2022-01-20 11:51
พิชัยสงครามซุนจื่อ หรือ “ซุนจื่อปิงฝ่า” เป็นตำรายุทธศาสตร์การทหารชั้นเลิศในสมัยโบราณของจีน ตำราเล่มนี้มี 13 บท มีตัวอักษรจีนรวม 6 พันกว่าตัว ซุนจื่อเกิดระหว่าง 550-540 ปีก่อนค.ศ. หรือปลายสมัยชุนชิว เป็นชาวแคว้นฉี ต่อมาอพยพไปยังแคว้นอู๋ และกลายเป็นนักยุทธศาสตร์คนสำคัญของเจ้าครองแคว้นอู๋
เนื่องจากเนื้อหามากมายของพิชัยสงครามซุนจื่อมีลักษณะของสมัยจั้นกว๋อ(475-221 ปีก่อนค.ศ.) นักวิชาการหลายคนจึงเห็นว่า พิชัยสงครามซุนจื่ออาจประพันธ์ขึ้นในกลางสมัยจั๋นกว๋อ เป็นทฤษฎีเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การทหารของสำนักซุนจื่อ ซึ่งมีซุนอู่ เป็นผู้ก่อตั้ง
จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่สมัยก่อนราชวงศ์ฉิน ( 221 ปีก่อนค.ศ.) ถึงราชวงศ์ชิง(ค.ศ.1616-1911) ตำรายุทธศาสตร์การทหารในจีนมีกว่า 3,000 เล่ม ในบรรดาตำรายุทธศาสตร์การทหารเหล่านี้ พิชัยสงครามซุนจื่อเป็นเล่มที่มีความล้ำเลิศมากที่สุด เนื่องจากมีความเหนือกว่าทั้งด้านยุทธศาสตร์ ปรัชญา และกลยุทธ์ในการปฏิบัติ ในหลายศตวรรษที่ผ่านมา พิชัยสงครามซุนจื่อได้รับการยกย่องว่า เป็นต้นฉบับของตำรายุทธศาสตร์การทหาร
แนวคิดยุทธศาสตร์ทางการทหารของซุนจื่อมีความหลากหลายมาก เราได้คัดเลือกบางส่วนมาแนะนำ
ตัวอย่างแรกคือ ต้องวางแผนก่อนศึก ก่อนสงครามจะเกิดขึ้น ต้องมีการเปรียบเทียบและวิเคราะห์ปัจจัยด้านต่างๆ ของทั้งสองฝ่าย เช่น ขวัญกำลังใจ ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ ขุนพล และกฎข้อบังคับ
ขวัญกำลังใจเกี่ยวพันถึงการได้รับความเห็นชอบจากประชาชนหรือไม่ หากได้รับการเห็นชอบ กองทัพก็จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชน และมีขวัญกำลังใจ หากไม่ได้รับความเห็นชอบ ก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน และกองทัพจะไม่มีขวัญกำลังใจ
ภูมิอากาศหมายความว่า สภาพอากาศในช่วงที่สงครามเกิดขึ้น ส่วนภูมิประเทศหมายความถึงระยะทาง ตำแหน่งที่ตั้ง ขนาดพื้นที่ และความสูงต่ำของพื้นที่ในสมรภูมิ นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาถึงระดับความเสี่ยงด้านต่างๆ ในบริเวณพื้นที่ที่จะเป็นสมรภูมิ
กฎข้อบังคับหมายถึงกฎระเบียบในการควบคุมบริหารกองทัพ เช่น ใครเป็นผู้ออกคำสั่ง ใครรับผิดชอบในการฝึกซ้อมทหาร และใครเป็นผู้ตัดสินให้รางวัลหรือลงโทษ
ปัจจัยดังกล่าวเป็น 5 ปัจจัยสำคัญทางยุทธศาสตร์ด้านการทหาร เพียงหนึ่งหรือสองปัจจัยดังกล่าวไม่สามารถที่จะบ่งบอกความแพ้ชนะของสงคราม หากต้องการชนะอีกฝ่ายหนึ่ง จึงต้องพิจารณาปัจจัยทั้ง 5 ดังกล่าวเข้าด้วยกัน จากนี้จะเห็นได้ชัดว่า การพิจารณาปัจจัยยุทธศาสตร์สำคัญอย่างรอบด้านนั้นเป็นจุดเด่นของยุทธศิลป์ซุนจื่อ
