ห้องสมุดที่ไม่มีหนังสือขาย ยืมออกก็ไม่ได้ แต่ “อ่าน” ได้อย่างเดียว

ห้องสมุดที่ไม่มีหนังสือขาย ยืมออกก็ไม่ได้ แต่ “อ่าน” ได้อย่างเดียว

หากพูดถึงห้องสมุด ภาพจำของหลายๆ คนก็คือสถานที่สาธารณะที่มีหนังสือมากมายให้อ่าน มีบรรณารักษ์ มีหนังสือที่เราสามารถขอยืมกลับไปอ่านที่บ้านได้ (นอกเสียจากหนังสืออ้างอิง) หรือมีหนังสือที่ไว้ขายซื้อหามาครอบครองได้หากต้องการ

คนจีนให้ความสำคัญกับการศึกษาและการอ่านหนังสือ ถึงแม้ว่าหลายๆ อย่างในจีนจะขึ้นไปอยู่ในโลกออนไลน์แทบทั้งหมด แต่คนจีนจำนวนไม่น้อยก็ยังนิยมชมชอบกับการได้อ่านหนังสือแบบเป็นเล่มๆ กลิ่นหอมของหนังสือและความรู้สึกยามได้พลิกหน้ากระดาษทีละหน้านั้นช่างดึงดูดใจยิ่งนัก จากประสบการณ์ที่เคยเรียนอยู่ที่จีน ห้องสมุดที่นั่นมีขนาดใหญ่โตแบบทั้งตึกทั้งชั้น คนรักการอ่านไปเห็นต้องร้องว้าว ยิ่งช่วงหลังมานี้ ห้องสมุดหลายที่ในจีนสร้างและตกแต่งอย่างสวยงามน่าไปเช็คอินที่สุด แต่วันนี้ คนเขียนมีห้องสมุดแห่งหนึ่งที่เซี่ยงไฮ้อยากแนะนำให้หนอนหนังสือได้รู้จัก ห้องสมุดแห่งนี้มีชื่อว่า “เวยเจวี๋ย” – Weijue หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า “Reading Autumn Bookstore”

มีคนให้นิยามห้องสมุดนี้ว่าเป็นแบบ “Read-Only” หรือ “อ่านได้อย่างเดียวเท่านั้น” ปกติเราจะเจอคำนี้บ่อยๆ เวลาทำงานพวกเอกสารกับคอมพิวเตอร์ใช่ไหมคะ เจ้าห้องสมุด “Read-Only” ที่ว่านี้ ตรงตัวมากๆ คือให้อ่านได้อย่างเดียว ยืมออกก็ไม่ได้  ไม่มีหนังสือวางขายอีกต่างหาก ห้องสมุดเวยเจวี๋ยมีขนาดกะทัดรัดอยู่ที่ 9 ตารางเมตรเท่านั้น ตั้งอยู่ที่ถนนจงซานตะวันตก มหานครเซี่ยงไฮ้ และด้วยขนาดมินิของห้องสมุดทำให้จุคนได้เต็มที่ 6 คน แต่ถึงกระนั้นข้างในก็อัดแน่นไปด้วยกองหนังสือมากมายหลากหลายชนิดสูงทั่วหัว กะด้วยสายตาคร่าวๆน่าจะประมาณ 3,000 เล่ม หนังสือส่วนมากเป็นหนังสือเก่า ห้องสมุดนี้ดังมากในกลุ่มเนติเซ่นจีน ชื่อของห้องสมุดเป็นหนึ่งในคีย์เวิร์ดที่ถูกค้นหามากที่สุดในช่วงเวลาหนึ่งบนเวยโป๋ (สื่อโซเชียลมีเดียยอดฮิตจีน) ส่วนบทความที่เอ่ยถึงห้องสมุดนี้ก็ได้ผ่านสายตาชาวจีนไปแล้วมากกว่า 17 ล้านวิว กระทั่ง นักเขียนชื่อดังของจีนยังพูดถึงห้องสมุดแห่งนี้ในเวยโป๋ส่วนตัว โดยเธอชื่นชมและสนับสนุนว่า “น่าจะมีอะไรแบบนี้ในสังคมมากๆ ขึ้นนะ”

