พระนางซูสีกับสุกี้หม้อไฟ : หม้อไฟดอกเบญจมาศแห่งราชสำนักชิง (ตอนที่ 2)

พระนางโปรดที่จะดื่มชาดอกเบญจมาศ ซึ่งจะเสวยในถ้วยหยกขาว แต่จริงๆ แล้วการดื่มชาดอกเบญจมาศก็ไม่ใช่อะไรที่แปลกใหม่ คนทั่วไปก็ดื่มกัน ซึ่งทุกวันนี้เรารู้จักกันว่าชาดอกเก๊กฮวยนั้นเอง สิ่งที่แปลกใหม่จริงๆ นั้นคือการนำดอกเบญจมาศมาประกอบเป็นสุกี้หม้อไฟ

คุณหญิงเต๋อหลิงนั้นได้กล่าวถึงวิธีการทำสุกี้ดอกเบญจมาศไว้อย่างละเอียดในหนังสือของตน สุกี้นี้ห้องเครื่องส่วนพระองค์ได้ทำตามที่พระนางซูสีไทเฮาทรงคิดค้นขึ้น ขั้นแรกดอกเบญจมาศจะใช้ดอกเบญจมาศสีขาวขนาดเล็กเรียกว่าเบญจมาศก้อนหิมะ (雪球) ดอกไม้ชนิดนี้คนไทยคุ้นตามาก เพราะเป็นชนิดที่คนไทยมักจะนำมาต้มน้ำเก๊กฮวย เมื่อได้ดอกเบญจมาศสดมาก็จะนำมาแกะกลีบออกเป็นกลีบๆ แล้วนำมาล้างให้สะอาดโดยแช่น้ำสักสิบนาที ก่อนจะผึ่งให้แห้งบนตะแกรงไม้ไผ่ พอแห้งแล้วก็นำมาใส่จานรอไว้

เมื่อจะเริ่มเสวย ขั้นแรกขันทีจะนำหม้อไฟทำจากเงินมาตั้ง แล้วใส่น้ำซุปไก่หรือน้ำซุปต้มกระดูกเตรียมไว้ในหม้อ ข้างๆ กันจะเป็นจานเงินวางเนื้อปลา เนื้อไก่ เนื้อแพะ เนื้อวัวแล่บางๆ ตบแต่งอย่างสวยงามสำหรับให้ทรงคีบลวกในหม้อไฟ ยังมีถ้วยน้ำจิ้มใส่ซีอิ๊ว หรือจิ๊กโฉ่วไว้สำหรับเป็นเครื่องจิ้ม ยามพระนางจะเสวยพระนางจะใส่กลีบดอกเบญจมาศลงไปก่อน หลังจากนั้นขันทีคนโปรดเสี่ยวเต๋อจางจะปิดฝาหม้อ รอจนน้ำเดือดจัด กลิ่นของดอกเบญจมาศหอมอวลไปทั้งหม้อจึงจะเปิดฝา ตอนนี้เองพระนางจะใช้ตะเกียบเงินคีบเนื้อลงไปต้ม ปิดฝาอึดใจ ระวังอย่านานจนเนื้อสุก แล้วเปิดขึ้นมาใหม่ แล้วใส่กลีบดอกเบญจมาศลงไปอีกรอบ ปิดฝาอีกอึดใจพอเนื้อสุกได้ที แล้วจึงเปิดออก คราวนี้กลิ่มหอมของดอกเบญจมาศจะหอมอบอวลทั้งหม้อไฟ ขั้นตอนจังหวะการใส่ดอกเบญจมาศลงน้ำแกงและการปิดฝาสักพักเพื่อให้กลิ่นหอมอบอวนนี้พระนางซูสีทรงพิถีพิถันมาก ทรงออกพระโอษฐ์สั่งเองทุกจังหวะเลยทีเดียว

คุณหญิงเต๋อหลิงเห็นว่าปรกติน้ำแกงในหม้อไฟนี้ก็มีรสหวานอร่อยอยู่แล้ว ยิ่งผสมดอกเบญจมาศลงไปยิ่งหอมหวานเป็นอีกเท่าตัว เวลาพระนางทรงเสวยสุกี้หม้อไฟใส่ดอกเบญจมาศนี้จะพระอารมณ์แจ่มใสเป็นพิเศษ เหมือนกับเด็กได้เล่นของเล่นที่โปรดปรานอย่างไรอย่างนั้น ทุกครั้งที่ทำจะเสวยได้ครั้งละมากๆ นอกจากพระนางจะเสวยเองแล้ว ยังโปรดให้ตักสุกี้หม้อไฟที่กำลังร้อนๆ พระราชทานให้เหล่านางข้าหลวงรอบๆ กินเช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาสนุกสนานของคนรอบพระองค์เลยทีเดียว

ต่อมาความนิยมการรับประทานสุกี้หม้อไฟใส่ดอกเบญจมาศก็ค่อยๆ แพร่ออกไปจากตำหนักส่วนพระองค์ไปทั่ววังจนกระทั่งเป็นอาหารจัดเลี้ยงในวัง ความนิยมนี้ยังแพร่หลายจากวังไปสู่บ้านเรือนประชาชน จนมีร้านค้าหัวใสใส่ดอกเบญจมาศในหม้อไฟ กลายเป็นที่นิยมทั่วปักกิ่งในช่วงปลายราชวงศ์ชิง

