สำนักข่าวซินหวา รายงานว่า วันที่ 2 พฤศจิกายน ก่อนร่วมการประชุมผู้นำเกี่ยวกับความร่วมมือในเอเชียตะวันออก และเยือนไทยอย่างเป็นทางการ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ได้เขียนบทความในหัวข้อ “ร่วมแรงร่วมใจร่างพิมพ์เขียวความร่วมมือในเอเชียตะวันออกที่ดีงาม” เผยแพร่ในสื่อท้องถิ่นของไทย โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
การประชุมผู้นำความร่วมมือเอเชียตะวันออกประจำปี 2019 ใกล้จะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้เดินทางมาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้ง นับเป็นครั้งที่ 3 ที่ข้าพเจ้าในฐานะนายกรัฐมนตรีจีนเดินทางมาเยือนประเทศไทย ประเทศที่เปี่ยมด้วยรอยยิ้ม จึงรู้สึกอบอุ่นดั่งเดินทางมาเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน ขอถือโอกาสนี้ ขอบคุณเจ้าภาพประเทศไทยที่ได้ใช้ความพยายามในการเตรียมความพร้อมสำหรับจัดการประชุมครั้งนี้ ข้าพเจ้ารอคอยที่จะได้พบปะพูดคุยกับผู้นำประเทศต่างๆ ที่เดินทางมาเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างมิตรสัมพันธ์ระหว่างกัน และร่วมกันปรึกษาหารือถึงยุทธศาสตร์ความร่วมมือในเอเชียตะวันออก
เอเชียตะวันออกเป็นบ้านเมืองร่วมกันของเรา ข้าพเจ้ารู้สึกปีติยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นความร่วมมือในเอเชียตะวันออกได้รักษาแนวโน้มการพัฒนาที่แข็งแกร่ง โดยความร่วมมือระหว่างจีน-อาเซียนได้แสดงบทบาทนำหน้า และปรากฏสภาพที่คึกคัก มีชีวิตชีวา จีนเป็นหุ้นส่วนการค้าใหญ่ที่สุดของอาเซียนต่อเนื่องกันมาเป็นเวลา 10 ปี ขณะที่อาเซียนก็กระโดดขึ้นมาเป็นหุ้นส่วนการค้าใหญ่อันดับ 2 ของจีนในปีนี้ สินค้าที่มีลักษณะเฉพาะของประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลากหลายชนิด เช่น ทุเรียนจากไทย มาเลเซีย กล้วยหอมจากฟิลิปปินส์ ข้าวจากกัมพูชา กาแฟจากเวียดนาม และปาล์มน้ำมันจากอินโดนีเซียได้เข้าสู่ครอบครัวของชาวจีนทั่วไปนับวันมากขึ้น ขณะที่สินค้าคุณภาพดีของจีน เช่น สมาร์ทโฟน เครื่องใช้ไฟฟ้า ของเล่นเด็ก ก็ได้รับความนิยมจากประเทศอาเซียนเช่นกัน
เอเชียตะวันออกยังเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ช่วงกว่า 70 ปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เอเชียตะวันออกได้รักษาสภาวะแวดล้อมที่มีสันติภาพและเสถียรภาพโดยรวม ได้สร้างสิ่งมหัศจรรย์ในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ทั่วโลกจับตามอง ปี 2018 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีของ10 ประเทศอาเซียน บวกจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมแล้วคิดเป็น 27% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศทั่วโลก ยอดมูลค่าการค้าต่างประเทศของ 13 ประเทศดังกล่าวคิดเป็น 26% ของยอดมูลค่าการค้าต่างประเทศทั่วโลก สัดส่วนส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจโลกคิดเป็นประมาณ 60% ซึ่งหากคิดเฉพาะจีนประเทศเดียวก็มากกว่า 30% เราได้รับมือกับผลกระทบจากวิกฤติการเงินสองครั้งด้วยความสำเร็จ ได้พยายามส่งเสริมสนับสนุนเสรีภาพและความสะดวกทางการค้าและการลงทุน ได้ลงลึกการหลอมรวมทางเศรษฐกิจของภูมิภาค จึงทำให้เอเชียตะวันออกพัฒนาเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีชีวิตชีวา และมีศักยภาพมากที่สุดในโลก