กลุ่มผู้ก่อตั้งห้องสมุดที่ว่านี้เป็นชาวจีนในวัยกลางคน ทั้ง 5 เกิดในยุคหลังปี 70  พวกเขาเล่าถึงแรงบันดาลใจในการทำห้องสมุดแบบป๊อบอัพแห่งนี้ว่า คอนเซ็ปท์ของห้องสมุดนี้นำมาจากห้องสมุดในสมัยก่อนที่ไม่อนุญาตให้ยืมและไม่มีหนังสือเพื่อวางขาย และด้วยความที่เป็นคนเมือง จังหวะชีวิตทุกอย่างก็เร่งรีบไปหมด จะหาเวลาปลีกตัวไปอ่านหนังสือสักทีเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ไลฟ์สไตล์ของคนปัจจุบันเวลาอยากจะหาข้อมูลอะไรอ่าน ส่วนใหญ่แล้วคือการจับมือถือขึ้นมาอ่านพวกทวิตเตอร์หรือดูติ๊กต่อก จุดประสงค์ของห้องสมุดแห่งนี้คือเขาอยากให้คนที่มาใช้บริการได้ระลึกถึงช่วงเวลาแห่งความสุขของการได้อ่านหนังสือ (ในรูปแบบของกระดาษ) เพิ่มทางเลือกและประสบการณ์ใหม่ให้กับคนรุ่นใหม่ที่พวกเขามีโอกาสได้จับหนังสือน้อยลง อ่านบทสัมภาษณ์มาถึงตรงนี้คนเขียนก็เห็นด้วยแบบสุดๆ  สมัยก่อนตอนเป็นเด็ก ความบันเทิงและความสุขคือการได้ไปร้านหนังสือ ขอเงินที่บ้านไปซื้อหนังสือที่อยากอ่านมานั่งอ่านนอนอ่าน แต่ตอนนี้ ความรู้สึกรักหนังสือยังคงอยู่ ทุกงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติก็จะไปหอบหิ้วหนังสือใหม่มากมายกลับมาบ้าน แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังจับยังอ่านไปไม่ถึงครึ่ง 

ห้องสมุดแห่งนี้ได้รับเสียงชื่นชมและมีจำนวนผู้มาใช้บริการมากกว่าที่พวกเขาคาดหวังไว้ หลายคนยอมต่อคิวด้านนอก (ซึ่งช่วงนี้ก็เข้าหน้าหนาวแล้วด้วย) เพื่อที่จะได้เข้าใช้บริการ คำตอบที่พวกเขาได้ก็คือ “พวกเราทั้งหลายมีจิตใจที่กระหายใคร่รู้อยากอ่านหนังสืออยู่ข้างในทั้งนั้น เพียงแต่เราต้องหาช่องทางและโอกาสในการได้กระทำมัน” ส่วนคุณผู้อ่านคนไหนที่สนใจอยากแวะไปเยือนที่นี่บ้าง ก็ต้องบอกว่านี่เป็นโปรเจ็คทดลองในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ห้องสมุดแห่งนี้เปิดให้บริการตั้งแต่ 12 – 26 ธันวาคม 2020 และมีสถิติผู้เข้าใช้บริการประมาณ 500 คน กลุ่มผู้ก่อตั้งที่ได้รับยาหอมจากโปรเจ็คที่เพิ่งผ่านพ้นไป เกริ่นว่าจะมีโครงการทำนองนี้ออกมาอีก รอกำหนดการและสถานที่ที่แน่นอนอีกครั้ง และใบ้นิดๆ ว่ารอบนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับ “ของเล่นในอดีต”

แหล่งข้อมูลที่มา:

  1. He Qi (2021). A 'read-only' installation goes viral. https://www.chinadaily.com.cn/a/202101/08/WS5ff7c521a31024ad0baa156c.html
  2. Teller Reporter (2020). This bookstore in Shanghai "don't borrow or sell" can only watch-Chinanews.com. https://www.tellerreport.com/life/2020-12-22-%0A---this-bookstore-in-shanghai-%22don-t-borrow-or-sell%22-can-only-watch-chinanews-com%0A--.SkdduEkJpv.html
ภาพและเนื้อหาข่าวเป็นลิขสิทธิ์ของ China Face

Not Found!(404)