การแพทย์แผนจีน

2021-04-30 13:02

แพทย์แผนจีนคือศาสตร์การรักษาโรคของชาวจีนที่มีความเป็นมากว่าพันปีและได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าสามารถรักษาอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายได้จริง โดยวิธีรักษานั้นจะเกี่ยวข้องกับการคงความสมดุลของร่างกายตามแนวคิดที่สอดคล้องกับหลักปรัชญาต่างๆ ซึ่งปัจจุบันในหลายๆ ประเทศก็ได้มีการนำเอาแพทย์แผนจีนไปใช้ร่วมกับแพทย์แผนปัจจุบันแบบอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา วันนี้เราจะพาทุกคนไปเจาะลึกเกี่ยวกับความเป็นมาและการรักษาแบบแพทย์แผนจีนกัน

การแพทย์แผนจีน_fororder_20210430-1

รูปที่ 1 สมุนไพรที่ใช้ในการรักษาแบบแพทย์แผนจีน

ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและคงความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน ทำให้มีการบันทึกสั่งสมประสบการณ์การรักษามาเป็นเวลานานจนตกผลึกเป็นความรู้ด้านการแพทย์ โดยมีพื้นฐานความคิดเกี่ยวกับ ธรรมชาติ, สมดุลร่างกาย และปรัชญาทางทฤษฎีหยินหยางว่าร่างกายคนเรามีพลังงานที่เรียกว่า ฉี ไหลเวียนอยู่ ซึ่งประกอบไปด้วย หยิน อันเป็นพลังงานด้านลบและ หยาง พลังงานด้านบวกรวมกัน ถ้าเมื่อไหร่ทั้งสองเกิดเสียสมดุลขึ้นมาไม่ว่าจะจากปัจจัยภายนอก เช่น สภาพอากาศ อาหารที่รับประทาน หรือ ภายในอย่างความเครียด ก็อาจส่งผลกับร่างกายจนเกิดเป็นโรคขึ้นมาได้

ในปัจจุบัน องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ยอมรับแพทย์แผนจีนให้เป็นสาขาการแพทย์ที่สามารถบำบัดและป้องกันโรคได้จริง ในส่วนของการรักษานั้น แพทย์จะมีการวินิจฉัยโรคแบบองค์รวมหรือก็คือการดูภาพรวมการทำงานของร่างกายมากกว่าการตรวจเฉพาะเจาะจงแค่บริเวณใดบริเวณหนึ่ง ซึ่งจะใช้วิธีตรวจแบบ มอง-ฟัง-ถาม-จับ มอง คือการดูจากภายนอกว่าคนไข้มีความผิดปกติอะไรไหม ฟัง คือการฟังว่าคนไข้เป็นอะไรมา ถาม คือการซักประวัติของอาการว่ามีลักษณะอย่างไร เป็นมานานแค่ไหน ส่วน จับ คือการสัมผัสบริเวณจุดพลังงานต่างๆ เพื่อหาความผิดปกติและสาเหตุ จากนั้นจึงกำหนดแผนการรักษาโดยวิธีที่นิยมทำกันก็คือ

1. การฝังเข็ม : เป็นการนำเข็มขนาดเล็กฝังลงไปในความลึกที่แตกต่างกันบนจุดไหลเวียนพลังงานตามร่างกายแล้วขยับเพียงเล็กน้อยเพื่อสร้างความร้อนและพลังงานไฟฟ้าอ่อนๆ ขึ้นมากระตุ้นสารบางชนิดที่ช่วยบรรเทาอาการปวดหรือลดการอักเสบ ปรับสมดุลการไหลเวียนของเลือด รวมถึงลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ

2. กัวซา : การบำบัดด้วยการนำเขาสัตว์หรือหินมาขูดตามบริเวณต่างๆ ของร่างกายเพื่อขับพิษ ช่วยลดอาการปวดชาตามร่างกาย, กระตุ้นการผลัดเซลล์ผิว, การไหลเวียนโลหิต, และการทำงานของต่อมน้ำเหลือง หลังจากทำการรักษาอาจมีรอยช้ำหรือแดงซึ่งจะหายไปเองได้ภายใน 5-7 วัน

