2021-03-22 19:18CRI
บรรยากาศการเรียนโฉมใหม่จะคึกคักขึ้นมากเมื่อมีเพื่อนหุ่นยนต์มาเรียนด้วย ประดิษฐกรรมจากอนาคต ฝีมือนักประดิษฐ์ชาวจุฬาฯ ประกันประสิทธิภาพด้วยรางวัลเหรียญทองและ Innovation Excellence Award จากการประกวดนวัตกรรมนานาชาติ “International British Innovation, Invention, Technology Expo 2020” ประเทศอังกฤษ
รางวัลเหรียญทองและ Innovation Excellence Award จากการประกวดนวัตกรรมนานาชาติ
“International British Innovation, Invention, Technology Expo 2020”
การเล่นเกมกับการเรียนของเด็กๆ จะไม่ใช่คนละเรื่องอีกต่อไป หลังการเปิดตัวหุ่นยนต์ช่วยสอนตัวล่าสุด “อวตาร” นวัตกรรมความร่วมมือระหว่างนักวิชาการจากสองคณะ คือครุศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้งานวิจัย “TARAL : หุ่นยนต์ช่วยสอนแบบมีปฏิสัมพันธ์เพื่อการเรียนรู้เชิงรุก”
ศ.ดร.เนาวนิตย์ สงคราม ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์ (ซ้าย)
และรศ.ดร.เกริก ภิรมย์โสภา ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ (ขวา)
“เราพัฒนาหุ่นยนต์ช่วยสอนต่อมาจากหุ่นยนต์ตุ๊กตาหมีแต่งตัวได้ซึ่งเป็นรุ่นแรกที่เคยส่งประกวดนวัตกรรมที่ประเทศเกาหลีใต้ จุดเด่นของอวตารคือลูกเล่นใหม่ ๆ ที่จะเปลี่ยนบรรยากาศการเรียนที่น่าเบื่อเป็นการเล่นที่จะสนุกกับเนื้อหาในบทเรียน เพลินกับการเลี้ยงหุ่นยนต์อวตารให้โตขึ้นจาก QR Code ซึ่งมาจากการตอบคำถามในแบบทดสอบ เราเรียกกระบวนการนี้ว่า Gamification กระตุ้นความรู้สึกสนุกกับการเรียนรู้จนอาจลืมไปเลยว่ากำลังเรียนหนังสืออยู่” ศ.ดร.เนาวนิตย์ สงคราม ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์ ซึ่งคิดค้นหุ่นยนต์เรซิ่นขนาดความสูง 10 นิ้ว “อวตาร” ร่วมกับ รศ.ดร.เกริก ภิรมย์โสภา ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ เผยจุดเด่นและเบื้องหลังสำคัญของผลงาน
TARAL : หุ่นยนต์ช่วยสอนแบบมีปฏิสัมพันธ์เพื่อการเรียนรู้เชิงรุก
“เรานำระบบการจัดการการเรียนรู้ที่เรียกว่า Learning Management System หรือ LMS มาใช้ในกระบวนการทำงานซึ่งทำให้อวตารในระบบ LMS โตขึ้น ๆ (ในระบบ) ยิ่งนักเรียนตอบคำถามมากเท่าไหร่ อวตารก็จะเติบโตขึ้นมากเท่านั้น การเรียนกับการเล่นจึงเป็นเรื่องเดียวกันไปโดยปริยาย”
นอกจากระบบ LMS แล้ว อีกลักษณะพิเศษที่เพิ่มเข้ามาในนวัตกรรมนี้คือระบบ Moodle ซึ่งทำให้ผู้สอนสามารถบรรจุเนื้อหาหรือปรับเปลี่ยนบทเรียนในอวตารได้ตามต้องการ และทุกรูปแบบสื่อการเรียนการสอน ไม่ว่าจะเป็นภาพเคลื่อนไหว หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรือจะฝากลิงค์ URL ก็ทำได้ด้วยระบบนี้
“แม้แต่แบบทดสอบแบบเติมคำเติมข้อความหรือประโยคคำตอบก็ทำได้ พร้อมยังสรุปผลวิเคราะห์การเรียนแบบ Real Time ได้อีกด้วย”
ศ.ดร.เนาวนิตย์ กล่าวทิ้งท้ายว่าปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างยื่นขอจดอนุสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้และขยายผลโครงการกับโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ เพื่อพัฒนาอุปกรณ์ช่วยออกกำลังกายสำหรับใช้ทดสอบสมรรถภาพของนักเรียนด้านพลศึกษาด้วย