เช็งเม้ง-เทศกาลสะท้อนทัศนะต่อชีวิตและความตายของคนจีน (1)

เทศกาล “ชิงหมิงหรือเช็งเม้ง” ปีนี้ตรงกับวันที่ 4 เมษายน คำว่า "ชิงหรือเช็ง"  หมายถึง สะอาด บริสุทธิ์ และ "หมิงหรือเม้ง" หมายถึง สว่าง รวมแล้วหมายความถึง ช่วงเวลาแห่งความแจ่มใส รื่นรมย์

เช็งเม้ง-เทศกาลสะท้อนทัศนะต่อชีวิตและความตายของคนจีน(1)_fororder_1.1

เช็งเม้งเป็นทั้งเทศกาลและฤดูกาล  ในบรรดา 24 ฤดูกาลตามสภาพอากาศแต่ดั้งเดิมของจีน มีเช็งเม้งเพียงฤดูกาลเดียวที่กำหนดให้เป็นเทศกาลและเป็นวันหยุดประจำปีด้วย

ในสมัยโบราณของจีน วันเช็งเม้งมีความสำคัญเทียบเท่ากับตรุษจีน ซึ่งเป็นเทศกาลสำคัญที่สุดของคนจีน เหตุใดที่คนจีนจึงให้ความสำคัญกับวันเช็งเม้งมากเช่นนี้ น่าจะเป็นเพราะว่าเทศกาลนี้ สามารถสะท้อนทัศนะต่อชีวิตและความตายของคนจีน

วันเช็งเม้งเป็นเทศกาลแห่งฤดูใบไม้ผลิ อากาศคลายความหนาวเย็นลง เริ่มเข้าสู่ความอบอุ่น มีบรรยากาศสดชื่น ท้องฟ้าใสสว่าง เทศกาลนี้จึงถูกตั้งชื่อว่า “วันชิงหมิง” ซึ่งมีความหมายว่า “อากาศแจ่มใส ท้องฟ้าสดใส”

ประเพณีที่สำคัญมากที่สุดของของชาวจีน คือ ไหว้บรรพบุรุษที่สุสาน เป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ และเมื่อไหว้บรรพบุรุษเสร็จ ก็จะพากันไปเที่ยวต่อเพื่อสัมผัสอากาศที่อบอุ่น และพลังแห่งชีวิตในฤดูใบไม้ผลิ

หลายคนอาจสงสัยว่า การไหว้บรรพบุรุษรำลึกถึงความตายกับการท่องเที่ยวอย่างเฮฮาสนุกสนาน เป็นบรรยากาศที่ตรงกันข้าม ทำไมจึงเป็นประเพณีของวันเช็งเม้งด้วยกัน เรื่องนี้คงต้องย้อนทบทวนความเป็นมาของวันเช็งเม้ง

วันเช็งเม้งหรือชิงหมิง ที่คนจีนฉลองกันในทุกวันนี้ที่จริงมาจากการหลอมรวมประเพณีนิยมอีก 2 เทศกาลในสมัยโบราณของจีน คือ วันซ่างซื่อและวันหานสือ

วันซ่างซื่อตรงกับวันที่ 3 เดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติจีน เทศกาลนี้จัดขึ้นเพื่อฉลองวันคล้ายวันเกิดหวงตี้หรือจักรพรรดิเหลือง ซึ่งได้รับการนับถือว่าเป็นบรรพบุรุษของชาวจีนทั้งมวล เป็นหนึ่งในเทศกาลที่เก่าแก่ที่สุดของจีน มีประเพณีทางไสยศาสตร์ต่างๆ เช่น เรียกวิญญาณ อาบน้ำ จัดงานเลี้ยงริมแม่น้ำ เพราะคนจีนเชื่อว่า น้ำเป็นประตูเชื่อมสู่ชาติหน้า และการไปท่องเที่ยวชานเมืองก็เป็นประเพณีสำคัญของวันซ่างซื่อด้วย

