นักวิชาการไทยเห็นว่า“การแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง”ควรเป็นทางเลือกสำหรับจีนกับสหรัฐฯ ในการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างกัน

2021-03-20 18:28CMG

เมื่อวันที่ 18-19  มีนาคมที่ผ่านมา  การเจรจาเชิงยุทธศาสตร์ระดับสูงระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จัดขึ้นที่เมืองแองเคอเรจ รัฐอะแลสกาของสหรัฐฯ นับเป็นการติดต่อระดับสูงครั้งแรกระหว่างสองประเทศ หลังผู้นำจีน-สหรัฐฯ พูดคุยทางโทรศัพท์ช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา  เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทั่วโลกต่างจับตามอง

โอกาสนี้ ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์  นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน (CMG) ในประเด็น “ มุมมองต่อการเจรจาเชิงยุทธศาสตร์ระดับสูงระหว่างจีนกับสหรัฐฯ” ดังต่อไปนี้

นักวิชาการไทยเห็นว่า “การแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง”ควรเป็นทางเลือกสำหรับจีนกับสหรัฐฯ ในการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างกัน_fororder_8

มีนาคมเป็นเดือนที่เกิดเหตุการณ์สำคัญถึงสองอย่าง หลังจบการประชุมสองสภาของจีน โลกก็ได้เห็นการประชุมเจรจายุทธศาสตร์ระดับสูงจีน-สหรัฐฯ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 18-19 ที่ผ่านมา การประชุมอย่างแรกมีนัยในเชิงของการประกาศจุดยืนให้ทุกฝ่ายทราบว่าจีนมีความประสงค์ที่จะจัดการปัญหาต่างๆ อย่างสันติรวมทั้งต้องการกระชับความร่วมมือกับนานาประเทศบนพื้นฐานความเท่าเทียม การประชุมอย่างที่สองคือความต่อเนื่องจากการประชุมสองสภาด้วยแฝงความมุ่งหมายให้โลกรู้ว่าจุดยืนของจีนเรื่องสันติภาพไม่ใช่เพียงคำประกาศเลื่อนลอย

การประชุมเจรจายุทธศาสตร์ระดับสูงจีน-สหรัฐฯ คือพื้นที่สำหรับถกเถียงปัญหาและกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ของสองฝ่าย นี่ถือเป็นการประชุมเจรจายุทธศาสตร์ครั้งแรกหลังจากอำนาจบริหารสหรัฐฯ เปลี่ยนผ่านไปสู่มือของประธานาธิบดีโจ ไบเดน

ผู้แทนฝั่งสหรัฐฯ ประกอบไปด้วยนายแอนโทนี บลินเคน รัฐมนตรีต่างประเทศพร้อมด้วยนายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ ฝั่งจีนมีนายนายหยาง เจี๋ยฉือ  เจ้าหน้าที่ทูตระดับสูงและนายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศ ทั้งหมดประชุมที่เมืองแองเคอเรจ รัฐอะแลสกาในสหรัฐอเมริกา

ก่อนการประชุม สหรัฐฯ ได้แสดงข้อกังวลหลายอย่างเกี่ยวกับจีน ได้แก่ การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่เป็นไปในเชิงบังคับ การละเมิดสิทธิมนุษยชน การปราบปรามผู้ประท้วงในฮ่องกง การอ้างสิทธิ์ครอบครองพื้นที่เหนือทะเลจีนไต้ และการข่มขู่ไต้หวัน

แต่ผู้แทนฝ่ายจีนได้แสดงข้อกังวลเกี่ยวกับสหรัฐฯ เช่นกัน จีนมองว่าจีนและสหรัฐฯ ไม่อาจเลี่ยงความรับผิดชอบต่อสันติภาพ เสถียรภาพ รวมถึงการพัฒนาต่างๆ ในโลก เพราะจีนและสหรัฐฯ ล้วนเป็นมหาอำนาจที่สามารถส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นทั่วโลก ประการถัดมา จีนพร้อมยืนหยัดค่านิยมร่วมโดยเฉพาะเรื่องสันติภาพ การพัฒนา ความยุติธรรม ประชาธิปไตย และเสรีภาพ จีนยึดมั่นระบบสากลที่มีสหประชาชาติเป็นแกนนำ แต่จีนจะไม่ยอมรับระเบียบวาระโดยสหรัฐฯ หรือชาติใดๆ ก็ตามโดยไม่ผ่านมติของสหประชาชาติ จีนยังกล่าวถึงความจำเป็นที่จะปกป้องศักดิ์ศรีของจีนเองโดยจะไม่ยอมรับการใส่ความอย่างที่ปรากฏในข้อกังวลฝ่ายสหรัฐฯ จีนขอความเคารพในเรื่องอธิปไตยของจีนพร้อมกับขอให้เลี่ยงการเป็นปฏิปักษ์ต่อกันดังที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และประธานาธิบดีไบเดนได้เคยลงความเห็นก่อนการประชุมว่าไม่ควรมีความขัดแย้งเรื้อรัง แต่ให้สองฝ่ายหันหน้าเข้าหากันให้มากขึ้น

