หลังดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลฝูเจี้ยน นายสี จิ้นผิงได้ทำการสำรวจพื้นที่ป่าเชิงลึกหลายครั้ง เพื่อทราบถึงความยากลำบากที่อุตสาหกรรมป่าไม้ของฝูเจี้ยนเผชิญและความคาดหวังของประชาชน
“เราต้องพิจารณาประเด็นการพัฒนาอุตสาหกรรมป่าไม้ เนื่องจากซาเซี่ยนเป็นอำเภอที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรป่าไม้ นอกจากต้องทำให้เกิดผลประโยชน์ทางนิเวศวิทยาของป่าไม้แล้ว ยังควรทำให้ป่าไม้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้วย เพื่อดำเนินการกับป่าไม้ในฐานะอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง” นายสี จิ้นผิง กล่าวเช่นนี้ในระหว่างตรวจเยี่ยมอำเภอซาเซี่ยนเมื่อปี ค.ศ.1996
เห็นได้ชัดว่านายสี จิ้นผิงมีความคิดที่ลึกล้ำกว่านั้นในเรื่องนี้------“การปฏิรูปป่าไม้”เพื่อปรับเปลี่ยนระบบ ขณะเดียวกันยิ่งเป็นการตอบสนองต่อ “ความคาดหวังของประชาชน”
วันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1998 ระหว่างเดินทางจากฝูโจวไปยังหลงเหยียนเพื่อสำรวจข้อมูลประกอบการวิจัย นายสี จิ้นผิงได้พูดคุยประเด็น “ที่ดินเกี่ยวข้องกับความรู้สึกของประชาชน”อย่างตรงไปตรงมากับผู้ร่วมเดินทางซึ่งรวมถึงนายหวง เจี้ยนซิง ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลฝูเจี้ยนว่า “การเปลี่ยนสังคมศักดินาในราชวงศ์ของจีนซึ่งกินเวลาหลายพันปีนั้นล้วนเกิดขึ้นเพราะปัญหาที่ดินทั้งนั้น ตั้งแต่สมัยโบราณได้เกิดกระบวนการพัฒนาทางประวัติศาสตร์ในการเขมือบและการยับยั้งการเขมือบที่ดินโดยตลอด ที่ดินเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเกษตรกร ”
เขากล่าวว่าเจ้าหน้าที่ระดับผู้นำต้องมีใจรักประชาชน ต้องทำให้ได้ในการ“ตอบรับอย่างทันท่วงทีเมื่อประชาชนส่งเสียงเรียกร้อง” โดยถือความคาดหวังของประชาชนเป็นเป้าหมายในการต่อสู้ของตน และถือเสียงเรียกร้องของประชาชนเป็นภาระหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนและเจ้าหน้าที่ระดับผู้นำ
นายหวง เจี้ยนซิง ผู้ซึ่งเคยติดตามนายสี จิ้นผิงในการสำรวจข้อมูลประกอบการวิจัยหลายครั้งรู้ชัดว่า “ในเวลานั้น 'เสียงเรียกร้อง'ของบรรดาเกษตรกรในพื้นที่ป่าไม้นั้น ความจริงก็คือ'จัดสรรกรรมสิทธิ์ป่าไม้ส่วนรวมให้กับครัวเรือน' ซึ่งเป็นคำที่พวกเขาอยากจะพูดมาโดยตลอดแต่ไม่เคยกล้าพูดออกมา”
นายสี จิ้นผิง เคยกล่าวกับนายหวง เจี้ยนซิงว่า “อุตสาหกรรมป่าไม้ของฝูเจี้ยนครั้งหนึ่งเคยมีช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์ เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ความขัดแย้งต่างๆ ก็สะสมมากขึ้นเรื่อยๆ หากไม่มีการปฏิรูป วันหนึ่งความขัดแย้งก็จะปะทุขึ้นแน่นอน ก่อนอื่นจำเป็นต้องดำเนินการ‘ผ่าตัด’ระบบการจัดการอุตสาหกรรมป่าไม้ ”
คำบรรยายภาพ : เดือนมิถุนายน ค.ศ. 2002 นายสี จิ้นผิง ผู้ว่าการมณฑลฝูเจี้ยนในขณะนั้นเดินทางไปยังอำเภออู่ผิงเพื่อตรวจเยี่ยมการปฏิรูปป่าไม้ และได้สนทนาอย่างเป็นกันเองกับเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ป่าของท้องถิ่น (ภาพจากแฟ้มภาพ)
