2020-11-25 10:43CRI
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน เวลา 04.30 น. จีนส่งยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-5 ทะยานขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวดขนส่งลองมาร์ช-5 ที่ฐานปล่อยยานอวกาศเหวินชางในมณฑลไห่หนาน ทางภาคใต้ของจีน ก่อนหน้านี้ จีนได้ส่งยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-1 ฉางเอ๋อ-2 ฉางเอ๋อ-3 และฉางเอ๋อ-4 รวมทั้งดาวเทียมสื่อสารเชวี่ยเฉียว (Queqiao) ขึ้นสู่อวกาศตามลำดับ
เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ปี 2007 จีนส่งยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-1 ทะยานขึ้นสู่อวกาศที่ฐานปล่อยดาวเทียมซีชาง ฉางเอ๋อ-1ปฏิบัติภารกิจโคจรรอบดวงจันทร์ ซึ่งเป็นภารกิจแรกของทั้งหมด 3 ขั้นตอน คือ โคจร ลงจอด และกลับสู่โลก ยานอวกาศฉางเอ๋อ-1 ได้โคจรรอบดวงจันทร์เป็นเวลานานถึง 494 วัน แล้วพุ่งชนดวงจันทร์ตามคำสั่งในวันที่ 1 มีนาคม ปี 2009 เป็นการเสร็จสิ้นภารกิจในครั้งนั้น ภารกิจครั้งนั้นทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่ 5 ที่สามารถส่งยานสำรวจดวงจันทร์ขึ้นสู่อวกาศด้วยตนเอง
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ปี 2010 จีนส่งยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-2 ทะยานขึ้นสู่อวกาศที่ฐานปล่อยดาวเทียมซีชาง ยานอวกาศนี้ได้เก็บข้อมูลภาพพื้นผิวดวงจันทร์เพิ่มจากฉางเอ๋อ-1 และยังได้ถ่ายภาพพื้นผิวดวงจันทร์บริเวณที่ฉางเอ๋อ-3 จะลงจอด อย่างไรก็ตาม ฉางเอ๋อ-2 ยังคงปฏิบัติภารกิจโคจรรอบดวงจันทร์เท่านั้น ซึ่งเป็นภารกิจขั้นตอนแรกในโครงการสำรวจดวงจันทร์ของจีน หลังเสร็จสิ้นภารกิจ ยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-2 บินไปยังห้วงอวกาศลึก ไม่ได้ถูกสั่งให้พุ่งชนดวงจันทร์เหมือนเช่นยานอวกาศฉางเอ๋อ-1
ยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-3 ได้ปฏิบัติภารกิจลงจอดบนดวงจันทร์ ซึ่งเป็นภารกิจขั้นตอนที่ 2 แล้ว โดยเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ปี 2013 จีนส่งยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-3 ทะยานขึ้นสู่อวกาศที่ฐานปล่อยดาวเทียมซีชาง ต่อมาในวันที่ 14 ธันวาคมปีเดียวกัน ยานฉางเอ๋อ-3 ได้ลงจอดบนดวงจันทร์ด้วยความสำเร็จ ทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่ 3 ของโลก ที่สามารถนำยานสำรวจลงจอดบนดวงจันทร์ได้ต่อจากสหรัฐฯ และอดีตสหภาพโซเวียต
หลังจากนั้นในวันที่ 8 ธันวาคม ปี 2018 จีนส่งยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-4 ทะยานขึ้นสู่อวกาศ ต่อมาในวันที่ 3 มกราคม ปี 2019 ยานอวกาศดังกล่าวได้ลงจอดบนด้านไกลของดวงจันทร์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ยานสำรวจลงจอดที่ด้านไกลของดวงจันทร์ จนถึงขณะนี้ หุ่นยนต์สำรวจ “อี้ว์ทู่” ซึ่งเป็นยานลูกของฉางเอ๋อ-4 ยังคงปฏิบัติภารกิจสำรวจบนดวงจันทร์ กลายเป็นยานสำรวจที่ปฏิบัติภารกิจบนพื้นผิวดวงจันทร์นานที่สุดในโลก
เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ปี 2018 จีนส่งดาวเทียมสื่อสารชื่อ เชวี่ยเฉียว (Queqiao) ทะยานขึ้นสู่อวกาศ เพื่อเชื่อมต่อการสื่อสารระหว่างศูนย์ควบคุมบนพื้นโลกกับยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-4 ดาวเทียมสื่อสารเชวี่ยเฉียว จึงเป็นดาวเทียมสื่อสารดวงแรกที่เชื่อมต่อการสื่อสารจากนอกวงโคจรโลก โดยสามารถรับสัญญาณข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จากยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-4 แล้วส่งกลับสู่ภาคพื้นโลกได้ทันที จึงมีความหมายสำคัญทางวิทยาศาสตร์ และเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของมนุษย์ในการสำรวจอวกาศ (yim/cai)