สถานีหงเหยียนชุน (ว่าที่) สถานีรถไฟใต้ดินที่ลึกที่สุดในประเทศจีน

สถานีหงเหยียนชุน (ว่าที่) สถานีรถไฟใต้ดินที่ลึกที่สุดในประเทศจีน_fororder_1630000171

ภาพมุมสูงอุโมงค์สำหรับทางเข้าออกที่กำลังก่อสร้าง

ที่มาภาพ: https://www.thepaper.cn/newsDetail_forward_8383835

บทความที่แล้ว ผู้เขียนได้แนะนำให้เพื่อนๆ รู้จักกับ สถานีรถไฟใต้ดินที่ลึกที่สุดของจีน ซึ่งก็คือ สถานีหงถู่ตี้ ที่ฉงชิ่ง และทิ้งท้ายไว้ว่า “หงถู่ตี้” จะยังครองบัลลังก์แชมป์นี้ไปจนกระทั่งอีกสถานีหนึ่งสร้างเสร็จและเปิดใช้งาน หรือพูดอีกอย่างว่า แชมป์นี้จะไม่ถาวร เพราะจะโดนล้มแชมป์แน่ๆ ค่ะ!  เนื่องมาจากโครงการสร้างสถานีรถไฟดินไม่ใช่เรื่องเล่นๆ มันเป็นโครงการใหญ่ที่ต้องขออนุญาต ผ่านการคิดและคำนวณมาอย่างดี ในขณะนี้ ว่าที่แชมป์ก็กำลังอยู่ในขั้นตอนก่อสร้าง สถานีรถไฟใต้ดินของจีนแห่งใหม่ที่กำลังจะเป็นที่หนึ่งในเรื่องความลึก ได้แก่ สถานีหงเหยียนชุน (红岩村) - สถานีรถสาย 9 ส่วนสถานที่นั้น ยังคงอยู่กันที่เมืองแห่งภูเขา – ฉงชิ่งที่เดิมค่ะ

เรื่องราวเกี่ยวกับสถานีหงเหยียนชุนนั้นน่าสนใจไม่น้อย สักประมาณช่วงกลางปีที่แล้ว  สื่อจีนหลายสำนักก็ได้ลงข่าวเกี่ยวกับสถานีหงเหยียนชุนแห่งนี้ว่าได้ขุดทางเข้าสำเร็จลุล่วงด้วยดี  ที่นี่ เป็นสถานีเชื่อมต่อ Interchange Station ของรถไฟฟ้าใต้ดินสาย 5 และ สาย 9  และส่วนของสาย 9 ที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอย่างขมีขมันนี้แหละที่กำลังจะเป็นสถานีรถไฟใต้ดินแห่งแรกของจีนแผ่นดินใหญ่ที่ทำทางเข้าออกสถานีเป็นลักษณะท่ออุโมงค์แนวตั้งสำหรับลิฟต์โดยสารความเร็วสูงและสร้างลึกลงไปใต้ดินมากกว่า 100 เมตร

การก่อสร้างครั้งนี้ก็มีโจทย์ให้ทางผู้ดูแลและรับผิดชอบโครงการต้องทำการบ้านอย่างหนัก เนื่องจากว่าตรงประตูทางเข้าของสถานีอยู่ใกล้กับถนนซ่างถู่วานและถนนซาปินลู่ แถมอยู่บริเวณจุดที่เป็นเนินเขา คือตัวของสถานีเรียกได้ว่าอยู่ใต้ภูเขาเลยล่ะค่ะ  ฟังดูว่าน่าจะต้องขุดลงไปลึกมาก ควรจะมีพื้นที่ในการออกแบบ จัดการ และทำงานค่อนข้างเยอะถึงจะดีใช่ไหมคะ แต่ทว่าเรื่องราวมันไม่ง่ายแบบนั้นค่ะ นอกจากการก่อสร้างจะยาก สิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยในการก่อสร้างแล้ว พื้นที่ก็จำกัดมากๆ อีกด้วย คนออกแบบต้องคิดหลายตลบว่าจะทำอย่างไรให้การเดินทางนับตั้งแต่ประตูทางเข้าออกไปจนถึงชานชาลาของรถสาย  9 นั้นสั้นและประหยัดเวลาที่สุด เพื่อนๆ ผู้อ่านคงจะพอจำได้ว่า อย่างของสถานีหงถู่ตี้ที่ลึก 94 เมตร เดินจากประตูทางเข้า ขึ้นบันไดเลื่อนไปจนถึงชานชาลารถสาย 10 ต้องใช้เวลาประมาณ 7 นาที แล้วหากเป็นของสถานีหงเหยียนชุน ที่มีความลึกมากกว่าเล่า ผู้โดยสารจะต้องเสียเวลาอีกเท่าไหร่แค่ไปให้ถึงชานชาลาสาย 9 ที่อยู่ด้านล่าง?

