วันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 2002 นายสี จิ้นผิง เดินทางไปตรวจเยี่ยมหมู่บ้านนำร่อง “การปฏิรูปป่าไม้” ในตำบลเฉิงเซียงและตำบลว่านอัน อำเภออู่ผิง
ได้ตรวจเยี่ยมอย่างละเอียดมากและได้สอบถามอย่างละเอียดยิบเช่นกัน เช่น แบ่งป่าอย่างไร? ชาวบ้านมีความคิดเห็นอย่างไร ?
“ตอนนั้น เวลาอยู่ในแต่ละหมู่บ้านของท่านผู้ว่าการมีจำกัด แต่ท่านก็ใช้ทุกโอกาสพูดคุยกับชาวบ้าน” นายเหยียน จินจิ้งยังคงจดจำเหตุการณ์ในวันนั้นได้ชัดเจนเสมือนเพิ่งเกิดขึ้น
“ท่านถามถึงรายได้ของชาวบ้าน โดยเฉพาะรายได้ที่มาจาก'ป่าส่วนรวม' มีเท่าไหร่ ท่านกล่าวว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้รับประโยชน์จาก'ป่าไม้' สาเหตุก็เป็นเพราะว่ากรรมสิทธิ์ไม่ชัดเจน ไม่ได้กำหนดผู้บริหารจัดการอย่างชัดเจน และการแบ่งปันผลประโยชน์ไม่สมเหตุสมผล จุดประสงค์ของ 'การปฏิรูปป่าไม้' ก็เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญที่สุด”
ในการประชุมสัมมนาครั้งหนึ่งที่จัดขึ้นที่ตำบลเฉิงเซียง นายสี จิ้นผิงมุ่งเน้นไปที่การทำความเข้าใจความยากลำบากที่มีอยู่ในการปฏิรูปจากเจ้าหน้าที่ระดับรากหญ้า มีเจ้าหน้าที่บางคนยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า พวกเขารู้สึกกังวลเกี่ยวกับ“การปฏิรูปป่าไม้” เพราะไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจนจากหน่วยงานระดับบน แถมเจ้าหน้าที่บางคนกลัวความยากลำบากและมักมีมุมมองว่า“อย่าได้ไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องที่ยังขาดความชัดเจนจะดีกว่า”
ในเวลานั้น แม้ว่าจะมีการขยาย “การปฏิรูปป่าไม้”สู่ทั้งอำเภอแล้วก็ตาม แต่หมู่บ้านที่ดำเนินการจริงนั้นยังไม่ถึงครึ่งหนึ่ง นายสี จิ้นผิง มองเห็นความยากลำบากในการดำเนินการปฏิรูปครั้งนี้
หลังการตรวจเยี่ยม นายสี จิ้นผิงยืนยันเต็มที่เกี่ยวกับการปฏิรูประบบกรรมสิทธิ์ป่าไม้ส่วนรวมของอำเภอนี้ และได้ให้คำแนะนำที่สำคัญว่า “การปฏิรูประบบกรรมสิทธิ์ป่าไม้ส่วนรวมต้อง‘ย้าย’จากเชิงเขาขึ้นไปบนภูเขาเช่นเดียวกับระบบรับเหมาดำเนินการผลิตตามความรับผิดชอบต่อครัวเรือน”
คำบรรยายภาพ : หมู่บ้านเจี๋ยเหวินซึ่งมีทัศนียภาพอันสวยงามตั้งอยู่ในอำเภออู่ผิง เมืองหลงเหยียน มณฑลฝูเจี้ยน โดยอำเภออู่ผิงได้รับการยกย่องว่าเป็น “อำเภอแรกแห่งการปฏิรูปป่าไม้”
กว่าครึ่งเดือนต่อมา ในวันที่ 12 กรกฎาคม อำเภออู่ผิงได้จัดการประชุมเกี่ยวกับการปฏิรูประบบกรรมสิทธิ์ป่าไม้ส่วนรวมของทั้งอำเภอ โดยมีเป้าหมายเพื่อปฏิบัติตามเจตนารมณ์คำแนะนำหลังการตรวจเยี่ยมของผู้ว่าการสี จิ้นผิง และเดินหน้าการปฏิรูประบบกรรมสิทธิ์ป่าไม้ส่วนรวมอย่างครอบคลุม นี่ถือเป็นการระดมพลครั้งใหญ่เพื่อ “ปฏิรูปป่าไม้”
แม้ว่า “การปฏิรูปป่าไม้” ในอำเภออู่ผิงจะได้ถอด “หมวก” ประเด็น“ไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บังคับบัญชา” ออกไปโดยสิ้นเชิงแล้วก็ตาม แต่นายเหยียน จินจิ้งก็ยังต้องการฟังความคิดเห็นของนายสี จิ้นผิง ให้มากกว่านี้
วันที่ 27 กรกฎาคม เขามาที่เมืองฝูโจว นายสี จิ้นผิงก็ได้เจียดเวลาให้เขาเข้าพบโดยเฉพาะ โดยนายสี จิ้นผิงได้ย้ำอีกครั้งว่าทิศทางของ “การปฏิรูปป่าไม้” นั้นถูกต้อง ทั้งยังสั่งการด้วยว่า “ทำงานด้วยความละเอียดรอบคอบ ทำให้ได้!”