ตัวอย่างที่สองคือ รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง นี่อาจเป็นความคิดยุทธศาสตร์ซุนจื่อที่ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางที่สุด
การพิจารณาปัจจัยยุทธศาสตร์สำคัญ 5 ประการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่จะรู้สถานการณ์ที่แท้จริงของทั้งสองฝ่ายที่จะสู้รบกัน แต่การรู้สภาพความเป็นจริงของอีกฝ่ายหนึ่งนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอีกฝ่ายหนึ่งจะพยายามรักษาความลับทุกอย่างของตน และใช้กลอุบายทุกอย่าง
ขณะเดียวกัน การรู้เราเองก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน ประชาชนมีความคิดเห็นอย่างไรกับสงครามที่จะเกิดขึ้น? ขุนพลมีความสามารถไหม? โอกาสเอื้ออํานวยไหม? กองกําลังมีความเข้มแข็งไหม? ทหารมีความชำนาญไหม? หากไม่มีการพิจารณาวิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วน คำตอบของคำถามดังกล่าวคงไม่ปรากฏออกมาให้เห็นเองอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ คนเราอาจเกิดความเข้าใจผิดจากความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง ในประวัติศาสตร์เคยมีหลายครั้งที่กองทัพไม่พร้อมที่จะไปสู้รบกับข้าศึก แต่ขุนพลไม่ได้รายงานสภาพความเป็นจริงให้ประมุขรับทราบ ผลสุดท้ายก็คือ กองทัพต้องตกเป็นฝ่ายแพ้อย่างย่อยยับ นี่เป็นสาเหตุที่ทำไมซุนจื่อเน้นว่า รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง ไม่รู้เขาแต่รู้เรา ชนะแพ้ยังก้ำกึ่ง ไม่รู้เขาไม่รู้เรา ทุกศึกจักปราชัย
ซุนจื่อเพิ่มเติมว่า หากรู้แต่ว่ากองทัพของตนสามารถเข้าโจมตีข้าศึกได้ แต่ไม่รู้ว่ากองทัพของข้าศึกมีความเข้มแข็ง โอกาสที่จะแพ้หรือชนะเป็นครึ่งต่อครึ่ง หากรู้แต่ว่ากองทัพฝ่ายข้าศึกมีความอ่อนแอ แต่ไม่รู้ว่ากองทัพตนอยู่ในฐานะที่ไม่สามารถเข้าโจมตีกองทัพของข้าศึกได้ โอกาสที่จะแพ้หรือชนะเป็นครึ่งต่อครึ่ง หากรู้แต่ว่ากองทัพของตนสามารถเข้าโจมตีข้าศึกได้ รวมทั้งรู้ว่ากองทัพของข้าศึกไม่มีความเข้มแข็ง แต่ไม่รู้ว่าภูมิอากาศและภูมิประเทศไม่เอื้ออำนวยในการโจมตีกองทัพของข้าศึก โอกาสที่จะแพ้หรือชนะเป็นครึ่งต่อครึ่งเช่นกัน
ดังนั้น เมื่อประกาศทำการสู้รบกับข้าศึก ต้องให้ทุกอย่างมีความชัดเจนก่อน และพร้อมที่จะใช้มาตรการทุกอย่างในการรับมือกับทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น สรุปก็คือ หากรู้เรา รู้เขา และรู้ภูมิอากาศ ภูมิประเทศของสมรภูมิในช่วงสงครามว่าเอื้อประโยชน์หรือไม่ โอกาสที่จะชนะจึงจะมีร้อยเปอร์เซนต์
