2021-05-13 22:16CRI
แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์มีอิทธิพลสำคัญต่อผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนทุกรุ่นในการผลักดันให้จีนพัฒนาก้าวหน้า ในปี ค.ศ. 1936 ขณะทบทวนสาเหตุที่นับถือลัทธิมากซ์ นายเหมา เจ๋อตง ผู้นำการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ระบุว่า มีหนังสือ 3 เล่มที่จำขึ้นใจ และชวนให้ข้าพเจ้านับถือลัทธิมากซ์ ในจำนวนนี้มีอยู่เล่มหนึ่ง คือ แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ที่นายเฉิน ว่างเต้า เป็นผู้แปลเป็นฉบับภาษาจีนนั่นเอง ในปี ค.ศ. 1939 นายเหมา เจ๋อตง ระบุว่า ข้าพเจ้าได้อ่านแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ไม่ต่ำกว่า 100 ครั้ง เวลาประสบปัญหาต่าง ๆ ข้าพเจ้านิยมอ่านแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ บางทีอ่านแค่ 1 – 2 ตอน บางทีอ่านทั้งเล่ม ทุกครั้งที่ได้อ่านต่างมีความรู้สึกนึกคิดใหม่เกิดขึ้น
นายเติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำรุ่นที่ 2 ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ระบุว่า แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์เป็นครูที่ชี้นำให้ข้าพเจ้าเข้าสู่ประตูคอมมิวนิสต์
นายสี จิ้นผิง ผู้นำสูงสุดคนปัจจุบันของจีน ระบุว่า นักปฏิวัติรุ่นอาวุโสของจีนต่างได้รับอิทธิพลจากแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ และเลือกสรรหนทางการปฏิวัติ เค้าโครงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนกำหนดขึ้นตามจิตวิญญาณของแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ การที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจัดการปฏิวัติประชาธิปไตยใหม่ การปฏิวัติสังคมนิยม การสร้างสรรค์สังคมนิยม และการพัฒนาสังคมนิยมที่มีอัตลักษณ์ต่างได้ผสมผสานทฤษฎีพื้นฐานของลัทธิคอมมิวนิสต์กับสภาพความเป็นจริงของจีน ถือเป็นการสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่ พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นผู้สืบสานที่ซื่อสัตย์แห่งจิตวิญญาณแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์
นายเฉิน ว่างเต้า ไม่เพียงแต่เป็นบุคคลสำคัญในการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนเท่านั้น หากยังเป็นนักวิชาการที่สร้างผลงานอันอุดมสมบูรณ์อีกด้วย ตั้งแต่วัยหนุ่ม เขาเขียนหนังสือเกี่ยวกับสุนทรียภาพ ตรรกะ วาทศิลป์ และไวยากรณ์ เป็นต้น หลายเล่ม โดยมีการศึกษาที่เป็นเอกลักษณ์ในด้านดังกล่าว หนังสือเรื่อง “จั้วเหวินฝ่าจเจี่ยงยี่” ที่นายเฉิน ว่างเต้าประพันธ์ขึ้นในปี ค.ศ. 1922 เป็นหนังสือไวยากรณ์ที่เป็นระบบเล่มแรกของจีน ส่วนหนังสือเรื่อง “ซิวฉือเสวียฟาฝัน” ที่ตีพิมพ์ออกวางจำหน่ายในปี ค.ศ. 1932 เป็นผลงานวิชาการชิ้นเอกในวัยหนุ่มของนายเฉิน ว่างเต้า ซึ่งปูพื้นฐานวาทศิลป์ยุคปัจจุบันของจีน หนังสือเล่มนี้มี 12 บท รวบรวมวิทยานิพนธ์ราว 170 บท เฉพาะหนังสืออ้างอิงทั้งจีนและต่างประเทศมีกว่า 250 เล่ม