ขณะนี้ แรงกดดันเศรษฐกิจขาลงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ลัทธิกีดกันทางการค้า และลัทธิเอกภาคีนิยมผงาดขึ้น ทำให้การพัฒนาของเอเชียตะวันออกต้องเผชิญกับการท้าทายใหม่ ด้วยสาเหตุดังกล่าวนี้ ประเด็นปัญหาต่างๆ เช่น จะป้องกันและต้านความเสี่ยงอย่างไร จะรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจ และลงลึกความร่วมมือที่อำนวยประโยชน์แก่กันด้วยวิธีการใด เพื่อเพิ่มพูนความผาสุกของประชาชนนั้น จึงเป็นประเด็นปัญหาที่เราต้องร่วมพิจารณาและปรึกษาหารือกัน
จากประสบการณ์ความร่วมมือและกระบวนการพัฒนาในเอเชียตะวันออก เราสามารถได้ข้อสรุปชี้แนะดังต่อไปนี้
ประการแรก ต้องรักษาสันติภาพและเสถียรภาพ การพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองจึงจะมีหลักประกัน ประเทศอาเซียนมีความสามัคคีกัน ร่วมมือกัน และช่วยเหลือกัน ได้ก่อตั้งประชาคมอนุภูมิภาคแห่งแรกในประวัติศาสตร์ของเอเชีย และได้สร้างสิ่งมหัศจรรย์อาเซียนที่ได้รับการชื่นชมจากชาวโลก จีนยืนหยัดเดินบนหนทางการพัฒนาที่สันติมาโดยตลอด ยึดมั่นในแนวทางการต่างประเทศรอบข้างที่จะเป็นมิตรกัน มีความจริงใจต่อกัน อำนวยประโยชน์แก่กัน และยอมรับกัน ริเริ่มและปฏิบัติตามนโยบายความมั่นคงที่มีความปลอดภัยร่วมกัน ครอบคลุมทุกด้านที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ร่วมมือกัน และมีความยั่งยืน เพิ่มพูนความน่าเชื่อถือทางการเมืองกับประเทศรอบข้างอย่างต่อเนื่อง และเป็นพลังหลักในการรักษาสันติภาพ เสถียรภาพของภูมิภาคนี้ จีนและอาเซียนได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด โดยยึดมั่นในหลักการแห่งการเปิดประเทศ ยอมรับต่อกัน เคารพซึ่งกันและกัน และพูดคุยเจรจากัน ร่วมกันจัดตั้งกลไกความร่วมมือของภูมิภาคที่ถืออาเซียนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้เป็นพื้นฐานแห่งสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของเอเชียตะวันออก
ประการที่สอง ต้องขับเคลื่อนการเปิดสู่ภายนอกและความร่วมมือ จึงสามารถบรรลุการอำนวยประโยชน์แก่กัน และได้ชัยชนะร่วมกัน การปฏิรูปและเปิดประเทศของจีนไม่เพียงได้บรรลุการพัฒนาของตน แต่ยังได้สร้างโอกาสสำคัญให้แก่โลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศรอบข้างของจีน ซึ่งรวมทั้งประเทศอาเซียนด้วย จีนนำหน้าทำการเจรจากับอาเซียนในการสร้างเขตการค้าเสรี และได้จัดตั้งเขตการค้าเสรีประเทศกำลังพัฒนาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ปีนี้ เขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนบรรลุการยกระดับสูงขึ้น กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าได้รับการปรับปรุงดีขึ้น กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการเข้าถึงตลาดมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ขอบเขตความร่วมมือได้ขยายออกไปกว้างขึ้น นอกจากนี้ จีนและประเทศอาเซียนร่วมกันผลักดันการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(RCEP) ทุ่มเทกำลังในการก่อตั้งเขตการค้าเสรีที่มีประชากรมากที่สุด ประกอบด้วยสมาชิกที่มีโครงสร้างหลากหลายที่สุด และมีศักยภาพมากที่สุดในโลก รวมทั้งสร้างตลาดขนาดใหญ่ในเอเชียที่เปิดสู่ภายนอกมากขึ้น
