2021-01-26 17:06CRI
เมื่อปี 2013 หลิน หัน วัย 25 ปี พลัดตกจากชั้นสี่ขณะทำงานในเขตก่อสร้าง ทำให้เส้นประสาทไขสันหลังเขาได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ร่างกายส่วนล่างไม่อาจขยับเขยื้อนได้ เขาทุกข์ใจอย่างมาก
หลังจากนั้น ในเดือนสิงหาคมของปีเดียวกัน ทีมงานของศาสตราจารย์ เฉิง หง ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์โครงกระดูกจากศูนย์วิจัยหุ่นยนต์มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์จีน ได้ประกาศรับสมัครผู้ทดสอบการทำงานของหุ่นยนต์โครงกระดูก หลินหันจึงขอเป็นอาสาสมัครกลุ่มแรกทันที
เขาเล่าว่า ตอนที่เขาพักฟื้นในโรงพยาบาลได้ทราบข่าวจากกลุ่มผู้ป่วยด้วยกันว่า มีหุ่นยนต์ช่วยผู้พิการในต่างประเทศ แต่ในจีนหาซื้อไม่ได้ และก็ราคาแพงมาก หลายแสนดอลลาร์ เขาจึงแค่ฟังเฉยๆ
พอรู้ว่าในจีนมีโครงการวิจัยนี้ หลิน หันที่ไม่สามารถเดินได้เป็นเวลาสองปีรู้สึกตื่นเต้นดีใจมาก ตอนที่เขาได้ลองสวมใส่หุ่นยนต์โครงกระดูกเป็นครั้งแรก เขากล่าวว่า เจ้าหน้าที่บอกวิธีควบคุมใช้งานอย่างละเอียด แต่เขาฟังไม่เข้าหูเลย ใจคิดอยากจะเดินก้าวออกไปเท่านั้น ด้วยความพยายามคอยให้คำแนะนำอย่างอดทนของเจ้าหน้าที่ หลิน หันก็สามารถปรับตัวและคุ้นเคยกับการใช้หุ่นยนต์โครงกระดูกได้ดีมากขึ้น
ศาสตราจารย์ชิว หัวหน้าทีมวิจัยหุ่นยนต์โครงกระดูกของมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์จีนกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ขณะนี้ผลิตภัณฑ์ฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ “หุ่นยนต์โครงกระดูก” โดยทีมวิจัยของเขาได้รับการปรับปรุงมาถึง 5 รุ่นแล้ว มีความพร้อมสมบูรณ์เชิงพาณิชย์ ผู้ป่วยสามารถเช่าไปใช้งานได้ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายอย่างมาก ยิ่งเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศที่คล้ายคลึงกันด้วย
ผลิตภัณฑ์รุ่นที่ 5 ล่าสุดนี้ สามารถขึ้นลงบันไดและเดินบนทางลาดชันได้แล้ว นอกจากนี้ ยังจะใช้สัญญาณจากเยื่อหุ้มสมองเพื่อควบคุมการทำงาน การตรวจจับอัจฉริยะและการรับรู้ถึงความตั้งใจการกระทำของผู้สวมใส่ เพื่อให้ผู้ป่วยได้สัมผัสประสบการณ์การเดินที่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด ปัจจุบัน ยังคงมีการทดสอบพัฒนาหุ่นยนต์โครงกระดูกรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าจะนำออกสู่ตลาดให้บริการแก่ผู้ป่วยได้ในเร็วๆนี้
Yim/kt/peng