จงกวนชุน เขตสาธิตบุกเบิกอุตสาหกรรมเทคโนโลยีแห่งแรกของจีน

2018-05-14 10:192018-05-14 10:19:50  cri

จงกวนชุน เขตสาธิตบุกเบิกอุตสาหกรรมเทคโนโลยีแห่งแรกของจีน

ในทศวรรษที่ 1980 "จงกวนชุน" เป็นเพียงย่านจำหน่ายผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์เล็กๆ แห่งหนึ่ง ก่อนที่จะพัฒนาตนเองขึ้นมาเป็นเขตสาธิตบุกเบิกอุตสาหกรรมเทคโนโลยีแห่งแรกของประเทศจีนได้สำเร็จ ภายในระยะเวลาเพียง 8 ปี และปัจจุบันนี้ ในช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา จงกวนชุนได้เติบโตเป็นหนุ่มใหญ่ และคว้าโอกาสอันเกิดจาก "1 แถบ 1 เส้นทาง" มาสร้างฝันที่จะผลักดันให้ "ซิลิคอนวัลเลย์แห่งชาติ" ก้าวมาเป็น "จงกวนชุนแห่งโลก" ให้จงได้ ถือเป็นการติดปีกให้แก่การขยับฐานะในครั้งนี้

เมื่อพูดถึงจงกวนชุน แบรนด์ชั้นนำที่ทุกคนนึกถึงเป็นอันดับแรกคงเป็นแบรนด์ดังประจำโลกออนไลน์ ก็จะมี เลโนโว จิงตง เป็นต้น แต่ทั้งหมดเหล่านี้ก็เป็นเพียงส่วนเล็กๆ เปรียบได้กับยอดภูเขาน้ำแข็ง เพราะภายในย่านอิเล็กทรอนิกส์แห่งนี้ ยังมีบริษัทที่มีบทบาทสำคัญอีกมากมาย และหนึ่งในนั้นก็คือ "บริษัท AT&M เทคโนโลยีและวัสดุ จำกัด"

จงกวนชุน เขตสาธิตบุกเบิกอุตสาหกรรมเทคโนโลยีแห่งแรกของจีน

ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 สถาบันวิจัยด้านเทคโนโลยีหลายต่อหลายแห่งในประเทศจีนนิยมแปรรูปเป็นวิสาหกิจ ซึ่งบริษัท AT&M ก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยก่อตั้งขึ้นภายใต้การนำของสถาบันวิจัยเหล็กและเหล็กกล้านั่นเอง ต่อมาในปี 2000 บริษัท AT&M เทคโนโลยีและวัสดุจำกัด ก็กลายมาเป็นบริษัทที่แปรรูปจากสถาบันวิจัยรายแรกๆ ของจีนที่จดทะเบียนเข้าตลาดหุ้น ปัจจุบัน บริษัท AT&M ได้กลายมาเป็นฐานการผลิต การวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับวัสดุโลหะชนิดใหม่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีศักยภาพทางเทคโนโลยีล้ำหน้าที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศจีน

เมื่อก้าวเข้าสู่ศตวรรษใหม่ วิสาหกิจจีนก็เริ่มทดลอง "โกอินเตอร์" อย่างทะนงองอาจ แต่ถึงกระนั้น กลับตกอยู่ในภาวะ "สองมาก หนึ่งน้อย" ก็คือ มีการทำโครงการรับเหมากับบุกเบิกทรัพยากรใหม่ๆ มาก แต่กลับมีการลงทุนที่แท้จริงน้อย แต่เมื่อมีนโยบาย "1 แถบ 1 เส้นทาง" ขึ้น เส้นทางการก้าวออกสู่เวทีสากลของวิสาหกิจเหล่านี้ ก็ดูจะชัดเจนขึ้น นั่นก็คือการสร้างความร่วมมือกับนานาชาติในด้านผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์นั่นเอง

ในปี 2014 บริษัท AT&M ได้เข้าไปลงทุนตั้งสาขาที่ทำธุรกิจผลิตเครื่องมือหัวเพชรคุณภาพสูง ด้วยเม็ดเงินลงทุนจำนวนเกือบ 50 ล้านหยวน หลายปีมานี้ บริษัทสาขาดังกล่าวได้อาศัยข้อได้เปรียบด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ข้อได้เปรียบด้านต้นทุน และนโยบายดึงดูดใจจากรัฐบาลไทย จนทำให้บริษัทพัฒนาอย่างรวดเร็วและมั่นคง ยอดขายในไตรมาสแรกของปี 2017 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามากขึ้นร้อยละ 25 การก่อตั้งโรงงานเทคโนโลยีของบริษัท AT&M ในเมืองไทยนั้น นับได้ว่าผลักดันให้เกิดการยกระดับอุตสาหกรรม เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของบริษัท พร้อมกันนั้น โครงการดังกล่าวก็ยังนำมาซึ่งโอกาสแห่งการพัฒนาสำหรับประเทศไทยเองด้วย ข้อมูลทางสถิติแสดงว่า บริษัทสาขาของ AT&M ในไทย มีการจ้างพนักงานคนท้องถิ่นมากกว่าร้อยละ 80 พนักงานได้สิทธิ์เข้าร่วมการฝึกอบรม และพัฒนาศักยภาพเท่าเทียมกับพนักงานชาวจีน จนมีพนักงานและคนงานดีเด่นในระดับที่เทียบเคียงได้กับบริษัทแม่ในปักกิ่ง

จงกวนชุน เขตสาธิตบุกเบิกอุตสาหกรรมเทคโนโลยีแห่งแรกของจีน

วิสาหกิจในย่านจงกวนชุน กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญบนเวทีโลกได้ในหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ด้านชีวเภสัชภัณฑ์หรือวัสดุใหม่ ข้อมูลสถิติชี้ให้เห็นว่า เมื่อสิ้นปี 2016 บริษัทและเครือข่ายบริษัทในจงกวนชุนได้บรรลุมาตรฐานต่างๆ รวมกว่า 6,000 รายการ พร้อมทั้งยังจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ จำนวนกว่า 69,000 ชิ้น

ภายใต้การนำของ "1แถบ 1 เส้นทาง" แผนการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน จะสอดรับกับความต้องการด้านการพัฒนาของประเทศตามแนวเขต และในฐานะที่จงกวนชุนเป็นฐานที่มั่นสำคัญด้านการก่อตั้งธุรกิจและนวัตกรรมของจีน บริษัททั้งหลายในจงกวนชุน ก็จะได้ใช้เทคโนโลยี บุคลากร และทุนทรัพย์ของตน ไปพร้อมกับการดึงดูดวิสาหกิจอุตสาหกรรมไฮเทคจากต่างประเทศให้เข้ามาในจีนมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อปี 2016 "Plug and play" หน่วยฝึกอบรมวิสาหกิจ ซึ่งได้ทำการบ่มเพาะและฟูมฟักบริษัทชั้นนำ เช่น Google และ PayPal รวมทั้งศูนย์วิจัยและพัฒนายารักษาโรคของบิลล์เกตส์ และสถาบันอื่นๆ จากต่างประเทศ ได้ทยอยเข้ามาลงหลักปักฐานในใจกลางย่านจงกวนชุน นอกจากนี้ จงกวนชุนยังได้สถาปนาความร่วมมือกับบริษัท Facebook ด้วย

กล่าวได้ว่า "1 แถบ 1 เส้นทาง" ได้สร้างโอกาสในการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมให้จงกวนชุน ผู้ตรวจการประจำกรมบุกเบิกและพัฒนาภาคตะวันตก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีนให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า จงกวนชุนมีอนาคตที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น นั่นก็คือ หวังว่าสักวันหนึ่งจะเกิดศูนย์รวมวิสาหกิจจงกวนชุน หรือนิคมอุตสาหกรรมจงกวนชุนขึ้นในประเทศต่างๆ ตามแนวคิด "1 แถบ 1 เส้นทาง" การทำเช่นนั้นได้ ก็หมายถึงว่าจีนได้ประกาศศักดาให้โลกรู้ว่า จีนสร้าง "1 แถบ 1 เส้นทาง" ขึ้นมาไม่ใช่เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมดั้งเดิมหรืออุตสาหกรรมดีเด่นก้าวออกไปสู่ต่างประเทศเท่านั้น แต่บริษัทผู้ผลิตสินค้าไฮเทคที่วางตำแหน่งของตนอยู่ในระดับไฮเอนด์ เหล่านี้ ก็ต้อง "โกอินเตอร์" ด้วยเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม "หนทางอีกยาวไกล รอคอยการฟันฝ่า" จงกวนชุนซึ่งกำลังพุ่งเป้าหมายไปยังจุดยืนในระดับแนวหน้าของโลก กำลังสยายปีกแห่งโอกาสอันดีงามที่ได้จาก " 1 แถบ 1 เส้นทาง"

ภาพและเนื้อหาข่าวเป็นลิขสิทธิ์ของ China Face

Not Found!(404)