ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนจะเดินทางไปยังเมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย ตามคำเชิญของนายวลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียเพื่อร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่มบริกส์ ครั้งที่ 16 ระหว่างวันที่ 22 - 24 ตุลาคมที่จะถึงนี้
บริกส์ (BRICS) มาจากตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวแรกของประเทศสมาชิก 5 ประเทศ ได้แก่ บราซิล(Brazil), รัสเซีย(Russia), อินเดีย (India),จีน(China)และแอฟริกาใต้(South Africa) เป็นกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศตั้งแต่ปี 2006
จีนในฐานะประเทศผู้ก่อตั้งกลไกความร่วมมือบริกส์ที่สำคัญ เป็นผู้ปฏิบัติตามเจตนารมณ์บริกส์อย่างแข็งขัน และเป็นแกนนำในการส่งเสริมการพัฒนาความร่วมมือในกลุ่มประเทศบริกส์ เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนเดินทางไปเมืองโจฮันเนสเบิร์กเพื่อร่วมการประชุมผู้นำกลุ่มบริกส์ ครั้งที่ 15 นายสี จิ้นผิงประกาศว่า จีนได้ตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาระดับโลกและความร่วมมือใต้-ใต้ เป็นเงิน 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะจัดสรรเงินทุนพิเศษวงเงิน 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับดำเนินโครงการริเริ่มเพื่อการพัฒนาของโลกโดยเฉพาะ
วันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา นางเหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวในการแถลงข่าวของกระทรวงที่จัดขึ้นประจำ ว่าจีนมีความคาดหวังอะไรจากการประชุมครั้งนี้ หลังมีการประกาศว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิงจะร่วมการประชุมผู้นำกลุ่มบริกส์ ครั้งที่ 16
นางเหมา หนิงกล่าวว่า ปีนี้เป็นปีเริ่มต้นของ “ความร่วมมือของกลุ่มบริกส์ที่ใหญ่ขึ้น” การประชุมครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกหลังกลุ่มบริกส์รับสมาชิกเพิ่ม ทำให้ประชาคมโลกให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง โดยนับตั้งแต่ก่อตั้ง กลุ่มประเทศบริกส์ได้ยึดมั่นในเจตนารมณ์ที่เปิดกว้าง กลมกลืน ดำเนินความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ด้วยกัน ยืนหยัดปณิธานเดิมสามัคคีและพัฒนาตนเอง มุ่งพิทักษ์แนวคิดพหุภาคี และกลายเป็นพลังการสร้างสรรค์ที่แข็งขันมั่นคง และดีงามในกิจการระหว่างประเทศ
ในระหว่างการประชุมครั้งนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงจะร่วมการประชุมผู้นำทั้งกลุ่มเล็กและกลุ่มใหญ่ และการเสวนาของผู้นำกลุ่มบริกส์พลัส พร้อมกล่าวสุนทรพจน์ที่สำคัญแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงลึกกับผู้นำประเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ระหว่างประเทศในปัจจุบัน ความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมของกลุ่มบริกส์ การพัฒนากลไกบริกส์และประเด็นสำคัญที่เป็นข้อห่วงกังวลร่วมกัน
โดยจีนยินดีใช้ความพยายามร่วมกับทุกฝ่าย ผลักดัน“ความร่วมมือของกลุ่มบริกส์ที่ใหญ่ขึ้น” ให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง เปิดศักราชใหม่แห่ง Global South หรือกลุ่มประเทศโลกใต้ รวมตัวและพัฒนาด้วยตนเอง ร่วมส่งเสริมสันติภาพและการพัฒนาของโลก
การเพิ่มสมาชิกกลุ่มบริกส์ที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวไว้ หมายความว่า เมื่อวันที่ 1 มกราคมปีนี้ ซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิหร่าน และเอธิโอเปียได้เข้าเป็นสมาชิกครอบครัวกลุ่ม BRICS อย่างเป็นทางาร กล่าวได้ว่า การเพิ่มสมาชิกครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของกลุ่มประเทศ BRICS ที่จะร่วมมือสมานสามัคคีกับประเทศกำลังพัฒนา สอดคล้องกับความคาดหวังของประชาคมโลก และสอดคล้องกับผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา การเพิ่มสมาชิกครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของความร่วมมือบริกส์ซึ่งจะเป็นพลังใหม่ให้กับกลไกความร่วมมือบริกส์และสร้างพลังแห่งสันติภาพและการพัฒนาของโลกมากขึ้น
จนถึงขณะนี้ มี 30 กว่าประเทศสมัครเข้ากลุ่มบริกส์ เหตุใดประเทศต่าง ๆ จึงพากันสมัครเข้ากลุ่มบริกส์มากขึ้น? ประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา สำหรับประเทศเหล่านี้ การพัฒนาให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรมมีความสำคัญมากที่สุด ซึ่งก็เป็นหนึ่งในลักษณะพิเศษที่สำคัญที่สุดของกลไกความร่วมมือบริกส์ กลุ่มบริกส์ยังได้ก่อตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ ไม่เพียงแต่ช่วยประเทศสมาชิกให้ได้เงินกู้ในอัตราพิเศษ หากยังกระชับการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจการค้าและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการสร้างความทันสมัยในหมู่ประเทศสมาชิก
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมปีนี้ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างหนังสือแสดงเจตจำนงของไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ
โดยเชื่อว่า การเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์ จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ช่วยยกระดับบทบาทของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ เพิ่มโอกาสการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย
ดังที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนกล่าวไว้ว่า โลกทุกวันนี้เข้าสู่ยุคใหม่ของความวุ่นวายและการเปลี่ยนแปลง กลุ่มประเทศบริกส์เป็นกำลังสำคัญในการกำหนดภูมิทัศน์ระหว่างประเทศ เป็นตัวแทนทิศทางความก้าวหน้าของสังคมมนุษย์ และจะส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อกระบวนการพัฒนาของโลกอย่างแน่นอน
เขียนโดย ชุย อี๋เหมิง ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา
สถานีวิทยุและโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (CMG)
(In/Cui)