วันที่ 31 สิงหาคม-วันที่ 15 กันยายน ที่ผ่านมา ผมได้เดินทางไปที่เมืองลาซ่า เมืองรื่อ คาเจ๋อและเขตอาหลีเพื่อร่วมกิจกรรมหัวข้อ “ปลูกจิตสำนึกให้ฝังรากลึก ประชาชาติจีนเป็นครอบครัวเดียวกัน” และ “ที่ราบหิมะโฉมใหม่”
ช่วงครึ่งเดือนที่อยู่ในพื้นที่ ผมได้ไปตระเวนสื่อข่าวที่โรงเรียน พื้นที่ชนบท ชุมชน วิสาหกิจ โรงงาน เป็นต้น ได้บันทึกและสัมผัสประสบการณ์ความก้าวหน้าของทิเบตภายใต้ยุทธศาสตร์การชี้นำของพรรคฯ ในการปกครองทิเบตยุคใหม่ ได้ดูความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ การสืบทอดวัฒนธรรม การอนุรักษ์ระบบนิเวศ นวัตกรรมวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ความสามัคคีของชนเผ่า
เขตทิเบตที่ผมคุ้นเคย ทิเบตมี 7 เมืองและเขต ก่อนร่วมการสื่อข่าวครั้งนี้ ผมเคยไปทิเบตมาแล้ว 3 ครั้ง ไปท่องเมืองลาซา ซานหนาน หลินจือ น่าชวีและชางตู รวม 5 เมืองมาแล้ว ส่วนครั้งนี้ ได้ไปในเมืองและเขตที่ผมไม่เคยไปมาก่อน คือเมืองรื่อ คาเจ๋อ กับเขตอาหลี่
เมื่อพูดถึงเมืองรื่อ คาเจ๋อ สิ่งที่มีชื่อเสียงมากที่สุดก็คือภูเขาเอเวอเรสต์ ภูเขาที่สูงที่สุดในโลก สูงเหนือระดับน้ำทะเล 8,848.86 เมตร ตั้งอยู่แนวชายแดนจีน-เนปาล วันที่ 4 กันยายน ผมเดินทางถึงเอเวอเรสต์เบสแคมป์ หรือสถานที่ตั้งแคมป์เบื้องต้นที่เชิงเขาเอเวอเรสต์ โชคดีมากได้เห็นยอดเขาเอเวอเรสต์ การส่องยอดเขาเอเวอเรสต์จากเอเวอเรสต์เบสแคมป์ ทำให้ได้สัมผัสถึงความยิ่งใหญ่ของภูเขาเอเวอเรสต์อย่างแท้จริง ทำให้สามารถจินตนาการได้ชัดว่า การปีนเขาเอเวอเรสต์นั้นยากลำบากขนาดไหน
วันที่ 5 กันยายน เมื่อบรรดาผู้สื่อข่าวนั่งรถยนต์ผ่านตำบลก่างก่า อำเภอติ้งรื่อ เขตปกครองตนเองทิเบต ได้เห็นเอเวอเรสต์ในอีกมุม โดยยอดเขาเอเวอเรสต์ถูกปกคลุมด้วยหิมะ ดูสวยงามเป็นพิเศษ นอกจากนี้ ยังเห็นภูเขาอีกหลายลูกของเทือกเขาหิมาลัยด้วย
หลายปีมานี้ ทิเบตให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของภูเขาเอเวอเรสต์เป็นอย่างมาก ช่วงเดือนมกราคม – กรกฎาคม ค.ศ.2024 มีการจัดเก็บขยะ 516.928 ตันออกจากบริเวณจุดชมวิวยอดเขาเอเวอเรสต์และตลอดเส้นทาง โดยรถที่นำพาผู้สื่อข่าวไปยังเอเวอเรสต์เบสแคมป์ ก็เป็นรถพลังงานใหม่ เราเชื่อว่าความงามของยอดเขาเอเวอเรสต์จะคงอยู่ตลอดไป
นอกจากนี้ เมืองรื่อ คาเจ๋อยังสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกป่าเพื่อขจัดความยากจน ตำบลอ้ายหม่า อำเภอหนาน มู่หลิน เมืองรื่อ คาเจ๋อเคยมีที่ดินกลายเป็นทะเลทรายมากมาย เมื่อมีพายุลมแรง ฝุ่นละอองปกคลุมท้องฟ้า ไม่เพียงแต่กระทบการใช้ชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ แต่ยังทำลายระบบนิเวศอย่างหนัก
เมื่อปี 2014 ตำบลอ้ายหม่าปฏิบัติตามแนวคิดเขาเขียวน้ำใสก็คือภูเขาเงินภูเขาทอง เริ่มโครงการปลูกป่า ทำให้ช่วง 10 ปีมานี้ พายุทรายลดลง 1 ใน 3 ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกัน ทางการท้องถิ่นรณรงค์ให้ชาวบ้านปลูกป่า ได้แก้ปัญหาการว่างงาน ทำให้ชาวบ้าน 60 คนมีงานทำในระยะยาวด้วยการร่วมการปลูกป่ามีรายได้วันละ 200 หยวน หรือประมาณ 1,000 บาท
(Bo/Cui)