วันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 2002 นายสี จิ้นผิง เดินทางไปยังอำเภออู่ผิง เมืองหลงเหยียน มณฑลฝูเจี้ยน เพื่อติดตามงานด้านการเกษตร อู่ผิงเป็นหนึ่งในอำเภอของฝูเจี้ยนที่อยู่ห่างจากเมืองฝูโจวซึ่งเป็นเมืองเอกของมณฑลฝูโจวมากที่สุด ในขณะนั้นยังไม่มีทางด่วนเปิดให้บริการ การนั่งรถจากฝูโจวไปยังอู่ผิงจำเป็นต้องใช้ทางหลวงทั้งระดับชาติและระดับมณฑลและต้องใช้เวลาทั้งวัน ถึงกระนั้นก็ตาม นี่เป็นการเยือนอู่ผิงครั้งที่สี่ของนายสี จิ้นผิงในรอบกว่าสองปีนับตั้งแต่เขาเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการมณฑล ในช่วงเย็น นายเหยียน จินจิ้ง เลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำอำเภออู่ผิงได้เดินทางไปที่โรงแรมที่พักของนายสี จิ้นผิง เพื่อรายงานการปฏิบัติงาน
นายเหยียน จินจิ้งรายงานเกี่ยวกับการปฏิรูปที่กำลังดำเนินการในอำเภออู่ผิงทีละเรื่อง ซึ่งรวมถึงการปฏิรูประบบกรรมสิทธิ์ป่าไม้ส่วนรวม (ต่อไปนี้จะเรียกย่อๆว่า “การปฏิรูปป่าไม้”)
การรายงานครั้งนี้ใช้เวลานานมาก นายสี จิ้นผิงรับฟังด้วยความตั้งใจโดยตลอด และไม่ได้พูดอะไรจนการรายงานจะจบลง------“การปฏิรูปป่าไม้” ถูกนายสี จิ้นผิง “หยิบยก” ขึ้นมาอย่างเฉียบคมว่า “ทิศทางของ 'การปฏิรูปป่าไม้' ถูกต้องแล้ว กุญแจสำคัญคือการขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างจริงจังเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างแท้จริง!”
ฝูเจี้ยนเป็นมณฑลที่มี “ภูเขาเยอะ ป่าไม้เยอะ และต้นไม้เยอะ” และขึ้นชื่อว่ามีสภาพภูมิศาสตร์แบบ “แปดภูเขาหนึ่งน้ำหนึ่งทุ่งนา” ตั้งแต่สมัยโบราณ ชาวฝูเจี้ยนอาศัยภูเขาหาเลี้ยงชีพ ภูเขาและป่าไม้ได้รับการขนานนามว่าเป็น “คลังสมบัติสีเขียว”
อย่างไรก็ตาม ในช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990 แห่งศตวรรษที่ 20 การพัฒนาอุตสาหกรรมป่าไม้ของฝูเจี้ยนเผชิญกับความยากลำบากต่างๆ ทำให้เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ป่าส่วนใหญ่ดำรงชีวิตอยู่อย่างยากจนแม้จะใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลาง “ภูเขาทองภูเขาเงิน” ก็ตาม
ฝูเจี้ยนเป็นพื้นที่ป่าส่วนรวมทางตอนใต้ของจีน แต่ปัญหาเกิดขึ้นก็เพราะอักษรสองตัวอันได้แก่ “ส่วนรวม”นั่นเอง
คําบรรยายภาพ : วันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1989 นายสี จิ้นผิงเข้าร่วมการประชุมงานป่าไม้เขตหนิงเต๋อมณฑลฝูเจี้ยน
ภายใต้สถานการณ์ใหญ่ของเศรษฐกิจแบบวางแผน (ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม)ไม่มีการกำหนดอย่างชัดเจนเกี่ยวกับผู้ถือกรรมสิทธิ์ป่าไม้ส่วนรวม เกษตรกรที่อยู่ในป่าในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์ป่าไม้ส่วนรวมที่แท้จริงถูกละเลย ความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ป่าไม้ส่วนรวมจึงขาดความชัดเจน กลไกการทำงานไม่คล่องตัว และการแบ่งปันรายได้ไม่สมเหตุสมผล นำมาซึ่งสถานการณ์“ความยากลำบาก 5 ประการ”อันได้แก่ “ยากที่จะห้ามปรามการตัดไม้ทำลายป่าตามอำเภอใจ ยากที่จะระดมสรรพกำลังเพื่อดับไฟป่าอย่างทันท่วงที ยากที่จะจัดสรรเงินทุนเพื่อการปลูกป่า ยากที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมป่าไม้ และยากที่จะสร้างผลประโยชน์จากภูเขาเขียวสำหรับชาวนาแม้จะเป็นเจ้าถิ่นก็ตาม โดย “การตัดไม้ทำลายป่าตามอำเภอใจ”นั้นถือเป็นปัญหาที่ร้ายแรงที่สุด