หลังกลับมาที่อำเภออู่ผิง นายเหยียน จินจิ้งได้เรียบเรียงรายงานพิเศษเกี่ยวกับการดำเนิน“การปฏิรูปป่าไม้”โดยแบ่งเป็นระยะ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม เขาได้ส่งรายงานดังกล่าวไปยังสำนักงานของนายสี จิ้นผิง เพียงสองวันต่อมา นายสี จิ้นผิงก็ได้เขียนคำแนะนำในรายงานฉบับนี้ว่า“เชิญสหายเติ้งเฟิง (นายสีว์ เติ้งเฟิง ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานกิจการชนบท คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลฝูเจี้ยน) และสหายเจี้ยนซิงอ่านรายงาน”
หลังจากนั้น ภายใต้การแนะนำและส่งเสริมจากสำนักงานกิจการชนบท คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลและหน่วยงานป่าไม้ การนำร่องปฏิรูประบบกรรมสิทธิ์ป่าไม้ส่วนรวมในอำเภออู่ผิง กระทั่งเมืองหลงเหยียนได้ค่อยๆ ก้าวหน้าในเชิงลึกบนพื้นฐานแห่งการบรรลุ“การแบ่งเขตและออกใบรับรองสิทธิ์ กำหนดกรรมสิทธิ์อย่างชัดเจน” ในขณะเดียวกัน การปฏิรูปกลไกสนับสนุนต่างๆก็เริ่มขึ้นตามลำดับ ซึ่งรวมถึงกลไกการบริหารจัดการและปกป้องป่านิเวศ ระบบการบริหารจัดการการตัดไม้ป่า กลไกการลงทุนและการระดมเงินทุนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมป่าไม้ รูปแบบการประกอบธุรกิจป่าไม้ และการหมุนเวียนของทรัพยากรป่าไม้ เป็นต้น
เดือนตุลาคม ค.ศ. 2002 นายสี จิ้นผิงย้ายออกจากมณฑลฝูเจี้ยน แต่ความใส่ใจที่มีต่อ“การปฏิรูปป่าไม้”ในฝูเจี้ยนนั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามการเปลี่ยนสถานที่ทำงานแต่อย่างใด
ครั้งหนึ่งนายหวง เจี้ยนซิง ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเดินทางไปราชการที่มณฑลเจ้อเจียงได้ไปเยี่ยมคารวะนายสี จิ้งผิง โดยเฉพาะ
“เอกสาร'การปฏิรูปป่าไม้'ของมณฑลฝูเจี้ยนออกมาหรือยัง? นายสี จิ้นผิงถามด้วยความใส่ใจทันทีที่พบกัน พร้อมกำชับว่าต้องออกเอกสารให้ได้ด้วยดี 'การปฏิรูปป่าไม้'จึงจะสามารถบรรลุความสำเร็จขั้นสุดท้ายได้”
คำพูดต่อไปเป็นประโยชน์ต่อนายหวง เจี้ยนซิงอย่างมาก “หลังยืนยันสิทธิ์ให้กับแต่ละครัวเรือนแล้ว เราต้องใส่ใจที่จะค้นพบความขัดแย้งใหม่ๆ และศึกษาปัญหาใหม่ๆ เช่น เงินมาจากไหน? เราต้องพิจารณาถึงวิธีการเปิดช่องทางการระดมเงินระหว่างเกษตรกรกับธนาคาร ควรตัดต้นไม้อย่างไร? เราจำเป็นต้องปฏิรูประบบการตัดไม้ ควรปฏิบัติต่อครัวเรือนที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวอย่างไร? เราจำเป็นต้องเดินบนหนทางการรวมกำลังให้เป็นหนึ่งเดียว”
สามคำถามดังกล่าวเรียบง่ายและชัดเจน ซึ่งชี้ให้เห็นวิธีการลงลึกเดินหน้า “การปฏิรูปป่าไม้” โดยตรง
IN/LU