นายหวง เจี้ยนซิงรู้ว่าหลังการสำรวจมาหลายครั้ง นายสี จิ้นผิงมีแนวคิดที่ชัดเจนมากขึ้นว่าควรผลักดันการปฏิรูประบบกรรมสิทธิ์ป่าไม้ส่วนรวมอย่างไร แต่นายหวง เจี้ยนซิงกลับรู้สึกกังวลแทนผู้นำมณฑลรุ่นเยาว์คนนี้อย่างมาก------เหตุเพราะไม่เคยมีการปฏิรูประบบกรรมสิทธิ์ป่าไม้มาก่อน และนี่เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน
“เราต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ แต่ต้องผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง!” นายสี จิ้นผิงกำชับซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ตามหลักการนี้และหลังผ่านการพิจารณาหลายครั้ง อำเภออู่ผิงถูกเลือกให้เป็น “ป่าทดลอง” และได้เริ่มโครงการนำร่อง “การปฏิรูปป่าไม้”
อำเภออู่ผิงเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกันของสามมณฑล ได้แก่ ฝูเจี้ยน กวางตุ้ง และเจียงซี นอกจากทางหลวงระดับชาติหมายเลข 205 ที่ตัดผ่านอำเภอซ่างหางที่อยู่ติดกัน มีเพียงทางหลวงระดับมณฑลหมายเลข 306 ที่ตัดผ่านอู่ผิง การคมนาคมขนส่งที่เชื่อมกับภายนอกไม่สะดวก อุตสาหกรรมในท้องถิ่นส่วนใหญ่เป็นป่าไม้และการเพาะพันธุ์ แทบไม่มีอุตสาหกรรมสมัยใหม่เลย ระดับการพัฒนาเศรษฐกิจอยู่ในอันดับค่อนข้างต่ำของมณฑล จนกระทั่งปี ค.ศ.1997 อู่ผิงถึงได้ถูกปลดออกจากรายชื่ออำเภอที่ยากจนข้นแค้นซึ่งกำหนดโดยรัฐบาลกลาง
ปี ค.ศ. 2000 สำนักงานอุตสาหกรรมป่าไม้แห่งชาติจีนได้ส่งเสริมให้มีการเปลี่ยนใบรับรองกรรมสิทธิ์ป่าไม้ให้เป็นเอกภาพทั่วประเทศ ในปีต่อมากรมป่าไม้มณฑลฝูเจี้ยนได้ดำเนินโครงการนำร่องสำหรับการเปลี่ยนใบรับรอง อู่ผิงก็ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในอำเภอนำร่อง
อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนใบรับรองกรรมสิทธิ์ป่าไม้เก่านั้น ปัญหาในอดีตอันได้แก่ “การเป็นเจ้าของที่ไม่ชัดเจน ขอบเขตที่ไม่ชัดเจน” ทำให้การเปลี่ยนใบรับรองไม่สามารถดำเนินการได้ และนำไปสู่ข้อพิพาทอย่างต่อเนื่องอีกด้วย ด้วยเหตุนี้อำเภออู่ผิงจึงตัดสินใจที่จะทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับระบบสิทธิในทรัพย์สิน
ก่อนหน้านั้นหนึ่งปีซึ่งก็คือเมื่อวันที่ 7 มกราคม ค.ศ.1999 ต่อกรณีที่การตัดไม้ทำลายป่าทวีความรุนแรงมากขึ้น คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเมืองหลงเหยียนได้ออกเอกสารหมายเลข 1 ประจำปีนั้น------เรื่อง“การตัดสินใจเกี่ยวกับการปฏิรูประบบเศรษฐกิจป่าไม้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น” ซึ่งกล่าวถึง “กำหนดผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ป่าไม้ให้ชัดเจน การทำลายการผูกขาดธุรกิจไม้ การคืนผลประโยชน์ให้กับประชาชน” แต่ไม่ได้กล่าวถึงคำว่า “การปฏิรูปกรรมสิทธิ์ป่าไม้”โดยตรง
IN/LU