สถานีหงเหยียนชุน (ว่าที่) สถานีรถไฟใต้ดินที่ลึกที่สุดในประเทศจีน_fororder_186250374

อุโมงค์ที่ขุดเพื่อก่อสร้างลิฟต์โดยสารเพื่อทำทางเข้า-ออก

ที่มาภาพ: https://www.thepaper.cn/newsDetail_forward_8383835

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาการขนส่งและระบบรางแห่งฉงชิ่ง (重庆市轨道交通设计研究院) อธิบายว่า การก่อสร้างในครั้งนี้นำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ โดยเปลี่ยนจากรูปแบบปกติที่เราคุ้นชิน เดินเข้ามาจากประตูแล้วมีบันไดเลื่อนเชื่อมต่อไปเรื่อยๆ ให้กลายมาเป็น ลิฟท์ที่เชื่อมต่อกับประตูทางเข้าไปเลย นอกจากจะเป็นการออกแบบมาเพื่อแก้สารพัดปัญหาที่มีข้อจำกัดแล้ว การเลือกวิธีนี้ยังช่วยอัปเกรดความสะดวกสบาย ประหยัดเวลาให้กับบรรดาผู้โดยสารอีกด้วยค่ะ  สถาบันฯ ได้ทำการออกแบบลิฟต์แบบพิเศษคือลิฟต์ความเร็วสูง (高速电梯)โดยเจ้าลิฟต์ที่ว่านี้จะมีความสูง อยู่ที่ 99 เมตรหรือประมาณตึก 30 ชั้น เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 2.5 เมตร/ วินาที และจะมีประตูเชื่อมต่อกับตึกหรือชุมชนละแวกนั้น เมื่อคนที่อยู่ในตึกต้องการมานั่งรถไฟใต้ดิน ก็สามารถกดลิฟต์ลงตรงมาจากตึกของตนได้เลย จากประตูลิฟต์ (ทางเข้า) เดินทางมาจนถึงห้องโถงของสถานีหงเหยียนชุน ใช้เวลาแค่ 40 วินาทีเท่านั้น เจ้าลิฟต์สายด่วนที่ว่านี้ สามารถจุผู้โดยสารได้ 21-23 คนในครั้งเดียว ซึ่งมากกว่าลิฟต์ปกติที่เราเห็นๆกัน ( Accessible Elevator) ที่ปกติจะจุได้ประมาณ 9 คน/ ครั้ง และนี่ก็หมายความว่า ในหนึ่งรอบ ลิฟต์ทั้งหมด 4 ตัวจะให้บริการผู้โดยสารพร้อมกันได้มากกว่า 90 คน หากเอาไปเปรียบเทียบกับการใช้บันไดเลื่อน ผู้โดยสารก็จะประหยัดเวลาไปได้มาก ส่วนข้อดีอีกเรื่องของการขุดทางเข้าแบบอุโมงค์ก็คือ ไม่ต้องทำที่ค้างหรือค้ำยันชั่วคราวในระหว่างก่อสร้าง ซึ่งก็จะช่วยลดเวลาไปได้แทบจะครึ่งต่อครึ่ง การขุดอุโมงค์ครั้งนี้ของสถานีหงเหยียนชุนใช้เวลาราวๆ 6 เดือน และประหยัดเวลาขุดจากปกติไปได้ถึง 6 เดือนเช่นกัน

