขียว” หรือ “สิ่งแวดล้อมสีเขียว” ของจีนดำเนินการกันมานับสิบปี  เราเองก็ได้ยินมามาก  แต่ส่วนใหญ่เป็นนามธรรมบ้าง เป็นเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีชั้นสูงที่คนธรรมดาอย่างเรามักจินตนาการไม่ออก  วันนี้จึงขอยกตัวอย่างผลของความพยายามสร้างระบบนิเวศสีเขียวของจีน  ที่เห็นได้เป็นรูปธรรมง่าย ๆ มาให้ดูสัก 2 เรื่อง

1. การทำให้ระบบนิเวศเป็นสีเขียวจะช่วยให้สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเขตรอยต่อระหว่างปักกิ่งกับเทียนสินซึ่งมีสภาพเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland) ขนาดใหญ่ที่สุด เรียกว่าแหล่งชุ่มน้ำ “ชีหลีไห่”  เคยเป็นเสมือนปอดให้อ๊อกซิเจนแก่ชาวปักกิ่ง-เทียนสินใช้หายใจ  แต่ด้วยเหตุที่ขาดการอนุรักษ์รักษา  ชี่หลี่ไห่ก็ค่อย ๆ กลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรมน้ำเน่าเสีย จนกระทั่ง 7 ปีที่ผ่านมานี้เองเมื่อโครงการอนุรักษ์ชีหลี่ไห่เริ่มต้นขึ้น  นักธรณีวิทยาพบว่า ใต้พื้นน้ำของชีหลี่ไห่ เป็นผืนดินโบราณที่มีเปลือกหอยทับถมอยู่เต็มไปหมด  แสดงว่าที่นี่เคยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำกุ้งหอยปูปลาเป็นจำนวนมาก ต่อมาเมื่อชาวบ้านพากันมาจับจองปักปันพื้นที่เพื่อนำไปใช้เพาะเลี้ยงปลา ซ้ำยังหันมาสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ เพื่อให้ชี่หลี่ไห่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพราะชี่หลี่ไห่ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงจะมีธรรมชาติที่งดงามมาก  จากนั้นความไร้ระเบียบต่าง ๆ ก็เกิดขึ้น ฝูงนกที่เคยบินมาตามฤดูกาลลดน้อยลงเรื่อย ๆ  ทางการต้องใช้โดรนบินขึ้นสำรวจสภาพป้องกันการทำลายระบบนิเวศของชีหลีไห่อยู่ตลอดเวลา ผลปรากฏว่าเมื่อระบบนิเวศได้รับการแก้ไขตรวจตราเป็นประจำ  จำนวนนกที่อพยพมาอยู่ที่ชีหลี่ไห่ก็เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ  10 ปีผ่านไป มีนกมาหากินอยู่ที่นี่ถึง 256 ชนิด ระดับความชุ่มน้ำก็สูงขึ้นถึง 60%

ยกตัวอย่างสัตว์ที่น่ารักอีกชนิดหนึ่งที่คนไทยรู้จักดี  นั่นคือหมีแพนด้า แพนด้าส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในมณฑลเสฉวน  เป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์อายุกว่า 8 ล้านปี  คนจีนเรียกแพนด้าด้วยความภูมิใจว่า “ฟอสซิลที่มีชีวิต” ข้อเสียของมันก็คือ  มันกินแต่ไผ่เป็นอาหารอย่างเดียว  เมื่อมนุษย์เริ่มบุกเบิกพื้นที่เอาไปทำเหมืองแร่กว้างขึ้นเรื่อย ๆ  ไม้ไผ่ซึ่งเป็นอาหารของมันก็ร่อยหรอลง  จนทางการต้องสั่งห้ามตัดไม้ในเขตอนุรักษ์ ปลูกไผ่เพิ่มขึ้น  แล้วโยกย้ายแพนด้ามาให้มนุษย์เลี้ยงดู  จีนให้ค่ากับหมีแพนด้าสูงมาก  ถึงขนาดใช้เป็นมันเป็นสัญลักษณ์แทนมิตรไมตรีระหว่างประเทศ  ใครได้รับหมีแพนด้าไปก็จะทะนุถนอมเลี้ยงดูอย่างดี  เมื่อหมีแพนด้ามีลูกยังต้องส่งลูกอ่อนคืนให้จีนด้วย  แต่จากการถนอมกล่อมเลี้ยงอย่างดี  ปัจจุบันมีข่าวจีนเริ่มปล่อยหมีแพนด้ากลับคืนสู่ป่าบ้างแล้ว

2.จากเรื่องนกเรามาดูเรื่องใกล้ตัวเราที่ขอบอกเลยว่า ถ้าเมืองไทยเราทำได้ผู้เขียนจะเข้าแถวใช้บริการเป็นคนแรกทันที  เราต้องยอมรับว่ามนุษย์เป็นผู้ผลิตขยะที่ยอดเยี่ยม  ทั้งขยะเสีย ๆ เหม็น ๆ ไร้ประโยชน์  และขยะที่ยังมีประโยชน์ประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า ซึ่งยังใช้งานได้ถ้ามีการซ่อมแซมสักนิด  แต่เรามักทำเองไม่ได้จึงจำใจทิ้งไปหรือขายให้รถรับซื้อของเก่าไปในราคาถูกเพื่อไม่ให้เกะกะบ้าน  แต่ที่จีนเขาได้ริเริ่มโครงการนำเครื่องใช้ไม้สอยหรือเครื่องจักรเก่าไปแลกกับของใหม่ให้กับโรงงาน  โดยรัฐให้การอุดหนุนโรงงานที่รับซื้อเหล่านั้นทางด้านเงินทุน หรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ด้วยวิธีนี้ชาวบ้านที่เป็นเจ้าของเครื่องใช้เก่าก็ได้เปลี่ยนเป็นเครื่องใช้ใหม่ที่ไฮเทคกว่าเก่า  ประหยัดไฟ  ไม่ก่อมลพิษ  ส่วนโรงงานก็เอาเครื่องจักรที่รับซื้อไปอัพเกรดให้เป็นเทคโนโลยีใหม่ยิ่งขึ้นกว่าเก่า  ปัจจุบันการผลิตด้านการเกษตรก็ดี  การคมนาคมเช่นรถยนต์ไฟฟ้าอีวีก็ดี ล้วนยินดีเข้าสู่การยกระดับมาตรฐานด้วยวิธีดังกล่าว  ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐที่สัญญาว่า จะปล่อยก๊าซคอร์บอนไดออกไซค์สู่อากาศสูงที่สุดภายในปี 2030  นี้

  • เสียงข่าวประจำวัน (26-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (26-11-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (26-11-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (25-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (25-11-2567)