จีนและประเทศอาเซียนร่วมสร้าง "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" คุณภาพสูง ทุ่มเทกำลังในการบรรลุการเชื่อมต่อในระดับสูง ในอนาคตอันใกล้ การโดยสารรถไฟจากเมืองคุนหมิงมากรุงเทพฯจะกลายเป็นจริงขึ้น
จีนและประเทศอาเซียนร่วมสร้างสภาวะแวดล้อมการนวัตกรรมที่เปิดสู่ภายนอก มีการร่วมมือกัน และไม่เลือกปฏิบัติต่อกัน ทั้งสองฝ่ายจะถือโอกาสปีแห่งความร่วมมือทางเศรษฐกิจดิจิทัลในปีหน้า กระชับความร่วมมือในด้านการสื่อสาร 5 จี ปัญญาประดิษฐ์ ข้อมูลขนาดใหญ่(Big Data) เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง(Internet of Things) และเมืองอัจฉริยะ ร่วมกันรับประโยชน์จากการนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ประการที่สาม เสริมการไปมาหาสู่กันระหว่างประชาชน และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมจะสามารถทำให้ความสัมพันธ์มีความใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เส้นทางสายไหมทางทะเลที่เริ่มเปิดขึ้นเมื่อสองพันกว่าปีก่อนนั้นได้นำมาซึ่งการติดต่อไปมาหาสู่กันทางทะเลที่รุ่งโรจน์ อีกทั้งยังเป็นสักขีพยานต่อประวัติศาสตร์การไปมาหาสู่กันอย่างใกล้ชิดระหว่างจีนกับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเร็วๆ นี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ถวายเครื่องอิสริยาภรณ์รัฐมิตราภรณ์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทูตสันถวไมตรียอดเยี่ยมในการพัฒนามิตรสัมพันธ์ระหว่างจีนและไทยนั้น เป็นเรื่องดีงามอีกเรื่องหนึ่งในการพัฒนามิตรสัมพันธ์ระหว่างจีนและไทย ตลอดจนจีนและอาเซียน
พร้อมๆ กับการไปมาหาสู่กันระหว่างจีนและประเทศอาเซียนนับวันมีความใกล้ชิดยิ่งขึ้น ประชาชนทั่วไปจำนวนมากขึ้นทุกวันจะกลายเป็นทูตสันถวไมตรีระหว่างจีนและอาเซียน ปัจจุบัน เที่ยวบินตรงระหว่างจีนและประเทศอาเซียนมีประมาณสัปดาห์ละ 4,500 เที่ยวบิน เมื่อปีที่แล้ว ประชาชนของทั้งสองฝ่ายที่เดินทางไปมาหาสู่กันมีจำนวน 57 ล้านคน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจากนักท่องเที่ยวจีน เมื่อปีที่แล้ว นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทยเกิน 10 ล้านคน นักเรียนประเทศอาเซียนที่มาศึกษาต่อที่จีนมีประมาณ 1 แสนคน โครงการทุนการศึกษาสำหรับบุคลากรดีเด่นจีน-อาเซียนที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีนี้ จะช่วยสนับสนุนเยาวชนดีเด่นของประเทศอาเซียนมากขึ้นมาเรียนต่อที่ประเทศจีน จีนมีสำนวนว่า “เกื้อกูลผูกสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน แน่นแฟ้นกว่าญาติที่อยู่ไกลกัน” จีนและไทยเป็นพี่น้องกันอยู่แล้ว เชื่อมั่นว่า จีนและประเทศอาเซียนจะใกล้ชิดกันมากยิ่งๆ ขึ้น จะเป็นครอบครัวเดียวกันที่มีอนาคตร่วมกัน
