ในเวลานั้น นายหลี่ ชวน นายกเทศมนตรียังควบตำแหน่งประธานคณะกรรมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเมืองหนานผิงด้วย เขาทราบว่าในหน่วยงานราชการและองค์การของรัฐของทั้งเมืองมีบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรมากกว่า 2,800 คน โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ที่มีตำแหน่งทางวิชาการระดับกลางหรือระดับสูง 690 คน
ช่างเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ทรงคุณค่าจริงๆ! หากให้พวกเขาสามารถแสดงบทบาทได้อย่างเต็มที่ก็จะได้ผลแบบยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว คือ ไม่เพียงแต่จะกระตุ้นชนบทให้มีชีวิตชีวาและส่งเสริมเกษตรกรให้ร่ำรวยขึ้นเท่านั้น แต่ยังสามารถทำให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการและองค์การของรัฐกระตือรือร้นและมีความคิดสร้างสรรค์ สะท้อนให้เห็นคุณค่าของผู้ทำงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงปรับเปลี่ยนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐซึ่งมักใช้บุคลากรมากเกินจำเป็นอีกด้วย
หลังจากนั้นไม่นานก็มีการเปิดตัวแผนการปฏิรูปโดยระบุว่า “คัดเลือกเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเกษตร ปฏิบัติงานเก่ง และมีประสบการณ์การทำงานระดับรากหญ้าจากหน่วยงานราชการและองค์การของรัฐเพื่อส่งไปทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพิเศษประจำพื้นที่ชนบท เพื่อให้บริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่เกษตรกรแบบ‘ส่งต่อกันมือต่อมือและตัวต่อตัว’ ”
เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1999 บุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชุดแรกจำนวน 225 คนถูกส่งไปยังหมู่บ้าน 215 หมู่บ้าน โดยพวกเขาส่วนใหญ่มาจากหน่วยงานราชการและองค์การของรัฐระดับเมืองและอำเภอ ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่หน่วยงานเกษตรกรรม นักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร และเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีของสถานีเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล เป็นต้น เมืองนานผิงได้ตั้งฉายาอันทรงเกียรติแก่พวกเขาอันได้แก่ “เจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพิเศษ”
ไม่นานหลังระบบ “เจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพิเศษ” ถือกำเนิดขึ้น “ดวงดาว”จำนวนหนึ่งก็ได้ปรากฏขึ้นอย่างรวดเร็วในชนบททางตอนเหนือของฝูเจี้ยน มวลชนชาวนานับถือพวกเขามาก
แม้แต่นายสี จิ้นผิงก็ได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับพวกเขา
ปี ค.ศ. 2002 ขณะกล่าวปราศรัยภายหลังเสร็จสิ้นการสำรวจพิเศษครั้งนั้น นายสี จิ้นผิง กล่าวถึงนายจาน อี๋เซิง เจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพิเศษที่ได้รับการยกย่องจากเกษตรกรว่าเป็น “เซียนเฮเซลนัท (Hazelnut)” และนายหลิว รุ่ยปี้ ที่ได้รับฉายา”ราชาเห็ดทางตอนเหนือฝูเจี้ยน”โดยเฉพาะ และเห็นว่าเรื่องราวของพวกเขาเป็นสิ่งที่น่าประทับใจมาก
นายจาน อี๋เซิง ผู้เชี่ยวชาญด้านป่าไม้เศรษฐกิจ เป็นหนึ่งใน “ดวงดาว”อันดับต้นๆในบรรดาเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพิเศษในขณะนั้น
คำบรรยายภาพ : วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1999 คณะกรรมการพรรคฯและเมืองหนานผิงได้ส่งเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชุดแรกจำนวน 225 คนไปยังหมู่บ้าน 215 หมู่บ้านซึ่งถือเป็นการเปิดตัวโครงการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่หมู่บ้านเพื่อพัฒนาพื้นที่ตอนเหนือของมณฑลฝูเจี้ยนให้เจริญรุ่งเรือง