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนี้แม้การรับประทานหม้อไฟในปักกิ่งยังหารับประทานได้ง่าย แต่ว่าร้านที่ใส่ดอกเบญจมาศลงไปนั้นทุกวันนี้หาได้ยากแล้ว ทว่าน่าอัศจรรย์ที่อาหารชนิดนี้แม้จะไม่เป็นที่นิยมในปักกิ่ง หากกลับเป็นที่นิยมในเมืองไคเฟิง ซึ่งมีดอกเบญจมาศเป็นสัญลักษณ์ประจำเมือง ดอกเบญจมาศที่ใช้ก็ไม่ใช่แค่ดอกสีขาวสำหรับต้มชาแต่เพียงอย่างเดียว ยังมีการใส่ดอกสีเหลืองลงไปอีกด้วยเพื่อสีสันสวยงาม และยังพัฒนาใส่ลงผสมในน้ำแกงชนิดต่างๆ ไม่ใช่เพียงแค่น้ำแกงใสๆ

หากท่านใดสนใจอยากลองทำรับหน้าหนาวก็ทำได้ง่ายๆ เพียงแค่ไปซื้อดอกเบญจมาศที่ใช้ต้มกับน้ำชา หรือที่คนไทยรู้จักกันทั่วไปว่าดอกเก๊กฮวยมาต้มก็ได้แล้ว แล้วเวลาทำก็ใส่ลงไปในหม้อสุกี้เลย ผู้เขียนทำรับประทานประจำอร่อยดี หอมหวานยิ่งนัก

สำหรับผู้สนใจจะทำตามมีสูตรง่ายๆ ดังนี้

เครื่องปรุง

๑. น้ำซุปไก่ หรือน้ำซุปต้มกระดูก ทำแบบปักกิ่งจะง่ายๆ ใส่น้ำต้มกระดูกจะใส่เก๋ากี้ พุทราจีน กุ้งแห้ง สาหร่ายทะเลแผ่นแห้งอย่างที่ขายในห้างทั่วนิดหน่อย ต้นหอมส่วนสีขาว เห็ดหอม ขิง เหล้าจีน น้ำตาล เกลือ พึงระลึกว่าอย่าใส่ซีอิ๊วเด็ดขาด เพราะจะทำให้น้ำซุปสีขุ่น และจะไปกลบกลิ่นหอมของดอกไม้

๒. ดอกเบญจมาศสีขาวดอกเล็ก ตัดกลีบแบ่งไว้ หรือจะใส่ทั้งดอกก็ได้ ถ้าเรียกดอกเบญจมาศแล้วนึกไม่ออกก็ขอให้เรียกดอกเก๊กฮวย มีตามร้านขายยาจีนทั่วไป ห้างก็มี

๓. เนื้อสัตว์ต่างๆ แล่เตรียมไว้

๔. น้ำจิ้ม แล้วแต่ใจ ถ้าปักกิ่งแท้ๆ ชอบน้ำจิ้มงา ทำง่ายๆ คือเอางาขาวคั่วตำให้ละเอียด ใส่น้ำมันงา น้ำตาล เกลือ ซีอิ๊ว น้ำส้มสายชู กวนให้เข้ากัน แต่ถ้าใครขี้เกียจจะไปหาซื้อแบบสำเร็จรูปก็ได้ ทั้งนี้จะเอาอะไรปรุงใส่ก็ตามใจชอบเช่น กระเทียมผัด พริกป่นผัด เต้าหู้ยี้ ถั่วป่นตามแต่ใจชอบ

วิธีทำ

๑. ต้มน้ำซุปให้เดือด แล้วเอาเครื่องปรุงทั้งหมดใส่ลงไป เตรียมไว้เป็นน้ำซุปหม้อไฟ

๒. เมื่อเริ่มรับประทาน ใส่น้ำซุปลงไป และใส่ดอกเบญจมาศลงไป ต้มสักพักให้น้ำหอม

๓. จะกินอะไรก็ลวกลงไป ถ้าจะเอาอย่างพระนางซูสีลวกทีหนึ่งใส่ดอกไม้ตามทีหนึ่ง แต่ถ้าไม่อยากจะทำขนาดนั้นก็กินไปเรื่อยๆ

ทั้งนี้ผู้เขียนเองยังประยุกต์ทำตามแบบสุกี้ดอกไม้ยูนาน ที่ใส่ดอกไม้ชนิดต่างๆ ลงไปผสม เช่นดอกหอมหมื่นลี้แห้ง ดอกคำฝอยแห้ง ผลที่ได้คือหอมอร่อยดี รสชาติไม่ตีกันแต่อย่างใด ใครจะลองทำตามก็ได้

ขอให้อร่อยสำหรับหน้าหนาวที่จะถึงนี้ กับสุกี้ดอกเบญจมาศ

ภาพและเนื้อหาข่าวเป็นลิขสิทธิ์ของ China Face

Not Found!(404)