สถานีหงเหยียนชุน (ว่าที่) สถานีรถไฟใต้ดินที่ลึกที่สุดในประเทศจีน_fororder_2020173294

ที่มาภาพ: http://cq.people.com.cn/n2/2020/0723/c365402-34176829.html

ในเมืองที่มีความสูงต่ำเป็นเอกลักษณ์เพราะว่าเป็นเมืองที่สร้างอยู่บนภูเขาอย่างมหานครฉงชิ่ง คนท้องถิ่นจะเคยชินกับการที่เดินเข้าอาคารหนึ่ง สมมติสูง 19 ชั้น กดลิฟต์ (หรือเดิน หรือขึ้นบันได) ขึ้นไปชั้นบนสุด แล้วพอออกมา พบว่าตัวเอง (ว๊าบ) มายืนบนพื้นดินที่ชั้นหนึ่งของอีกตึกเฉยเลย เรื่องแบบนี้คนฉงชิ่งจะรู้สึกเฉยๆ ไม่ประหลาดใจแปลกใหม่ แต่คนจากต่างถิ่นส่วนมากจะตื่นเต้น ถึงกับมีคำกล่าวที่ว่า ใครกลัวความสูงให้ไปเที่ยวฉงชิ่งเดี๋ยวก็หายกลัว (คนเขียนเคยอ่านเจอมีชาวเน็ตคนจีนเขียนถึงเรื่องนี้และบอกว่าท่าจะจริงเพราะเขาเป็นคนกลัวความสูง พอไปเที่ยวฉงชิ่งเสร็จกลับมาที่บ้านเหมือนความกลัวจะลดลง) นี่ก็เนื่องมาจากภูมิประเทศของที่นี่ที่สูงๆ ต่ำๆ สมฉายา “เมืองภูเขา – 山城ซานเฉิง” นั่นเอง

ล่าสุดที่เช็คข้อมูลเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมหรือช่วงวันหยุดแรงงานของปีนี้ (ค.ศ. 2021) ซ่างโหยวซินเหวิน - สื่อของจีนได้รายงานความคืบหน้าของสถานีหงเหยียนชุน (รถไฟฟ้าสาย 9) ว่า ตัวโครงสร้างพื้นฐานได้ก่อสร้างเสร็จแล้ว กำลังเริ่มทำช่วงของรางรถไฟ และตามกำหนดการคาดว่าจะเสร็จในช่วงสิ้นปีนี้ค่ะ ขอแอบกระซิบเพื่อนๆ หน่อยค่ะว่า นอกจากสองสถานีที่กล่าวมาแล้ว มหานครฉงชิ่งแห่งนี้ยังมีสถานีรถไฟใต้ดินที่มีชื่อเสียง มีความแปลก น่าเช็คอิน น่าพูดถึงอีกหลายแห่ง หากมีโอกาสผู้เขียนจะมาเล่าให้เพื่อนๆ ได้ฟัง (อ่าน) กันนะคะ อย่าลืมกดติดตามจะได้ไม่พลาดค่ะ

สถานีหงเหยียนชุน (ว่าที่) สถานีรถไฟใต้ดินที่ลึกที่สุดในประเทศจีน_fororder_797082258

การก่อสร้างสถานีหงเหยียนชุน (รถไฟฟ้าใต้ดินสาย9) ที่มีความคืบหน้าไปมากแล้ว

ที่มาภาพ: https://www.sohu.com/a/464070841_120388781

แหล่งที่มาข้อมูล:

  1. 中国建筑第五工程局(2020). 央广网:重庆轨道九号线红岩村车站建成国内首个高速电梯群出入口. http://www.cscec5b.com.cn/xwzx/wmbd/202007/3148921.html 
  2. 重庆晨报网Via 人民网 (2020). 国内最深地铁站连通上下半城 设置4部高速电梯. http://cq.people.com.cn/n2/2020/0723/c365402-34176829.html
  3. 上游新闻 (2021). 重庆轨道9号线一期工程全线土建基本完成 年内将建成通车 . https://www.sohu.com/a/464070841_120388781
ภาพและเนื้อหาข่าวเป็นลิขสิทธิ์ของ China Face

Not Found!(404)