2021-03-18 14:09
“เราทุกคนคือผู้บริโภค” ประโยคนี้ไม่เกินความเป็นจริงเลยค่ะ ไม่ว่าเพื่อนๆ จะทำอาชีพอะไรหรือว่ากำลังพัก (ว่างงาน) อยู่ก็ตาม เราก็เป็นหนึ่งในบรรดาผู้บริโภคด้วยกันทั้งสิ้น ในฐานะผู้บริโภคเราก็ควรทราบ รับรู้ หรือทำความเข้าใจกับสิทธิที่เราพึงจะมี รวมถึงรับรู้ด้วยว่า เขามีวัน “ซานเยาอู่” หรือ “3.15” – วันสิทธิผู้บริโภคสากลด้วย วัตถุประสงค์ของวันซานเยาอู่นี้ก็คือ ส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคให้แพร่หลาย ให้ความสำคัญ ส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างองค์กรผู้บริโภคในประเทศและภูมิภาคต่างๆ อย่างของที่จีน ทางสมาคมผู้บริโภคแห่งประเทศจีนได้ประกาศหัวข้อปีแห่งการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคประจำปี 2021 ว่า "คุ้มครองเพื่อการบริโภคที่ปลอดภัยและราบรื่น"
“รายการพิเศษเนื่องในวันสิทธิผู้บริโภคสากลของจีน 3.15 - ซานเยาอู่”
ที่มาภาพ: https://reut.rs/3rT5RJj
“รายการ 3.15” หรือภาษาจีนเรียกว่า “ซานเยาอู่” จัดขึ้นในวันที่ 15 เดือนมีนาคมของทุกปี ซึ่งวันที่ว่านี้ก็คือวันสิทธิผู้บริโภคสากล (Consumer Rights Day) เป็นวันสำคัญที่มีขึ้นเพื่อเตือนให้ผู้บริโภคทุกคนตระหนักถึงสิทธิของตนเอง วันนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 1962 แต่มาเป็นที่รู้จักจริงจังก็อีก 21 ปีต่อมาโน่นแน่ะค่ะ! กล่าวคือ สมาคมผู้บริโภคแห่งประเทศจีนก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นเมื่อปีค.ศ. 1983 และได้เข้าร่วมสมาคมผู้บริโภคระหว่างประเทศในปีค.ศ. 1987 ส่วนเจ้าตัว “รายการ 3.15” (ซานเยาอู่) ปกติแล้วจะจัดฉายทาง CCTV ออกอากาศครั้งละ 2 ชั่วโมง รายการพิเศษแบบนี้ หนึ่งปีมีครั้งเดียวค่ะ
ย้อนไปดูของปีที่แล้ว (2020) กันก่อนค่ะ ปีที่แล้วเนื่องจากพิษของโควิด 19 ทำให้รายการ 3.15 ที่ปกติจะต้องออนแอร์เดือนมีนาคม ออกอากาศช้าไปหลายเดือน จนในที่สุดก็ถึงฤกษ์ดี คือ เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว แบรนด์ที่ถูกนำมาแฉ หรือ ตำหนิ ในเรื่องของการเอาเปรียบผู้บริโภคนั้นมีทั้งแบรนด์นอกและแบรนด์ท้องถิ่น บอกเลยว่าเขาก็วิจารณ์กันตรงๆ แบบต่อยหมัดหนักๆ เสยคางกันไปเลย ไม่ว่าจะเป็น แบรนด์ผลไม้อย่าง Apple ก็โดนเรื่องระยะเวลาประกันที่สั้นกว่าในประเทศอื่นๆ โดยให้บริการประกันในจีนแผ่นดินใหญ่แค่ 1 ปีเท่านั้น หรือแบรนด์กาแฟนางเงือกอย่าง Starbuck ก็โดนตั้งคำถามว่า ทำไมถึงขายราคาต่อแก้วในจีนแผ่นดินใหญ่แพงกว่าราคาที่ขายในสหรัฐอเมริกา และหากเปิดแฟ้มประวัติศาสตร์ดู จะพบแบรนด์ยักษ์ใหญ่มากมายที่โดนแฉ เช่น แบรนด์ขีดถูก (Nike) โดนเรื่องโฆษณาเกินจริง Volkswagen โดนเรื่องเครื่องยนต์ของรถ SUV มีปัญหา หรือแบรนด์ไม่มียี่ห้อ (Muji – ชื่อนี้ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า No Brand) ก็ถูกตั้งคำถามว่า สินค้าประเภทอาหารที่นำมาวางขายในร้านมาจากแหล่งผลิตที่อาจจะปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสี ฯลฯ
