ตรุษจีน : ครอบครัวพร้อมหน้า, อาหารมื้อใหญ่ และสีแดงสดใส

ตรุษจีน : ครอบครัวพร้อมหน้า, อาหารมื้อใหญ่ และสีแดงสดใส_fororder_20200209-11

ภาพจำวันตรุษจีนของผม คงไม่ต่างจากของอาตี๋อาหมวยทั้งหลาย ที่ไม่พ้นหมูเห็ดเป็ดไก่เต็มโต๊ะ สีแดงของอั่งเปา ประทัด และของตกแต่ง ท่ามกลางบรรยากาศอากง อาม่า อาอี้ อาเจ็กรวมตัว ไปมาหาสู่กันพร้อมของติดไม้ติดมือ

1.

วัฒนธรรมจีน ให้ความสำคัญกับการรวมตัวของครอบครัวมาก ครอบครัวที่มีลูกหลานและญาติเยอะ คือครอบครัวอุดมคติ แค่เยอะยังไม่พอ จะต้องอยู่รวมกันอย่างแน่นแฟ้น เกื้อกูลกันด้วย แต่ในอีกด้าน แต่ละครอบครัวก็อาจมีสมาชิกต้องระหกระเหินอยู่แดนไกลเช่นกัน ในวรรณกรรมจีน และประวัติศาสตร์จีนหลายต่อหลายเรื่องนับพันปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน มีไม่น้อยที่ตัวละครในครอบครัวต้องย้ายถิ่น ไม่ว่า จะไปทั่วแคว้นเพื่อเผยแพร่อุดมคติการปกครอง (ขงจื่อ) เร่ร่อนตามหัวหน้าแสนดีที่เห็นคุณค่าของตน (ขงเบ้ง) จากบ้านนาเข้าเมืองหลวงสอบจอหงวนแต่ลำพัง หรือแม้แต่ไปบุกเบิกทำมาหากินด้วยเสื่อผืนหมอนใบที่ "เสี่ยมล้อ" (สยาม)

การจากถิ่นแต่ละครั้ง ก็ใช่จะใกล้หรือกินเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เอาเป็นว่า ขงเบ้ง ที่ต้องอพยพจากหุบเขาโงลังกั๋งอันสงบสุข ไปฝังตัวในเสฉวน ต้องพลัดพรากจากบ้านเกิด ก็เป็นระยะทางพอๆ กับการออกจากแม่ฮ่องสอนตอนวัยรุ่นไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่นราธิวาสก็ว่าได้

การรำลึกถึง ห่วงใย ต้องการกลับมาพร้อมหน้ากันอีกครั้งบนโต๊ะที่เต็มไปด้วยกับข้าว จึงเกิดขึ้นจากประสบการณ์การ "ต้องห่างเหิน"  แม้ในปัจจุบัน  ชาวจีนจำนวนมหาศาลก็ยังจะต้องอพยพไปมาข้ามเมืองเพื่อเรียนหนังสือ หรือทำงานเพราะโอกาสมีอยู่ทั่วทุกมุมโลก  ภารกิจของชีวิตใครหลายคนคือการออกไปไขว่คว้าโอกาสนั้น ช่วงที่ต้องกลับบ้านให้ได้ก็คือช่วงตรุษจีน ใครจะไปเที่ยวจีนในเมืองใหญ่ๆ ช่วงนี้ ต้องเตรียมรับสภาพร้านรวงปิดเล่นประทัดกันหลายวันหลายคืน เพราะลูกจ้างหมดเมือง ต่างกับเทศกาลตรุษจีนในไทยในยุคนี้ ที่กลุ่มคนเชื้อสายจีนอยู่ในเมืองตั้งแต่แรก ไม่ต้องกลับไปไหน