เช็งเม้ง-เทศกาลสะท้อนทัศนะต่อชีวิตและความตายของคนจีน(1)_fororder_1.2

ส่วนเทศกาลหานสือเป็นเทศกาลหลังวันซ่างซื่อไม่กี่วัน และก่อนวันเช็งเม้งเพียง 1-2 วัน มีประเพณีกินของเย็น เทศกาลนี้มีความเป็นมาว่า ในยุคชุนชิว องค์ชายฉงเอ่อแห่งแคว้นจิ้นเสด็จลี้ภัยออกนอกแคว้น ใช้ชีวิตยากลำบาก โดยมีเจี้ยจื่อทุยติดตามไปดูแลรับใช้ ซึ่งเจี้ยจื่อทุยจงรักภักดีมาก ถึงขนาดเชือดเนื้อที่ขาของตนเป็นอาหารให้องค์ชายเสวยเพื่อประทังชีวิตด้วย

ภายหลังเมื่อองค์ชายฉงเอ่อเสด็จกลับเข้าแคว้นและได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นผู้ครองแคว้นพระนามว่า จิ้นเหวินกง และได้พระราชทานรางวัลตอบแทนขุนนางทุกคนที่เคยให้ความช่วยเหลือ แต่ลืมเจี้ยจื่อทุยไป เจี้ยจื่อทุยเสียใจและพามารดาย้ายไปอยู่ในป่ากับตนเอง

นานวันเข้าจึงมีคนเตือนถึงบุญคุณเจี้ยจื่อทุย จิ้นเหวินกงรับสั่งพระราชทานรางวัลเจี้ยจื่อทุย โดยจัดหาบ้านให้เขาและมารดาได้อยู่อย่างสุขสบายในเมือง แต่เจี้ยจื่อทุยปฏิเสธ จิ้นเหวินกงจึงรับสั่งให้เผาภูเขา โดยหวังว่าเจี้ยจื่อทุยจะพามารดาออกมาจากบ้าน แต่สองแม่ลูกกลับต้องเสียชีวิตในกองเพลิง

เพื่อเป็นการรำลึกถึงเจี้ยจื่อทุย จิ้นเหวินกงจึงมีพระบรมราชโองการให้วันนี้ของทุกปี ห้ามไม่ให้มีการก่อไฟ ให้รับประทานแต่อาหารสดๆและเย็นๆ จนกลายเป็นที่มาของเทศกาลวันกินอาหารเย็น หรือ เทศกาลหานสือ

เนื่องจากวันหานสืออยู่หลังวันซ่างซื่อซึ่งเป็นเทศกาลที่มีบรรยากาศคึกคักเพียงไม่กี่วัน พอพ้นจากบรรยากาศคึกคึกสนุกสนานไม่กี่วันก็ต้องทานอาหารสดๆเย็นๆ ผู้คนจึงรู้สึกเสียใจ และหลายคนตัดสินใจไปไหว้บรรพบุรุษในวันรุ่งขึ้นหรือถัดไป

นานวันเข้า การไหว้บรรพบุรุษที่สุสานจึงกลายเป็นประเพณีของวันหานสือ ส่วนวันเช็งเม้งแต่เดิมเป็นเพียงหนึ่งใน 24 ฤดูกาลของจีนเท่านั้น ไม่มีประเพณีนิยมอะไร แต่เนื่องจากวันหานสือกับวันเช็งเม้งติดกัน ผู้คนจึงฉลองวันหานสือกับวันเช็งเม้งพร้อมกัน

มาถึงสมัยราชวงศ์ถัง ชาวถังที่นิยมการออกจากบ้านไปเที่ยวเล่น จึงมักจะไหว้บรรพบุรุษในวันหานสือ และอยู่เที่ยวชานเมืองต่อในวันเช็งเม้ง ทางราชสำนักจึงกำหนดให้เป็นวันหานสือและวันเช็งเม้งเป็นช่วงวันหยุดรวมแล้ว 7 วัน นับเป็นสัปดาห์ทองที่ได้รับความนิยมมากในสมัยโบราณ

ต่อมาในสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง วันซ่างซื่อและวันหานสือมีความสำคัญลดลงเรื่อยๆ ชาวจีนได้รวมประเพณี 2 เทศกาลนี้เข้าเป็นประเพณีของวันเช็งเม้ง เพราะฉะนั้น การไหว้บรรพบุรุษ การเที่ยวชานเมือง และการรับประทานอาหารเย็นๆ จึงกลายเป็นประเพณีของวันเช็งเม้ง

ภาพและเนื้อหาข่าวเป็นลิขสิทธิ์ของ China Face

Not Found!(404)