การแพทย์แผนจีน_fororder_20210430-2

รูปที่ 2 การรักษาแบบกัวซา

3. ครอบแก้ว : เป็นการนำวัตถุคล้ายถ้วยมาครอบลงบนร่างกายเพื่อสร้างสุญญากาศให้เลือดมาคั่งบริเวณนั้น ช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิตและการทำงานของระบบน้ำเหลืองไม่ให้สารพิษสะสมอยู่ตามร่างกาย ข้อเสียคืออาจรู้สึกปวดและขยับตัวไม่สะดวกหลังการรักษา อีกทั้งจะมีรอยช้ำหรือรอยไหม้ซึ่งจะหายไปเองภายใน 5-7 วัน

4. นวดทุยหนา : คล้ายกับการนวดแบบทั่วไป จะแตกต่างกันตรงที่ใช้การ กด คลึง ถู บีบ ดีด ไปตามจุดลมปราณบนร่างกาย เพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบต่างๆ บำรุงและจัดเส้นเอ็นรวมถึงข้อต่อให้เข้าที่

5. การรมยา : เป็นการนำเอาสมุนไพรมาเผาให้เกิดควันแล้วนำไปวางบริเวณผิวหนัง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาด้วยวิธีฝังเข็มและครอบแก้ว รวมไปถึงลดอาการปวด และยังกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันกับระบบไหลเวียนโลหิต แต่ข้อเสียคืออาจทิ้งรอยไหม้ไว้บนผิวหนังได้

การแพทย์แผนจีน_fororder_20210430-3

รูปที่ 3 การรักษาแบบรมยา

6. ยาสมุนไพร : พื้นฐานการรักษาแบบแพทย์แผนจีนมีความเชื่อเกี่ยวกับธาตุทั้ง 5 อันได้แก่ ดิน, น้ำ, ไฟ, เหล็ก, และไม้ ซึ่งสมุนไพรแต่ละชนิดที่นำมาทำยานั้นจะแทนธาตุแตกต่างกันไป สามารถรักษาโรคได้หลากหลายประเภท ซึ่งแพทย์แผนปัจจุบันเองก็มีการนำเอายาเหล่านี้มาพัฒนาต่อยอดเช่นกัน

หลายคนอาจตั้งข้อสงสัยว่าแพทย์แผนจีนนั้นได้ผลจริงหรือ? มีวิทยาศาสตร์รองรับเหมือนแพทย์แผนปัจจุบันหรือไม่? จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าแพทย์แผนจีนนั้นเป็นหนึ่งในศาสตร์การแพทย์ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีการทดลองเก็บรวบรวมผลการรักษามานานกว่าพันปี ซึ่งไม่ต่างจากแพทย์แผนปัจจุบันที่ต้องมีการทดลองและรวบรวมผลเพื่อประเมินถึงประสิทธิภาพในการรักษา อีกทั้งแพทย์แผนจีนยังให้ความสำคัญกับการปรับสมดุลเพื่อคงสภาพร่างกายให้แข็งแรงและป้องกันการเกิดโรคในระยะยาว นี่จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับการรักษาหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วย

………………………………………………………………………………

ที่มาของรูปภาพ : รูปที่ 1 สมุนไพรที่ใช้ในการรักษาแบบแพทย์แผนจีน https://www.chinadaily.com.cn/a/201912/21/WS5dfdb335a310cf3e3557fbc4.html

ที่มาของรูปภาพ : รูปที่ 2 การรักษาแบบกัวซา https://www.medicalnewstoday.com/articles/320397#side-effects-and-risks

ที่มาของรูปภาพ : รูปที่ 3 การรักษาแบบรมยา https://www.britannica.com/science/moxa-treatment

ที่มาของข้อมูล : https://www.pobpad.com/%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%B5%E0%B8%99-%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B1

https://ch9airport.com/%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%B5%E0%B8%99-%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%96%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3/

ภาพและเนื้อหาข่าวเป็นลิขสิทธิ์ของ China Face

Not Found!(404)