สำหรับอาหารการกิน ชาวจีนได้ชื่อว่าสนใจเรื่องปากท้องอย่างยิ่ง "เจี่ยะปึ่งอาบ่วย"(กินข้าวรึยัง) เป็นคำทักทายกันและกันตั้งแต่ไหนแต่ไรก่อนคำว่า "สวัสดี" (หนีห่าว) ทุกวันนี้ถ้าสนิทกับชาวจีนมากขึ้นก็สามารถทักทายในตอนเช้าว่า "กินข้าวเช้ารึยัง" ถ้าตอนสายก็ทักว่า "กินข้าวเที่ยงรึยัง" ได้ และสำหรับเทศกาลพิเศษก็จะมีของกินประจำเทศกาล โดยเฉพาะเทศกาลตรุษจีนจัดว่าเป็นเทศกาลกินครั้งมหึมา หมูเห็ดเป็ดไก่รวมพล อาหารคาวหวานครบชุด อาหารไหว้บรรพบุรุษซึ่งจะกลายเป็นอาหารเราในไม่ช้า จะต้องเต็มโต๊ะ มีมากกว่าจะกินกันให้หมดในมื้อเดียว โชคดีที่อาหารจำนวนมาเก็บไว้มื้ออื่นๆ ได้ หรือจะเผื่อแผ่ญาติมิตรก็ไม่เลว จะว่าไปก็เป็นภาระกับแม่บ้านเชื้อสายจีนที่ต้องทั้งเหนื่อยเตรียม เหนื่อยกิน เหนื่อยเก็บ แต่ลึกๆ ก็มักเต็มไปด้วยความยินดี

2.

อารยธรรมจีนก็เหมือนกับอารยธรรมอื่นๆ ของโลก ที่ผ่านทั้งช่วงเวลาสุขสมและยากลำบาก บางยุคสมัยอาหารการกินไม่หลากหลายมากมาย วัตถุดิบที่มีไม่มาก จึงต้องใช้ความหวังและจินตนาการเสริมเข้าไปให้ดูมากมี

ทุกวันนี้ในดินแดนตอนกลางของจีน จะพบเกี๊ยวหลากรูปร่างในชื่อหลากหลาย ทั้งๆ ที่ทำมาจากแป้งและไส้ที่ไม่ต่างกันนัก เพราะแม้ดินแดนจีนจะกว้างใหญ่ แต่พื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์มากพอที่จะใช้เพาะปลูกใช่จะมีมากตามไปด้วย ยิ่งไม่ต้องพูดถึงในยุคที่ไม่มีเทคโนโลยีมาเสริมให้การเพาะปลูกทำได้ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยแบบปัจจุบัน อาหารหลักที่ปลูกและเก็บได้นานตลอดทั้งปีจึงมีเพียงไม่กี่ชนิด จินตนาการและศิลปะที่ปั้นแต่งแป้งเป็นรูปต่างๆ จึงพอช่วยห่อหุ้มให้วัตถุดิบทางอาหารที่มีอยู่จำกัดดูเหมือนอุดมสมบูรณ์ขึ้นมา

3.

สีแดงคือสีแห่งไฟ หนึ่งใน 5 ธาตุ ซึ่งเป็นความเชื่อทางธรรมชาติวิทยาของจีนโบราณ แต่ทั้งที่เป็นแค่ 1 ใน 5 ธาตุแล้วทำไมสีแดงคือสีที่โดดเด่นที่สุด โดยเฉพาะในเทศกาลตรุษจีน มีภาพติดตาของผมอีกอย่างคือ แผนกเสื้อในสุภาพสตรีในห้างสรรพสินค้าที่จีนช่วงนี้ จะเต็มไปด้วยชุดชั้นในและกางเกงในสตรีสีแดงแขวนเต็มผืนผนัง! (ซึ่งแผนกอื่นก็เต็มไปด้วยสีแดง แต่ไม่รู้ทำไม ผมจึงติดตาแผนกนี้เป็นพิเศษ)

เทศกาลตรุษจีนอยู่ในช่วงพ้นฤดูหนาว ฤดูหนาวในศูนย์กลางของรากอารยธรรมจีนโบราณมีความหนาวเป็นความตายดีๆ นี่เอง ด้วยความเชื่อในธรรมชาติเรื่องธาตุและสมดุลของพลัง สีแดงจึงกลายเป็นพระเอกแทนเทพอพอลโล ภาพเด็กจีนแก้มสีลูกท้อเดินเตาะแตะอยู่กลางแดดอยู่กลางชุดหนาวหนาๆ จนแขนขาตรงทื่อ คือภาพที่น่ายินดีของยุคสมัยนี้ เพราะในยุคสมัยก่อนเด็กที่รอดพ้นหนาวแรกมาได้มีไม่มาก