ในยุคที่ป่าไม้ส่วนรวมถูกนำมาจัดการอย่างรวมศูนย์นั้น เกษตรกรที่อยู่ในป่าขาดสิทธิในการหารายได้ แต่กลับต้องแบกภาระความรับผิดชอบในการบริหารจัดการป่าไม้ส่วนรวม เป็นผลให้ไม่มีใครเต็มใจที่จะบริหารจัดการ และการตัดไม้อย่างผิดกฎหมายกลายเป็นเรื่องปกติและเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ายากที่จะห้ามปรามได้
ในเวลานั้น การปฏิรูปชนบทกำลังพัฒนาในเชิงลึกทั่วประเทศ การรับเหมาดำเนินการผลิตของครัวเรือนได้กลายเป็นระบบการดำเนินการขั้นพื้นฐานสำหรับพื้นที่ที่เป็นทุ่งนาในชนบท เหลือเพียงพื้นที่ป่าพื้นที่ภูเขาอันกว้างใหญ่เท่านั้นที่ยังคงใช้ระบบกรรมสิทธิ์ป่าไม้และวิธีจัดการแบบดั้งเดิม
นานมาแล้วเมื่อครั้งนายสี จิ้นผิงเป็นผู้บริหารสูงสุดของเขตหนิงเต๋อมณฑลฝูเจี้ยนนั้นเขาก็เริ่มมีแนวคิดที่จะปฏิรูปอุตสาหกรรมป่าไม้แล้ว ในบทความเรื่อง “การพัฒนาภาคตะวันออกของฝูเจี้ยนให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นอยู่กับ“ป่าไม้” – ขอพูดถึงหนึ่งประเด็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกของมณฑลฝูเจี้ยน”ที่เขียนเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1980 นั้น นายสี จิ้นผิงชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า “จะคว้าโอกาสและผลักดันอุตสาหกรรมป่าไม้ในภาคตะวันออกของมณฑลฝูเจี้ยนให้ขึ้นสู่ระดับที่สูงยิ่งขึ้นได้อย่างไร? ประการแรก ต้องมีแนวคิดชี้นำที่ชัดเจน ซึ่งก็คือ ปฏิรูปอุตสาหกรรมป่าไม้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น รณรงค์ให้ทุกฝ่ายมีความกระตือรือร้นอย่างเต็มที่ และเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาอุตสาหกรรมป่าไม้โดยพึ่งพาตนเอง ประการที่สอง ถือป่าไม้เป็นหลัก เสริมสร้างการบริหารจัดการและการป้องกัน พัฒนาในทุกมิติ เร่งการปลูกป่า และยกระดับประสิทธิผลโดยรวมของอุตสาหกรรมป่าไม้ และประการที่สาม ระดมสรรพกำลังทั้งสังคมอย่างกว้างขวางเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมป่าไม้ขนานใหญ่ และหลอมรวมการพัฒนาอุตสาหกรรมป่าไม้ให้เข้ากับการผลิตอาหาร การส่งออกสินค้าเพื่อสร้างรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ การบรรเทาความยากจนและการสร้างสรรค์อารยธรรมทางเจตคติอย่างใกล้ชิด เมื่อพิจารณาจากแนวคิดชี้นำดังกล่าว ความต้องการพื้นฐานสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมป่าไม้ในภาคตะวันออกของฝูเจี้ยนนั้นมีจุดเน้นสามประการอันได้แก่ ทุ่มเทสร้างความเข้าใจให้เกิดแนวคิดที่ตรงกัน ระดมเงินทุนจากช่องทางต่างๆ และดำเนินการตามมาตรการในการบริหารจัดการ การป้องกัน และการพัฒนา เพื่อแก้ไขปัญหาความยากลำบากที่สำคัญสองประการ ซึ่งก็คือ นโยบายและระบบอุตสาหกรรมป่าไม้และ “กรรมสิทธิ์เหนือภูเขาที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ” ตลอดจนยกระดับประสิทธิผลสามด้านทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และระบบนิเวศ”
IN/LU