วันที่ 2 – 5 พฤศจิกายน นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนเดินทางถึงประเทศไทยเพื่อร่วมการประชุมผู้นำจีน-อาเซียน (10+1) ครั้งที่ 22 การประชุมผู้นำอาเซียน จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ (10+3) ครั้งที่ 22 และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกครั้งที่ 14 ที่กรุงเทพฯ และเยือนไทยอย่างเป็นทางการ
ก่อนหน้านี้ นางฮั่ว ชุนหยิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ออกมาพูดถึงการที่นายหลี่ เค่อเฉียง จะเดินทางไปเยือนประเทศไทยโดยกล่าวว่า ทุกวันนี้ความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกพัฒนาไปมาก ฝ่ายต่างๆ ส่งเสริมการประสานงานติดต่อกัน ผลักดันการรวมเศรษฐกิจเป็นหนึ่งเดียว ความตกลงว่าด้วยการยกระดับเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนมีผลบังคับใช้ ในขณะเดียวกันสถานการณ์โลกมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ความร่วมมือเอเชียตะวันออกต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ นางฮั่ว ชุนหยิงกล่าวว่า จีนหวังว่าจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาที่ฝ่ายต่างๆ สนใจร่วมกัน ระดมความตกลง ผลักดันให้ความร่วมมือเอเชียตะวันออกพัฒนามากขึ้น ประการแรกคือยืนหยัดแนวคิดพหุภาคีและการค้าเสรี พยายามเสร็จสิ้นการเจรจา RCEP โดยเร็ว
ประการที่สองคือ กระชับความร่วมมืออย่างจริงจัง ให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงกัน การสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และการแลกเปลี่ยนด้านบุคลากรและวัฒนธรรม ผลักดันการพัฒนาในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ประการที่สามคือ แก้ปัญหาประเด็นร้อนอย่างเหมาะสมด้วยการเจรจา ร่วมกันรักษาสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค ประการที่สี่คือโฟกัสเอเชียตะวันออก ยืนหยัดการเปิดกว้าง บทบาทศูนย์กลางของอาเซียน รักษาการใช้ประโยชน์โครงสร้างความร่วมมือส่วนภูมิภาคที่มีอยู่ในปัจจุบัน แสดงบทบาทสำคัญยิ่งขึ้นเพื่อสันติภาพ ความมั่นคง การพัฒนาและความรุ่งเรืองของภูมิภาค
นายกฯ จีนเยือนไทยตามคำเชิญของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ซึ่งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีการจัดการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation - BRF) ครั้งที่ 2 ที่กรุงปักกิ่ง และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย เข้าร่วมการประชุมที่กรุงปักกิ่ง และได้มีโอกาสพบกับนายหลี่ เค่อเฉียง ที่เรือนรับรองเตี้ยวอี๋ว์ไถ โดยเชิญนายหลี่ เค่อเฉียง เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
การพบปะกันในครั้งนั้น ผู้นำทั้งสองได้บรรลุผลสำเร็จมากมาย โดยนายหลี่ เค่อเฉียง แสดงท่าทีว่า จีนสนับสนุนไทยในหนทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ยินดีที่จะเสริมสร้างความเชื่อถือทางการเมืองต่อกัน กระชับการไปมาหาสู่กันของผู้นำระดับสูง ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อสร้างผลงาน ยกระดับการเชื่อมต่อภายใต้กรอบ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” และผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาของไทย ส่งเสริมโครงการรถไฟจีน-ไทยให้เดินหน้าอย่างมีคุณภาพ ด้านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ระบุว่า ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” มีส่วนช่วยส่งเสริมการพัฒนาในภูมิภาค โดยทุกฝ่ายยินดีที่จะแสดงบทบาทอย่างแข็งขันภายใต้กรอบ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”
ความจริงแล้ว เมื่อปี 2014 นายหลี่ เค่อเฉียง ได้เดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 5 ผ่านไป 5 ปี นายหลี่ เค่อเฉียง เยือนไทยอีกครั้ง และเป็นครั้งแรกสำหรับรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งมีความสำคัญและเป็นที่จับตามองอย่างมาก
จีน-ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1975 ความสัมพันธ์ของสองประเทศดำเนินมาอย่างราบรื่นบนพื้นฐานความเสมอภาค เคารพซึ่งกันและกัน โดยไม่แทรกแซงกิจการภายใน และพัฒนาภายใต้หลักการของผลประโยชน์ร่วมกันเพื่อธำรงไว้ซึ่งความมั่นคง สันติภาพ และเสถียรภาพในภูมิภาค และมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด
Bo/Chu/Patt