แม้จะมีความตึงเครียด การประชุมครั้งนี้กลับจบลงด้วยความพึงพอใจ แต่ละฝ่ายแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาและจากกันด้วยความเข้าใจ

หากพิจารณาในภาพรวม จะพบว่าจีนได้ใช้การประชุมเจรจายุทธศาสตร์ฯ สานต่อความมุ่งหมายเกี่ยวกับการสื่อสารตัวตนของจีนมากกว่าจะหวังให้การประชุมช่วยยุติปัญหาอันดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ต้องไม่ลืมว่าปฏิบัติการข่าวสารได้กระพือความตึงเครียดของสองฝ่ายมาเป็นระยะเวลาหลายปี ทางจีนต้องตั้งรับการสร้างภาพหลายอย่างจนโลกพร้อมจะมองจีนเป็นผู้คุกคาม อย่างในแถลงการณ์ร่วมสหรัฐฯ–ญี่ปุ่น มีข้อความหลายส่วนใส่ร้ายนโยบายต่างประเทศของจีนและพยายามแทรกแซงกิจการภายในโดยเฉพาะเรื่องไต้หวัน ฮ่องกง เขตซินเจียง ทะเลจีนใต้ และเกาะเตี้ยวหยูว์ จีนจึงต้องการแสดงท่าทีให้โลกเห็นว่าพร้อมแก้ปัญหา แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาในแบบที่ถูกกล่าวหา

กระนั้นท่าทีของจีนในวงประชุมก็ไม่ใช่การยอมสยบต่อข้อเรียกร้องฝ่ายสหรัฐฯ หรือ อวดความแข็งกร้าว ทว่าผสมสานความสมดุลทางการทูตอย่างลงตัว ในขณะที่จีนแสดงความกังวลเกี่ยวกับการกระทำของสหรัฐฯ จีนก็ย้ำเรื่องความร่วมมือเพื่อประโยชน์สุขของทั้งสองฝ่าย หมายความว่าในความขัดแย้ง จีน-สหรัฐฯ ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่จีนเสนอความสัมพันธ์บนความต่าง ย้อนไปในปี 1955 นายกรัฐมนตรีจีน นายโจว เอินไหล เคยบรรลุหลักปัญจศีล หรือ “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” กับหลายประเทศในภูมิภาคสำคัญโดยเฉพาะกับอินเดียซึ่งถือเป็นคู่กรณี เมื่อวงล้อประวัติศาสตร์ต้องย้อนกลับมาที่จุดเดิมอีกครั้ง จีนและสหรัฐฯ ย่อมไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะหันมาจับมือกันมากกว่าจะเอาชนะคะคานกันต่อไป

การแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่างเคยประสบความสำเร็จมาแล้วในยุคสงครามเย็น การเอ่ยอ้างหลักการคล้ายกันในยุคปัจจุบันย่อมถือเป็นความหวังเดียวในห้วงเวลาแห่งความแบ่งแยก เพราะการสู้รบทั้งในทางเศรษฐกิจ ข่าวสาร และการทหารจะไม่ช่วยให้ใครกุมชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด มีแต่จะเสียหายทั้งสองฝ่ายพร้อมนำพาโลกส่วนที่เหลือไปสู่ความล่มสลาย นี่คือสารที่จีนและน่าจะอีกหลายประเทศหวังให้สหรัฐฯ ตอบรับเพื่อความยั่งยืนของประชาคมนานาชาติ

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน (CMG)

ภาพและเนื้อหาข่าวเป็นลิขสิทธิ์ของ China Face

Not Found!(404)