2020-08-03 16:26
ความต้องการมหาศาลของตลาดการบินภายในประเทศจีนเป็นสาเหตุสำคัญที่ขับเคลื่อนให้จีนผลิตเครื่องบินใช้งานเองในประเทศ เป็นเวลาช้านานที่จีนมุ่งมั่นพัฒนาตัวเองเป็นประเทศเข้มแข็งด้านการบินพลเรือนอย่างรอบด้าน ความต้องการภายในประเทศที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นพลังขับเคลื่อนให้จีนผลิตเครื่องบินพลเรือนในประเทศได้เร็วยิ่งขึ้น
จากสถิติพบว่า ในปี ค.ศ. 2018 สนามบินต่าง ๆ ทั่วประเทศจีนรองรับผู้โดยสารจำนวน 1,264 ล้านคน/ครั้ง ในจำนวนนี้ มีสนามบิน 37 แห่ง ที่รองรับผู้โดยสารมากกว่า 10 ล้านคน/ครั้งขึ้นไป เมื่อเผชิญหน้ากับความต้องการเดินทางที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วของผู้โดยสาร จีนได้สร้างและเปิดใช้งานสนามบินใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยปีละ 8 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีสนามบินหลายแห่งขยายการก่อสร้างด้วย ส่วนอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ ด้านการบินพลเรือนก็มีการปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้นด้วย
แม้การขนส่งทางรางด้วยรถไฟความเร็วสูงมีช่วยลดภาระการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศไปได้ระดับหนึ่ง แต่การเดินทางข้ามมหาสมุทรหรือข้ามทวีปยังคงต้องอาศัยการโดยสารเครื่องบินอยู่ ปัจจุบัน เมืองเอกในมณฑลต่าง ๆ ของจีนทุกเมืองต่างมีสนามบินแล้ว แต่สำหรับเมืองขนาดเล็กกว่าจำนวนไม่น้อย ยังไม่มีการพัฒนาด้านการบินพลเรือน ด้วยเหตุนี้ จีนจึงวางแผนพัฒนาการบินในเมืองที่มีขนาดติดอันดับ 3 และอันดับ 4 โดยสร้างสนามบินขนาดเล็กให้มากยิ่งขึ้น เมื่อสนามบินพร้อมแล้ว การพัฒนาเครื่องบินที่จีนผลิตเองจึงจะมีความหมายสำคัญอย่างยิ่ง
ปัจจุบัน สายการบินต่าง ๆ ของจีนยังคงใช้เครื่องบินโบอิ้งและแอร์บัสเป็นหลัก อีกไม่กี่ปี เครื่องบิน C919 อาจทำลายสถานะการผูกขาดของโบอิ้งและแอร์บัสก็เป็นได้ บริษัท COMAC เปิดเผยว่า ปัจจุบัน เครื่องบิน C919 มีลูกค้าทั้งจีนและต่างชาติรวม 28 รายแล้ว โดยบริษัทไชน่าอีสเทิร์นแอร์ไลน์ได้สั่งซื้อเครื่องบิน C919 ลำแรกในเดือนพฤศจิกายน ปี 2016 ปัจจุบัน คำสั่งซื้อเครื่องบิน C919 มีถึง 815 ลำแล้ว ทั้งนี้ คาดว่า จนถึงปลายปี ค.ศ. 2036 ความต้องการซื้อเครื่องบิน C919 จะมีถึง 8,575 ลำ มูลค่ารวม 8 ล้านล้านหยวน
เครื่องบิน C919 มีมาตรฐานทัดเทียมกับโบอิ้ง 737 และแอร์บัส 320 นอกจากจำนวนที่นั่งผู้โดยสารพอ ๆ กันแล้ว ระยะทำการบินมาตรฐานยังอยู่ที่ 4,000 – 5,000 กิโลเมตรเกือบเท่ากันด้วย
หลังจากเครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX ของสายการบินอียิปต์แอร์ และไลอ้อนแอร์อินโดนีเซีย ประสบอุบัติเหตุตกต่อเนื่องกันภายในเวลา 130 วัน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 346 คน โดยไม่มีผู้รอดชีวิตแม้แต่คนเดียว เรื่องนี้ทำให้ชาวโลกเกิดความวิกฤตและตั้งคำถามถึงความมั่นใจต่อเครื่องบินโบอิ้ง รุ่น 737 MAX จีนและอีกหลายประเทศได้สั่งหยุดใช้งานเครื่องบินรุ่นดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายสายการบินเรียกร้องขอส่งเครื่องบินคืน หรือ เปลี่ยนไปสั่งเครื่องบินจากแอร์บัสของยุโรปแทน ทว่า กำลังการผลิตเครื่องบินโดยสารรุ่น A320 จากโรงงานต่าง ๆ ของแอร์บัสในปัจจุบันไม่เพียงพอ ทำให้แอร์บัสสามารถส่งมอบเครื่องบินโดยสารที่ประกอบเสร็จได้เพียง 50 ลำต่อเดือนเท่านั้น เมื่อพิจารณาสถานะการผลิตที่ “เกินขีดความสามารถ” เช่นนี้ บวกกับแอร์บัสยังมีเครื่องบินโดยสารที่รอส่งมอบอีก 6,000 ลำ ตลาดโลกในปัจจุบันจึงมีช่องว่างให้เกิดการแข่งขันกับโบอิ้งและแอร์บัส ซึ่งอาจเป็นโอกาสของเครื่องบิน C919 ก็ได้
นายหลิน จื้อเจี๋ย ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินพลเรือน จากบริษัท COMAC ระบุว่า เมื่อเทียบกับ โบอิ้ง 737 และ แอร์บัส 320 เครื่องบิน C919 ในปัจจุบันยังมีโอกาสในด้านการคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และด้านอื่น ๆ อีกหลายประการ ขอแค่เพียงให้ C919 บินขึ้นได้ก่อน บินได้อย่างปลอดภัย รวมถึงสร้างความเชื่อถือให้ได้เท่านั้น แล้วจึงค่อย ๆ ปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผลิตเครื่องบิน C919 รุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 3 ของจีนเอง จึงจะมีความเป็นไปได้ที่จะสร้างแรงกดดันต่อผู้ผลิตเครื่องบินหลักของฝั่งตะวันตกได้
แม้เครื่องบินจะเป็นพาหนะในการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุด แต่การก้าวสู่ตลาดการบินพาณิชย์ในฐานะผู้ผลิตเครื่องบินโดยสารนั้น ยังคงต้องอาศัยเวลาและบทพิสูจน์ตัวเองในหลาย ๆ ด้านเพื่อให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการเดินทาง
ด.อู๋ กวงฮุย เป็นหัวหน้าผู้ออกแบบเครื่องบินพาณิชย์ รุ่น C919 เขาเกิดที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย สำเร็จการศึกษาจากแผนกออกแบบเครื่องบิน สถาบันการบินเมืองหนานจิง ในปี 1961 ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยการบินอวกาศปักกิ่งในปี 2009 ก่อนได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาวิศวกรรมจีนใน 2017 ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา นายอู๋ กวงฮุย ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าผู้ออกแบบเครื่องบิน C919