2021-02-27 16:14ไชน่ามีเดียกรุ๊ป
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ จีนประกาศขจัดความยากจนเชิงสัมบูรณ์ด้วยความสำเร็จ บรรลุเป้าหมายการบรรเทาความยากจนที่ระบุไว้ในวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติล่วงหน้า 10 ปี โดยเฉพาะช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ประชากรจีนเกือบ 100 ล้านคนหลุดพ้นความยากจน เท่ากับว่าแต่ละปีมีประชากรของประเทศขนาดปานกลางหนึ่งแห่งหลุดพ้นจากความยากจน ประชากรจีนมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ของประชากรทั่วโลก ผลสำเร็จด้านการขจัดความยากจนดังกล่าวไม่เพียงแต่เป็นของจีนหากยังเป็นของทั่วโลก
การแพร่ระบาดของโควิด-19 กำลังทำให้กระบวนการบรรเทาความยากจนชะลอความเร็วลงไปอีกระดับ ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า จนถึงสิ้นปี 2021 การแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจทำให้ชาวโลกตกอยู่ในวิกฤตความยากจนข้นแค้น ภายใต้ภูมิหลังดังกล่าว ประเทศที่มีประชากร 1,400 ล้านคนฝ่าฟันอุปสรรคอันยากลำบากและขจัดความท้าทายมากมาย เอาชนะความยากจนเชิงสัมบูรณ์ตามกำหนด ถือเป็นการสร้างคุณูปการอันใหญ่หลวงต่อกระบวนการบรรเทาความยากจนทั่วโลก สถิติจากธนาคารโลก ระบุว่า ประชากรทั่วโลกทุก 100 คนที่หลุดพ้นจากความยากจนกว่า 70 คนมาจากประเทศจีน
ขณะเดียวกัน จีนยังใช้ปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมให้ความช่วยเหลือโดยตรงแก่ประเทศกำลังพัฒนาและปฏิบัติตามวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน ค.ศ.2030 ของสหประชาชาติ ตลอดช่วงกว่า 60 ปีที่ผ่านมา จีนจัดส่งเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือกว่า 600,000 คนไปยัง 166 ประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ ให้ความช่วยเหลือมูลค่ารวมราว 400,000 ล้านหยวน อีกทั้งยังประกาศยกเลิกเงินกู้ไร้ดอกเบี้ยระหว่างรัฐบาลที่ถึงกำหนดใช้คืนของประเทศยากจนที่ติดหนี้สินจำนวนมากและประเทศด้อยพัฒนาที่สุดอย่างไม่มีเงื่อนไขทั้งหมด 7 ครั้ง
ทั่วโลกยังไม่มีประเทศใดสามารถช่วยเหลือผู้ยากไร้จำนวนมากให้หลุดพ้นความยากจนภายในระยะเวลาอันสั้นได้ถึงขนาดนี้ มีแต่จีนเพียงประเทศเดียวที่ทำได้ แบบอย่างการบริหารจัดการเพื่อบรรเทาความยากจนของจีนมีคุณค่าแก่ประเทศอื่นในการศึกษาวิเคราะห์ พร้อมไตร่ตรองว่าจะเรียนรู้และอ้างอิงประสบการณ์ของจีนเชิงสร้างสรรค์ต่อไปอย่างไร ตลอดจนสร้างคุณูปการของตนเองแก่การสร้างโลกที่ประเทศต่าง ๆ พัฒนาร่วมกันและปราศจากความยากจน
TIM/LF/ZI