การเลี้ยงปั้นชา

การเลี้ยงปั้นชา (养壶/หย่างหู) เป็นสิ่งที่ทำควบคู่กับการดื่มชา และนับเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการดื่มชาของชาวจีน การเลี้ยงปั้นชาไม่ใช่เป็นเพียงการล้างปั้นชาให้สะอาดเช่นเดียวกับการล้างจานเท่านั้น แต่การเลี้ยงปั้นชาคืองานศิลป์อย่างหนึ่งที่แฝงคติการฝึกฝนขัดเกลานิสัยของผู้ดื่มชา

มีคำกล่าวไว้ว่า“养壶即养性/หย่างหูจี๋หย่างซิ่ง” แปลว่าการเลี้ยงปั้นชาก็เหมือนดั่งการขัดเกลาตน อาจมีคำถามว่าปั้นชาเป็นสิ่งของไร้ชีวิต ทำไมจึงนำมาเปรียบกับการขัดเกลาบ่มนิสัยของคน เหตุที่เปรียบเปรยเช่นนี้ก็เพราะว่าการเลี้ยงปั้นชามีกรรมวิธีและขั้นตอนที่ประณีต ละเอียด ใช้เวลานานและต้องทำอย่างสม่ำเสมอ นักดื่มชาที่ประสงค์จะเลี้ยงปั้นชาของตนให้มีความแวววาว เงางาม จะต้องมีความอดทน ความใจเย็น ความสม่ำเสมอและความขยัน เช่นนี้แล้วการเลี้ยงปั้นชาจึงเปรียบเสมือนการฝึกตนในทุกๆครั้งที่ดื่มชา

การเลี้ยงปั้นชาที่กล่าวกันโดยทั่วไป โดยมากหมายถึงการเลี้ยงปั้นจื่อซา ปั้นจื่อซาเป็นปั้นที่นักดื่มชานิยมเลี้ยงกันอย่างมาก เหตุเพราะสีภายนอกตัวปั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามระยะเวลาการเลี้ยง การเปลี่ยนแปลงของสีถือเป็นสิ่งที่สร้างความเพลิดเพลินจำเริญจิตจำเริญใจให้แก่ผู้ดื่มชา ส่วนภายในตัวปั้นก็สามารถช่วยเก็บกลิ่น สี รสของน้ำชาไว้ เมื่อใช้ไปนานๆแค่แทน้ำร้อนลงไปก็จะได้น้ำชาที่หอมกรุ่นออกมา โดยที่ไม่ต้องใส่ใบชา 

ขั้นตอนการเลี้ยงปั้นชาจะเริ่มตั้งแต่การเปิดใช้ปั้นใหม่ครั้งแรกหรือภาษาจีนเรียกว่า开壶(ไคหู) โดยเริ่มจากการนำปั้นใหม่และใบชาหนึ่งกำมือใส่ลงไปในหม้อต้ม เทน้ำให้ท่วมปั้นแล้วนำไปต้มให้เดือด หลังจากน้ำเดือดแล้วเปลี่ยนใช้ไฟอ่อนแล้วต้มต่อไป 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง ระหว่างต้มต้องระวังอย่าให้น้ำลดเลยตัวปั้น มิฉะนั้นจะทำให้ตัวปั้นเกิดรอยร้าว แต่ถ้ากลัวว่าวิธีต้มจะทำให้ปั้นร้าวก็สามารถเปลี่ยนเป็นการแช่ปั้นทิ้งไว้ในน้ำชา 2 ชั่วโมงแทนได้ หลังจากต้มหรือแช่เสร็จแล้วให้นำตัวปั้นขึ้นมาตากไว้ในที่ที่แห้ง มีลม และไม่มีกลิ่น ตากไว้จนกว่าตัวปั้นจะแห้งสนิททั้งภายในและภายนอก 

ขั้นตอนที่สองคือการชงชา ก่อนชงชาจะต้องใช้น้ำร้อนราดลงบนตัวปั้นและข้างในตัวปั้นก่อนแล้วถึงจะนำไปใช้ชงชา น้ำแรกที่ได้จากการชงจะไม่ดื่ม เพราะถือเป็นน้ำล้างใบชา แต่ถึงจะไม่ดื่มก็ไม่ทิ้งให้เสียเปล่า ผู้ดื่มชามักนำไปราดบนตัวปั้นหรือตุ๊กตาเลี้ยงน้ำชา ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ช่วยทำให้สีของปั้นค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีเข้มและวาวขึ้น

ขั้นตอนสุดท้ายเมื่อใช้ปั้นเสร็จแล้วต้องนำใบชาออกจากปั้นทุกครั้ง จากนั้นล้างปั้นด้วยน้ำร้อนอีกรอบ และหากต้องการเช็ดปั้นให้แห้ง ผ้าที่นำมาเช็ดต้องเป็นผ้าที่ใช้สำหรับการเช็ดปั้นชาโดยเฉพาะและต้องเป็นผ้าหมาดเท่านั้น นอกจากขั้นตอนต่างๆข้างต้นแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดของการเลี้ยงปั้นชาอีกอย่างหนึ่งคือ ปั้นชาหนึ่งใบจะต้องใช้ชงชาประเภทเดียวเท่านั้น และเมื่อใช้ไปนานๆ ปั้นจะเก็บสี กลิ่น รสของชาประเภทนั้นไว้ ทำให้เมื่อใส่น้ำร้อนลงไปโดยที่ไม่ใส่ใบชาก็ยังจะได้น้ำชาออกมา

หากถามว่าประโยชน์จากการเลี้ยงปั้นชาคืออะไร ดังที่ผู้เขียนได้เกริ่นไว้ข้างต้น การเลี้ยงปั้นชาคือสุนทรียภาพอย่างหนึ่งของนักดื่มชา บางทีก็เปรียบเสมือนการเลี้ยงลูกที่ต้องประคบประหงมดูแล รักษา ขณะเดียวกันผู้เลี้ยงก็ต้องฝึกความอดทน ความมีวินัย ความใจเย็นและที่สำคัญต้องละทิ้งความเกียจคร้าน ทุกครั้งที่ดื่มชาต้องอย่าค้างใบชาไว้ในปั้น เพราะใบชาค้างปั้นจะมีกลิ่นเหม็น ซึ่งหากปั้นมีกลิ่นเหม็นแล้วจะทำให้กลิ่นและรสของการชงครั้งต่อไปเปลี่ยนไป ปั้นชาที่เลี้ยงออกมาได้สวยงาม แวววาวต้องใช้เวลาเลี้ยงเป็นปีๆ ดังนั้นผู้เลี้ยงจึงต้องมีความอดทนในการเลี้ยง มูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากการเลี้ยงปั้นแท้จริงแล้วเป็นแค่ผลพลอยได้เล็กๆน้อยๆเท่านั้น หากวันหนึ่งที่คุณเลี้ยงปั้นออกมาได้ใบหนึ่งแล้ว มีคนมาขอซื้อเป็นล้าน ผู้เขียนเชื่อว่าคุณก็คงไม่ขาย เพราะนั่นคือลูกของคุณ

ภาพและเนื้อหาข่าวเป็นลิขสิทธิ์ของ China Face

Not Found!(404)