หลังสาธารณรัฐประชาชนจีนสถาปนาขึ้น นายเฉิน ว่างเต้า ดำเนินกิจการทั้งทางการเมืองและทางวิชาการอย่างแข็งขัน เขาเคยเป็นสมาชิกสภาปรึกษาการเมืองแห่งประชาชนจีน สมาชิกสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน และได้รับเลือกเป็นกรรมการคณะกรรมาธิการสังคมศาสตร์และปรัชญาของสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน ประธานสหพันธ์ปรัชญา สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์แห่งนครเซี่ยงไฮ้ นายกสมาคมภาษาจีนแห่งนครเซี่ยงไฮ้ และหัวหน้าบรรณาธิการสารานุกรมวาทศิลป์เรื่อง “ฉือไห่” เป็นต้น
นายเฉิน ว่างเต้า เคยสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยฟู่ตั้นเป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษ มหาวิทยาลัยฟู่ตั้นเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงในนครเซี่ยงไฮ้ ในปี ค.ศ. 1905 นายเฉิน ว่างเต้า มีตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์คณะภาษาจีน คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ และผู้อำนวยการสถาบันอักษรศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฟู่ตั้นตามลำดับ โดยเปิดสอนวิชาวาทศิลป์ ตรรกะ ไวยากรณ์ ทฤษฎีศิลปะ และสุนทรียภาพ เป็นต้น
นายเฉิน ว่างเต้า ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยฟู่ตั้นระหว่างปี ค.ศ. 1952 - 1977 รวมแล้วถึง 25 ปี เป็นอธิการบดีที่ดำรงตำแหน่งเป็นเวลายาวนานที่สุดของมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น นายเฉิน ว่างเต้า รักมหาวิทยาลัยฟู่ตั้นมาก เขาบริจาคหนังสือจำนวนกว่า 2,400 เล่มที่ตนเองสะสมไว้แก่หอสมุดมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น
ในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัย นายเฉิน ว่างเต้า นอกจากให้ความสำคัญด้านการเรียนการสอนแล้ว เขายังให้ความสำคัญต่อการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์เป็นพิเศษ โดยระบุว่าหากไม่พัฒนาการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยก็จะล้าหลัง ในปี ค.ศ. 1954 อธิการบดี เฉิน ว่างเต้า ริเริ่มจัดการประชุมเสวนาทางวิทยาศาสตร์ในวันที่ระลึกการก่อตั้งมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในวันก่อตั้งมหาวิทยาลัยฟู่ตั้นทุกปี นอกจากจะมีงานเฉลิมฉลองต่าง ๆ แล้ว ยังต้องจัดการประชุมเสวนาทางวิทยาศาสตร์ประจำปีอีกด้วย
นายเฉิน ว่างเต้า ยังริเริ่มให้ปฏิรูปภาษาจีน ผลักดันขบวนการวรรณคดียุคใหม่ และขบวนการภาษามวลชน โดยรณรงค์ให้ใช้ภาษาจีนยุคปัจจุบัน ทั้งยังมีข้อเสนอต่าง ๆ ที่มีความคิดสร้างสรรค์และเป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ต่อการพัฒนาภาษามวลชน นอกจากนี้เขายังปูพื้นฐานต่อการเปลี่ยนอักษรจีนเป็นระบบอักษรละตินอีกด้วย
นายเฉิน ว่างเต้า ถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1977 ด้วยวัย 86 ปี เพื่อแสดงความอาลัยและระลึกถึง ปี ค.ศ. 1979 สถาบันวิจัยภาษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟู่ตั้น ได้จัดพิมพ์หนังสือรวมเล่มผลงานของนายเฉิน ว่างเต้า รวม 3 เล่ม นอกจากนี้ ในปี ค.ศ. 2010 สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยฟู่ตั้นยังได้จัดพิมพ์หนังสือรวมเล่มผลงานแปลของนายเฉิน ว่างเต้า ซึ่งประกอบด้วยผลงานแปลจากภาษารัสเซียและภาษาญี่ปุ่นจำนวน 46 บท อันมีคุณค่าต่อการพัฒนาด้านมนุษยศาสตร์ของจีน หนังสือรวมเล่ม 2 ชุดดังกล่าวถือเป็นสมบัติทางจิตใจของนายเฉิน ว่างเต้าที่เหลือตกทอดแก่คนรุ่นหลัง