หากลูกหลานรอดพ้นหน้าหนาวอันโหดร้ายมาได้ เอี๊ยมแดงและอั่งเปา คือสัญลักษณ์ของความมงคล เฉลิมฉลอง การปัดเป่าหายนะ รวมถึงการจุดประทัดก็คือการขับไล่สิ่งชั่วร้ายที่แฝงตัวอยู่ในฤดูหนาวเช่นกัน

ความคิดถึงสมาชิกในแดนไกล ความหวังและจินตนาการที่ถ่ายทอดมาทางอาหารหลากหลาย  และการเอาชีวิตรอดจากวัฏจักรธรรมชาติ จึงเป็นรากลึกที่แฝงในการฉลองเทศกาลตรุษจีนทุกขวบปี เพราะห่างไกลจึงโหยหาการรวมตัว เพราะเห็นคุณค่าของอาหาร ข้าวปลามื้อใหญ่ที่ทั้งเหนื่อยเตรียมเหนื่อยเก็บจึงเป็นสิ่งน่ายินดี เพราะเคยเห็นชีวิตที่ร่วงโรยไปง่ายๆ การมีชีวิตผ่านปีจึงมีคุณค่า คนรุ่นอากงอาม่าที่มีประสบการณ์ตรงจึงมีความผูกพันเหนียวแน่นกับเทศกาลเหล่านี้ ประสบการณ์ของคนแต่ละรุ่นอาจอธิบายไม่ได้ด้วยคำพูด แต่แฝงรหัสไว้ในความ "อิน" กับประเพณีในยุคนั้นๆ

ผ่านกาละและเทศะไปกับสังคม ทำให้เทศกาลตรุษจีนเต็มไปด้วยพิธีกรรมและธรรมเนียม สิ่งของและ อาหารประจำตรุษจีนถูกใส่ความหมายมงคลลงไป ซึ่งล้วนสะท้อนความคาดหวังในชีวิตที่ผ่านพ้นอีกปีของคนรุ่นก่อนหน้าผสานกับรุ่นปัจจุบัน

ในยุคที่การก้มหน้า Chat กับคนไกลตัวทำได้บ่อยกว่าเงยหน้าคุยกับคนข้างๆ หนุ่มสาวเห็นการเดินทางไปแดนไกลเป็นฝันที่จะสลัดพันธนาการจากงานประจำชั่วครู่ อาหารหลากหลายมากมายในปาร์ตี้วันศุกร์ และชีวิตที่มีสุขอนามัยที่ดี ผู้คนจึงค่อยๆ ผูกพันกับเทศกาลนี้ด้วยอารมณ์ต่างกับอดีต บางคนกว่าจะรู้ตัวว่าวันนี้เป็นวันตรุษจีนก็เพราะมีเสียงเตือนให้รีบกลับบ้านมาทานอาหารมากมาย บางคนก็เป็นเพราะความรู้สึกตื่นเต้นดีใจว่าจะได้เปิดซองอั่งเปา ขณะที่บางคนต้องตื่นตัวก่อนหน่อยเพราะมีภารกิจหาทรัพย์ใส่ซอง (ซึ่งบางทีคนใส่ซองก็รู้ตัวช้ากว่าคนรอเปิด)

คงไม่จำเป็นที่ทุกคนจะต้อง"อิน"กับเทศกาลตรุษจีนด้วยอารมณ์และประสบการณ์เดียวกัน แต่ความเข้าใจความ"อิน"ของคนรุ่นก่อนในครอบครัวไม่ว่าจะเป็นรุ่นที่มีโอกาสได้อยู่ร่วมโต๊ะอาหารหรือไม่ ก็น่าจะช่วยให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวรื่นรมย์ขึ้นมาได้ในเทศกาลตรุษจีน

ภาพและเนื้อหาข่าวเป็นลิขสิทธิ์ของ China Face

Not Found!(404)