ประการที่สี่ ต้องยืนหยัดในการพูดคุยเจรจากันและปรึกษาหารือกัน จึงสามารถบรรลุความเห็นพ้องต้องกันได้ วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกมีลักษณะพิเศษที่ถือความปรองดองกันเป็นสิ่งล้ำค่า มีการประนีประนอมกัน รวมทั้งถือสันติสุขและความกลมกลืนกันเป็นสิ่งสำคัญมาก ขณะที่รูปแบบของอาเซียนเน้นการปรึกษาหารือกันเพื่อบรรลุความเห็นที่เป็นเอกฉันท์ และต้องคำนึงถึงความสบายของทุกฝ่าย วัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันทำให้เรายืนหยัดในการจัดการกับข้อขัดแย้งอย่างเหมาะสมโดยผ่านการพูดคุยเจรจากัน และปรึกษาหารือกัน มีปัญหาอะไรก็แก้ไขเสียด้วยวิธีพูดคุยกัน
จีนและบางประเทศอาเซียนมีข้อพิพาทเขตแดนและสิทธิประโยชน์ทางทะเลในทะเลจีนใต้จริง แต่ปัญหาทะเลจีนใต้ไม่เพียงแต่ไม่ได้กระทบถึงการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีน-อาเซียน แต่กลับยังกลายเป็นอีกด้านหนึ่งแห่งความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่าย เราร่วมกันปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (DOC)อย่างรอบด้าน และพยายามขับเคลื่อนการเจรจาในการจัดทำแนวทางปฏิบัติในทะเลจีนใต้( COC) เมื่อปีที่แล้ว ข้าพเจ้าเสนอให้จัดทำแนวทางปฏิบัติในทะเลจีนใต้ให้เสร็จเรียบร้อยภายในปี 2021 ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทุกฝ่าย
ขณะนี้ การอ่านวาระที่ 1 ของร่างเนื้อหาการเจรจาเพื่อจัดทำแนวทางปฏิบัติในทะเลจีนใต้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จก่อนเวลากำหนด และวาระที่ 2ได้เริ่มดำเนินการอย่างราบรื่น จากการพูดคุยเจรจากัน และปรึกษาหารือกัน จีนและประเทศอาเซียนจะสามารถบรรลุแนวทางปฏิบัติในทะเลจีนใต้ที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของภูมิภาคนี้ มีเนื้อแท้ มีคุณภาพสูง และมีผลผูกมัดอย่างแน่นอน พร้อมทั้งร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์ของภูมิภาคนี้ เพื่อให้ทะเลจีนใต้เป็นทะเลแห่งสันติภาพ มิตรภาพ และความร่วมมือ
ข้าพเจ้าเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งนี้เป็นไปตามคำเชิญของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ปีหน้าเป็นวาระครบรอบ 45ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและไทย ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศยืนอยู่บนจุดเริ่มต้นใหม่ที่สืบทอดอดีต และมุ่งหน้าสู่อนาคต เราจะต้องใช้ความพยายามทวีคูณ เน้นกระชับความร่วมมือด้านสำคัญๆ เช่น การเชื่อมโยงด้านต่างๆ การนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การประสานทักษะของภาคการผลิต และความร่วมมือกับฝ่ายที่สาม เพื่อเติมพลังขับเคลื่อนให้แก่การพัฒนา และสร้างประโยชน์มากขึ้นให้แก่ประชาชนของทั้งสองประเทศ
ขอให้เราร่วมมือกันในยุคใหม่ ร่วมกันบรรเลงเพลงแห่งมิตรภาพจีน-ไทย ร่วมร่างพิมพ์เขียวความร่วมมือในเอเชียตะวันออกที่ดีงาม
(yim/cai)