2020-10-20 08:59CRI
วันที่ 15 ตุลาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย พบปะกับ นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ที่กรุงเทพฯ สองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า จะผลักดันการเชื่อมต่อโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของไทยกับโครงการพัฒนาเขตอ่าวกว่างตง-ฮ่องกง-มาเก๊าของจีนในระดับลึกซึ้ง สร้างจุดเด่นใหม่ของการร่วมสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” นักวิเคราะห์หลายคนแสดงความเห็นว่า แผนพัฒนาโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทยและเขตอ่าวกว่างตง-ฮ่องกง-มาเก๊าของจีนสอดคล้องกันอย่างมาก การผลักดันการพัฒนาเขตอ่าวกว่างตง-ฮ่องกง-มาเก๊าจะมีส่วนช่วยต่อการลงลึกความร่วมมือระหว่างจีน-ไทยในด้านต่าง ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมไปถึงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม จึงถือเป็นการสร้างโอกาสใหม่แก่ความร่วมมือระหว่างจีน-ไทย
ก่อนอื่น โครงการพัฒนาเขตอ่าวกว่างตง-ฮ่องกง-มาเก๊ามีส่วนช่วยต่อการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองประเทศด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไทยดำเนินโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกโดยมีเป้าหมายขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ระดับสูง สนับสนุนการปรับเปลี่ยนรูปแบบและยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้สูงขึ้น รวมทั้งให้การสร้างนวัตกรรมกลายเป็นพลังหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ขณะที่ เขตกว่างตง-ฮ่องกง-มาเก๊ามีความสามารถเข้มแข็งในด้านการวิจัย พัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อีกทั้งประยุกต์ใช้ผลสำเร็จทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขณะนี้ มณฑลกว่างตง ทางภาคใต้ของจีน กำลังเสริมทักษะการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน เน้นศึกษาวิจัยเทคโนโลยีหลักที่สำคัญที่สุด และเร่งประยุกต์ใช้ผลสำเร็จทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาศูนย์กลางระดับโลกด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ด้วยสาเหตุดังกล่าว สองฝ่ายจึงมีอนาคตกว้างไกลในการดำเนินความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ปัจจุบัน มณฑลกว่างตงกำลังรอคอยการเสริมความร่วมมือด้านต่าง ๆ กับไทย เช่น การร่วมแบ่งปันประโยชน์จากผลสำเร็จด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รวมถึงนวัตกรรม ร่วมสร้างห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ ร่วมพัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์ และแลกเปลี่ยนบุคลากรทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างสอดประสานกันทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของทั้งสองฝ่าย
โครงการพัฒนาเขตอ่าวกว่างตง-ฮ่องกง-มาเก๊ายังมีส่วนช่วยต่อการกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสองประเทศ ภายใต้โครงการพัฒนาเขตอ่าวกว่างตง-ฮ่องกง-มาเก๊า มณฑลกว่างตงยินดีให้บริษัทไทยมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาในพื้นที่ พร้อมลงลึกความร่วมมือทางการค้ากับไทยในด้านต่าง ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ไปจนถึงผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งยังจะพัฒนารูปแบบใหม่ของการค้าภาคบริการสาขาต่าง ๆ เช่น วัฒนธรรม การศึกษา และการท่องเที่ยว เพื่อร่วมกันยกระดับความร่วมมือให้สูงยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน มณฑลกว่างตงจะแนะนำและสนับสนุนให้บริษัทของมณฑลกว่างตงไปลงทุนและพัฒนาธุรกิจในไทย ด้วยสาเหตุดังกล่าว ความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์แก่กันด้านการค้าและการลงทุนระหว่างสองฝ่ายจึงมีอนาคตกว้างไกล
นอกจากนี้ โครงการพัฒนาเขตอ่าวกว่างตง-ฮ่องกง-มาเก๊ายังมีส่วนช่วยต่อการลงลึกความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างสองฝ่าย โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทยมีพื้นฐานอุตสาหกรรมที่ดี มีนโยบายพิเศษและกลไกสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ ตลอดจนมุ่งมั่นที่จะพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ได้แก่ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรมและชีวิตประจำวัน อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และอุตสาหกรรมดิจิทัล กลุ่มอุตสาหกรรมสมัยใหม่ 5 กลุ่มดังกล่าวได้รับความสนใจจากนักลงทุนในเขตอ่าวกว่างตง-ฮ่องกง-มาเก๊าเป็นอย่างมาก ขณะนี้ เขตอ่าวกว่างตง-ฮ่องกง-มาเก๊ามีห่วงโซ่อุตสาหกรรมครบวงจร มีระบบอุตสาหกรรมที่สมบูรณ์ กำลังเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีใหม่ระดับสูงด้านต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ อุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์ที่ทันสมัย ยาชีวภาพ และเศรษฐกิจทางทะเล เพื่อผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมหลายสาขาที่มีมูลค่าการผลิตเกินล้านล้านหยวน ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ทั้งสองฝ่ายสามารถลงลึกความร่วมมือด้านการเชื่อมต่ออุตสาหกรรมระหว่างกัน ขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมของตนให้มีระดับสูงขึ้น มีความเป็นอัจฉริยะ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ในขั้นตอนต่อไป โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทยที่มีทำเลที่ตั้งและสภาพแวดล้อมการลงทุนที่ดี รวมทั้งมีนโยบายให้สิทธิพิเศษสำหรับนักลงทุนจะมอบโอกาสความร่วมมือที่ดีให้แก่บริษัทจีนที่เข้าร่วมในโครงการพัฒนาเขตอ่าวกว่างตง-ฮ่องกง-มาเก๊า จึงเป็นประโยชน์ต่อการผลักดันสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” และการพัฒนาความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีน-ไทย
(tim/cai)