เขาเลือกเกษตรกรในพื้นที่ภูเขาสูงซึ่งยากจนและด้อยพัฒนาเป็นเป้าหมายในการให้บริการของเขา เขารู้ดีว่าทางตอนเหนือของฝูเจี้ยนมีความเหมาะสมมากสำหรับการผลิต“จุยลี่”หรือ“เกาลัดรูปทรงกรวย”(Castanea henryi ) แต่เกษตรกรในท้องถิ่นมองว่ามันเป็นเพียงธุรกิจเสริมเท่านั้น พวกเขาปลูกพืชชนิดนี้อย่างกว้างขวางแต่เก็บเกี่ยวได้น้อย เพราะดำเนินการแบบง่ายๆ และไม่เคยหวังว่าจะร่ำรวยจากมัน
“ใช้เงินลงทุนน้อยที่สุด ใช้เทคโนโลยีที่ง่ายที่สุด ให้เกษตรกรสร้างรายได้มากที่สุดบนที่ดินที่ย่ำแย่ที่สุด” ด้วยความตั้งใจแรกเริ่มนี้ นายจาน อี๋เซิง จึงเลือกไปทำงานที่ “ภูเขาจุยลี่”
“เป็นการดีที่จะตัดแต่งกิ่งในเดือนมีนาคม เพราะมีกิ่งก้านจํานวนมากและถั่วเฮเซลนัทมีขนาดเล็ก ในเดือนเมษายนจะผลิใบใหม่ออก ดังนั้นควรจับหนอนตัวอ่อนให้ไว เดือนกรกฎาคมต้องใส่ปุ๋ยให้ทันเวลา บนต้นก็จะเต็มไปด้วยผล------” นายจาน อี๋เซิง สอนชาวบ้านในท้องถิ่นให้เข้าใจวิธีการปลูกจุยลี่ด้วยภาษาที่เรียบง่ายและเข้าใจได้ง่ายที่สุด ในปีที่เขาถูกส่งไปทำงานประจำในหมู่บ้าน เวินหยาง ตำบลสุ่ยหยวน เมืองเจี้ยนโอว ยอดผลผลิตจุยลี่ของหมู่บ้านแห่งนี้ได้เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจาก 225,000 กิโลกรัมของเมื่อปีก่อนหน้าเป็น 320,000 กิโลกรัม และรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนเพิ่มขึ้นมากกว่า 3,900 หยวน
ในเวลาเพียงไม่กี่ปี พื้นที่ปลูกจุยลี่ของทั้งเมืองหนานผิงได้เติบโตขึ้นจากพื้นที่ดั้งเดิมที่น้อยกว่า 200,000 โหม่ว(ประมาณ 83,333 ไร่) และมีผลผลิตรวมน้อยกว่า 5,000 ตัน เป็นมากกว่า 600,000 โหม่ว(ประมาณ 250,000 ไร่)และมีผลผลิตรวมมากกว่า 40,000 ตันในปี ค.ศ. 2006 ตั้งแต่นั้นมา นายจาน อี๋เซิง ชายที่ไว้ผมทรงทหารคนนี้มักจะพกไฟฉาย ยากันยุง กรรไกรตัดแต่งกิ่ง และเกจวัดความสูงติดตัวไปด้วย และชอบที่จะตะลอนไปทั่วพื้นที่ภูเขา ได้รับการยกย่องว่าเป็น “เซียนเฮเซลนัท”
ในความเป็นจริงมุมมองของชาวบ้านที่มีต่อพวกเขามีพัฒนาการจากการเฝ้าดูและตั้งคำถามจนยอมรับ เคารพ กระทั่งศรัทธา
อะไรกันแน่ที่ทำให้กลไกนี้แตกต่างไปจากงานเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและกิจกรรมการส่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่ชนบทที่จัดขึ้นอย่างคึกคักในอดีต?
ภายใต้การเอาใจใส่และคำแนะนำของนายสี จิ้นผิง ตั้งแต่เริ่มแรกเมืองหนานผิงไม่ได้มองว่าการส่งเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลงไปประจำในระดับรากหญ้านั้นเป็นเพียงมาตรการระยะสั้นเท่านั้น แต่ยังได้มุ่งเน้นไปที่การออกแบบระบบด้วย เพื่อให้ “การส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำในระดับรากหญ้า” กลายเป็นการมีส่วนร่วมโดยตรงในการผลิตของชนบท และกระทั่งผูกสัมพันธ์กับเกษตรกรให้เป็น“ประชาคมแห่งผลประโยชน์”
“เจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพิเศษเหล่านี้ที่สำคัญได้ดำเนินการคัดเลือกและส่งไปตามความต้องการด้านการบริการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่แต่ละหมู่บ้านเสนอขึ้นในการพัฒนาการผลิตทางการเกษตร โดยเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีส่วนใหญ่มีหน้าที่รับผิดชอบงานของหมู่บ้านเดียวเท่านั้น แต่ก็มีบางคนซึ่งมีจำนวนไม่มากที่รับผิดชอบงานของหลายหมู่บ้านและหลายตำบล กระทั่งทำงานแบบข้ามอำเภอ(เมือง /เขต)เพื่อชี้นำการพัฒนาธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งตามความต้องการในการพัฒนาอุตสาหกรรมและการผลิตผลิตภัณฑ์ โดยทั่วไปวาระการดำรงตำแหน่งของพวกเขาคือหนึ่งปี” นายสี จิ้นผิง เคยเขียนเช่นนี้ในบทความเรื่อง “มุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์กลไกการทำงานใหม่ในชนบท –การสำรวจและการไตร่ตรองเกี่ยวกับการคัดเลือกและส่งเจ้าหน้าที่ไปยังพื้นที่ชนบทในเมืองหนานผิงมณฑลฝูเจี้ยน”
IN/LU