ร้าน Apple Store สาขาที่ 5 ในจีนแผ่นดินใหญ่ ตั้งอยู่ที่เซี่ยงไฮ้
ที่มาภาพ: http://www.xinhuanet.com/english/2019-04/19/c_137991689.htm
ใช่ว่าจะเลือกที่รักมักที่ชังแต่ประการใด แบรนด์สัญชาติจีนเองหากทำอะไรไม่ชอบมาพากลก็โดนแฉด้วยเช่นกัน อย่างเมื่อปี ค.ศ. 2016 ทางสมาคมผู้บริโภคแห่งประเทศจีนพบว่ามี พ่อค้าแม่ขายหลายรายใน Taobao อีคอมเมิร์ซชื่อดังแอบปั๊มยอดขาย (ปลอม) เพื่อความน่าเชื่อถือ หรือ แอปส่งอาหารหิวหรือยัง Ele.ma - เอ้อเลอมะ? เคยโดนตรวจสอบเรื่องร่วมงานหรือเดลิเวอร์รี่อาหารจากร้านที่ไม่ได้มาตรฐานสาธารณสุขหรือร้านที่ไม่ได้รับใบประกอบฯ อย่างถูกต้อง ของแบบนี้อย่าว่าจับผิดเลย เราๆ ท่านๆ ในฐานะผู้บริโภคต้องขอบคุณคนที่แจ้งเรื่องหรือคนที่เป็นหูเป็นตาให้ เพราะหลังจากที่ประกาศชื่อแบรนด์หรือเคสต่างๆ เหล่านี้ออกมา ก็ทำให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังมากขึ้นในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ ในขณะเดียวกัน บรรดาผู้ให้บริการก็ต้องพยายามรักษามาตรฐานไม่ให้ตกต่ำจนกระทั่งโดนแฉพร้อมหลักฐาน หากร้านบริการดีไม่โดนลูกค้า Complain ก็เท่ากับว่ามีเครดิตน่าเชื่อถือ อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่วนมากก็จะขยับตัวหรือ Take Action แทบจะทันที เพราะฉะนั้นก็น่าจะเรียกได้ว่า “วิน-วิน-วิน” ก็ได้ ณ จุดนี้ เพราะถึงแม้ความผิดพลาดหรือการเอาเปรียบผู้บริโภคบางอย่างจะยังคงอยู่ แต่ก็มีแนวโน้มจะลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากผู้บริโภคจำนวนมากขึ้นเริ่ม “ตามเกมส์” ทัน และการที่มีการให้ร้องเรียนหรือถูกจับตาอยู่ก็น่าจะทำให้ซิกแซกหรือคดโกงได้ไม่ถนัดนัก
วันสิทธิผู้บริโภคสากล (Consumer Rights Day) 消费者权利日
ที่มาภาพ: http://tj.offcn.com/html/2021/03/311034.html
อย่างไรเสียก็อย่าลืมนะคะ เราในฐานะผู้บริโภคต้องพยายามหูไวตาไวและรู้เท่าทันบริษัทผู้ผลิตสินค้าและผู้ให้บริการ เพราะเมื่อมีการติดตาม เฝ้าระวัง การหลบหลีกหรือซอกแซกก็ย่อมจะเกิดขึ้นบ้างหากเจอพ่อค้าแม่ค้าหัวใส ทางบริษัทห้างร้านต่างๆ จะงัดกลวิธีเพื่อรับมือกับซานเยาอู่อย่างไร และเส้นทางของวันสิทธิผู้บริโภคในจีนมีการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน ติดตามได้ในตอนต่อไปค่ะ
แหล่งที่มาข้อมูล: