“จีนเร่งดึงดูดมันสมองชั้นเลิศของจีนที่อยู่ในประเทศต่าง ๆ ให้กลับมาช่วยสร้างชาติ”

2024-10-16 10:27:36 | CMG
Share with:

โดย รศ.วิภา อุตมฉันท์

เช้านี้ได้ฟังข่าวว่าสิงคโปร์เตรียมออกมาตรการใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดนักวิทยาศาสตร์ต่างชาติให้ไปทำงานในสิงคโปร์  ข้อเสนอมีทั้งการให้เงินเดือนสูง ๆ การให้วีซ่าพิเศษ 5 ปีสำหรับสมาชิกทั้งครอบครัวบินไปบินกลับได้อย่างอิสระ  สิงคโปร์มีประชากรน้อย  ที่ไปศึกษาและเป็นผู้เชี่ยวชาญอยู่ต่างประเทศก็คงยิ่งน้อย  การเสนอเงื่อนไขพิเศษให้กับคนต่างชาติระดับมันสมอง “สำเร็จรูป” ให้มาช่วยงาน จะเรียกว่าเป็นการซื้อตัวมาโดยวิธีทางลัดก็คงไม่ผิด

แต่ละประเทศจะใช้วิธีการใดก็ตาม  ต้องยอมรับว่านี่คือแนวโน้มใหม่ที่หลาย ๆ ประเทศในโลกพยายามใช้เพื่อสร้างคลังสมองชั้นเยี่ยมในการพัฒนาประเทศ  แน่นอนในที่นี้ย่อมมี “จีน” รวมอยู่ด้วย  เพราะตั้งแต่จีนเปิดประเทศเป็นต้นมา  คนจีนที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศมีเป็นจำนวนมาก  อาศัยสิ่งแวดล้อมการทำงานที่ดี เงินเดือนดี ความเป็นอยู่ดี เมื่อเรียนจบส่วนใหญ่จะปักหลักปักฐานตั้งรกรากอยู่ที่นั่นไม่คิดจะกลับประเทศ  มีบางคนทำงานให้นายจ้างจนได้ดี  ได้รับยกย่องให้เป็นบุคคลดีเด่นระดับแนวหน้าของประเทศเสียด้วยซ้ำ  เรื่องนี้ทางการจีนก็รู้และรู้สึกเสียดาย  เพราะบุคลากรที่มีความรู้จากประเทศจีนเป็นแหล่งที่มาสำคัญของทรัพยากรที่มีค่ายิ่ง   รัฐบาลจีนได้ใช้ความพยายามหลากหลายอย่างมาจูงใจให้พลเมืองจีนที่มีความรู้ความสามารถกลับมารับใช้ชาติ แต่ต้องยอมรับว่าได้รับการตอบสนองไม่มาก    ตราบจนเมื่อศูนย์กลางพรรคฯได้ประกาศมติเกี่ยวกับ “การปฏิรูปลงลึกอีกขั้นหนึ่งเพื่อผลักดันความทันสมัยแบบจีน” ในการประชุมสมัชชาพรรคฯสมัยที่ 18 ที่ผ่านมา  ความพยายามที่จะดึงและดันมันสมองชั้นนำของจีนกลับมารับใช้ชาติจึงได้รับความเอาใจใส่อย่างเป็นรูปธรรมจากรัฐบาลเป็นพิเศษ 

การจูงใจบุคลากรที่ “เก่งกาจแต่ขาดแคลน” ให้กลับมาช่วยพัฒนาประเทศ  หากทำได้จะให้ผลเห็นทันตา  แต่เมื่อได้มาแล้วจะทำอย่างไรจึงจะรักษาพวกเขาไว้ได้  ให้เขาทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ  เรื่องนี้ รัฐบาลพยายามคิดค้นมาตรการต่าง ๆ ในการโน้มน้าวใจอย่างเหมาะสม เช่น   สร้างสิ่งแวดล้อมการทำงานที่เหมาะกับลักณะเฉพาะของงานแต่ละคน  สร้างบรรยากาศการทำงานที่ดี  เปิดโอกาสให้พวกเขาสามารถแสดงศักยภาพของตนโดยไม่มีอุปสรรค  กล้าคิด กล้าทำ  กล้าสร้างสรรค์  ไม่กลัวความล้มเหลว ฯลฯ

บุคลากรชั้นสูงจากต่างประเทศเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่แต่ละประเทศพากันแย่งชิง   การจะรักษาพวกเขาไว้ได้  จึงต้องสร้างหลักประกันให้พวกเขาอย่างสมบูรณ์  เช่น การให้สิทธิพิเศษทางภาษี   การให้ค่าตอบแทนที่สูง ให้ความสะดวกในการเดินทางเข้าออกจากประเทศแก่ทุกคนในครอบครัว โดยเฉพาะในกรณีที่สมาชิกในครอบครัวบางคนยังอยู่ต่างประเทศ   เพื่อช่วยให้พวกเขาหมดความกังวลและมีจิตใจที่สงบในการทำงาน  รับฟังความคิดเห็นของพวกเขา  เอาใจใส่ต่อสุขภาพทั้งกายและใจของพวกเขาอย่างสม่ำเสมอ

ประการสุดท้ายที่ขาดไม่ได้  คือการสร้างความเชื่อมโยงความสามารถทางกายภาพของพวกเขาให้เข้ากับความคิดทางการเมือง  จะทำอย่างไรให้คนเหล่านั้นมองเห็นว่า  เป้าหมายและความความมุ่งมั่นในการทำงานของพวกเขา อยู่ที่การสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศชาติเป็นหลัก  เฉกเช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์รุ่นก่อน ๆ ที่ตัดสินใจเดินทางกลับปิตุภูมิ เพื่ออุทิศตนให้กับภารกิจสร้างชาติในสมัยหลังปฏิวัติใหม่ ๆ เช่น “นายเฉียนเสวียเซิง” นักวิทยาศาสตร์ด้านปรมาณูเดินทางกลับประเทศทันทีหลังจีนปลดปล่อย  ความรู้ความสามารถทางวิทยาศาสตร์ที่พวกเขามีอยู่ คือคุณปูการที่พวกเขาควรจะต้องใช้เพื่ออุทิศตนให้กับประเทศชาติเป็นสำคัญ

(ไทยเราก็ตั้งเป้าหมายกระตุ้นการศึกษาของเด็กไทยเหมือนกัน  ด้วยคำขวัญว่า ......  “เรียนดีมีสุข” ซึ่งฟังดูทั้งโหวงเหวง  ไร้ทิศทาง และไร้เป้าหมายในการปฏิบัติอย่างสิ้นเชิง ! )

  • เสียงข่าวประจำวัน (26-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (26-11-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (26-11-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (25-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (25-11-2567)