ตัวอย่างที่ 3 คือ ยุทธการทางทหาร คือศาสตร์แห่งการใช้เล่ห์เหลี่ยมไหวพริบ พิชัยสงครามซุนจื่อระบุว่า เมื่อสามารถจู่โจมพึงแสดงว่าไม่สามารถ เมื่อตัดสินใจใช้กําลังจงแสดงประหนึ่งว่าไม่กระตือรือร้น เมื่ออยู่ใกล้จงหลอกว่าอยู่ไกล เมื่ออยู่ไกลจงหลอกว่าอยู่ใกล้ ล่อหลอกศัตรูด้วยอามิสประโยชน์ เมื่อศัตรูวุ่นวายสับสนจงเข้าตี จงเตรียมความพร้อมเสมอ
เมื่อศัตรูเพียบพร้อมทุกด้านหลีกเลี่ยงการปะทะ เมื่อศัตรูเข้มแข็งแกร่งกล้าให้หยอกเย้า เมื่อศัตรูอยู่ในโทสะจริตพึงถ่อมตัวพินอบพิเทาเพื่อให้ศัตรูหลงผิดได้ใจ พึงตามรังควานก่อกวนเมื่อศัตรูพักผ่อนออมแรง พึงยุแยงให้ศัตรูแตกแยกความสามัคคี พึงหักหาญเมื่อศัตรูไม่มีความพร้อม จู่โจมเมื่อศัตรูไม่ทันคาดคิด เหล่านี้คือเงื่อนงําแห่งชัยชนะ สรุปคือ ไม่อาจเปิดเผยจุดประสงค์ที่แท้จริงแก่ข้าศึกศัตรูรู้
ตัวอย่างที่ 4 คือ ชนะการศึกโดยมิต้องรบ ซุนจื่อไม่เห็นด้วยกับการฆ่าฟัน และทำลายกันอย่างขนานใหญ่ เขาเห็นว่า การกระทำเช่นนี้เป็นยุทธศาสตร์ระดับต่ำสุด ในแง่มุมของซุนจื่อ เป้าประสงค์ในการทำศึกคือ ได้รับชัยชนะ ไม่ใช่เพื่อฆ่าคนจำนวนมากเท่าที่จะมากได้ ตรงกันข้าม การทำศึกนั้นต้องพยายามหลีกเลี่ยงการทำลายฐานที่มั่นของศัตรู และชีวิตผู้คน ทางที่ดีที่สุดคือ ยึดเมืองมาโดยพยายามไม่ทำลายตัวเมือง ชนะสงครามโดยพยายามหลีกเลี่ยงการฆ่าฟันกัน นี่เป็นหลักการแห่งชัยชนะที่ชอบธรรม
ซุนจื่อกล่าวอีกว่า ชนะสงครามโดยผ่านการสู้รบฆ่าฟันกันไม่ใช่ทางเลือกที่ดี ชนะสงครามโดยไม่ต้องรบกันจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ดังนั้น การทหารชั้นเลิศคือชนะในเชิงกลยุทธ์ รองไปคือชนะโดยการทูต ถัดจากนั้นคือชนะโดยกําลังทหาร ชั้นต่ำสุดคือโจมตีเมือง ในสมัยซุนจื่อ ศาลเจ้า และสุสานของบรรพบุรุษล้วนอยู่ในตัวเมือง ฝ่ายที่ป้องกันตัวเมืองจึงต้องสู้ตายอย่างแน่นอน ดังนั้น การโจมตีเมืองมักจะสร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมหาศาล
แนวความคิดของซุนจื่อดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจในระดับลึกซึ้งที่มีต่อสิ่งที่ทุกวันนี้เราเรียกว่า “การวางยุทธศาสตร์โดยองค์รวม”
ซุนจื่อยังเน้นย้ำว่า การทหารเป็นงานใหญ่ของชาติ คือความเป็นความตาย คือหนทางแห่งการคงอยู่หรือดับสูญ ดังนั้น เจ้าแคว้นต้องไม่ก่อสงครามเพราะโกรธเกรี้ยว แม่ทัพต้องไม่รบรุกเพราะฉุนเฉียว เพราะชีวิตที่มอดมลาย ไม่อาจฟื้นคืนมาได้
ดังนั้น เจ้าแคว้นที่ฉลาดต้องสุขุม แม่ทัพที่เก่งกาจต้องตื่นตัวรอบคอบ นี่คือหลักแห่งการปกป้องบ้านเมืองและรักษากองทัพ
(yim/cai)