หลังปี 1989 อังกฤษได้เปลี่ยนความคิดใหม่ ประสงค์จะให้เร่งกระบวนการปฏิรูประบบการปกครองในฮ่องกง โดยประเด็นที่เป็นปัญหาและทำให้โต้แย้งกันรุนแรงที่สุดคือ ฝ่ายอังกฤษต้องการให้เร่งเพิ่มอัตราส่วนของสมาชิกสภานิติบัญญัติที่ได้จากการเลือกตั้งโดยตรง เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาหลักที่ก่อให้เกิดการโต้แย้งระหว่างจีน-อังกฤษในช่วงนั้น จากนั้น รัฐมนตรีต่างประเทศจีนและอังกฤษเร่งปรึกษาหารือเรื่องราวต่างๆ ด้วยลายลักษณ์อักษร
จีนและอังกฤษก็สามารถบรรลุความเข้าใจและข้อตกลงว่าด้วยการพัฒนาระบบการปกครองฮ่องกงได้ นอกจากนั้น ยังย้ำอีกครั้งว่า อังกฤษต้องปฏิบัติตามหลักการที่ต้องปรึกษาหารือกับจีนเพื่อบรรลุความเห็นที่เป็นเอกฉันท์ และหลักการที่ทำทุกอย่างต้องให้สอดรับกับกฎหมายพื้นฐานเขตบริหารพิเศษฮ่องกง
แต่สิ่งที่คิดไม่ถึงคือ ในเวลาต่อมา อังกฤษจะละเมิดความเข้าใจและข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งทางจีน และอังกฤษ รวมทั้งสื่อมวลชนต่างอภิปรายกันอย่างกว้างขวางว่า เอกสารทางการทูตดังกล่าวของทั้งสองฝ่ายจะถือเป็นข้อตกลงกันได้หรือไม่ และมีผลบังคับใช้หรือไม่ ในความเป็นจริงนั้น ใครก็ตามที่มีความรู้เรื่องการต่างประเทศอยู่บ้าง ก็ต้องทราบคำตอบที่ถูกต้องอยู่แล้ว คือ เอกสารทางการทูตดังกล่าวของทั้งสองฝ่ายจะถือเป็นข้อตกลงกันได้ ดังนั้น จึงยิ่งไม่ต้องกล่าวถึงผู้ที่มีความรู้เป็นอย่างดีเกี่ยวกับประวัติการเจรจาระหว่างจีนกับอังกฤษในปัญหาฮ่องกง
หลังจากมีการบรรลุความเข้าใจและข้อตกลงว่าด้วยปัญหาการเลือกตั้งในฮ่องกงแล้ว ก็มีการประกาศกฎหมายพื้นฐานเขตบริหารพิเศษฮ่องกงอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายนปี 1990 ถึงตอนนี้ การโต้แย้งเกี่ยวกับการปฏิรูประบบการปกครองฮ่องกงน่าจะยุติลง แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่
ตอนจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกงในปี 1991 นั้น ทางอังกฤษได้เร่งดำเนินการในเรื่องที่เรียกว่า “การปฏิรูประบบการปกครองโดยสภาผู้แทน” และเตรียมจะผลักดันระบบแบบใหม่ที่เรียกว่า “กรรมการประจำ” ในสภานิติบัญญัติ เพื่อเป็นการเพิ่มอำนาจให้แก่ฝ่ายนิติบัญญัติในการควบคุมฝ่ายบริหาร
เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวนี้ ฝ่ายจีนได้เตือนฝ่ายอังกฤษว่า ได้มีการกำหนดไว้ในกฎหมายพื้นฐานเขตบริหารพิเศษฮ่องกงไว้ว่า จะให้การปกครองเขตบริหารพิเศษฮ่องกงเป็นแบบให้ฝ่ายบริหารเป็นฝ่ายกำกับ และระบบนี้ใช้ได้ผลในฮ่องกงหลายปีแล้ว ดังนั้น หากมาเปลี่ยนเป็นแบบให้ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นฝ่ายกำกับ ย่อมจะขัดต่อกฎหมายพื้นฐาน ทางจีนไม่อยากให้เกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้น ตอนนั้น อังกฤษตอบรับว่า อังกฤษไม่มีเจตนาจะเปลี่ยนระบบการปกครองที่กำกับโดยฝ่ายบริหารไปเป็นแบบที่กำกับโดยฝ่ายนิติบัญญัติแต่อย่างใด
เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติในฮ่องกงในปี 1995 นั้น จีนเตือนอังกฤษว่า การเลือกตั้งสภานิติบัญญัติฮ่องกงชุดก่อนส่งมอบฮ่องกงคืนจีนต้องให้สอดคล้องกับกฎหมายพื้นฐานเขตบริหารพิเศษฮ่องกง มิเช่นนั้น จะให้สมาชิกสภานิติบัญญัติชุดนี้ทำงานต่อหลังฮ่องกงกลับคืนสู่จีนไม่ได้ ฝ่ายอังกฤษตอบว่า จะมีการปรึกษาหารือกับจีนก่อนมีการตัดสินในเรื่องนี้
อย่างไรก็ตม ในเดือนเมษายน ปี 1991 รัฐบาลอังกฤษได้แต่งตั้งให้นาย คริส แพตเทนที่เคยดำรงตำแหน่งประธานพรรคอนุรักษ์นิยมที่เป็นคนหัวแข็งเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเขตฮ่องกง โดยมาแทนนายเดวิด ไคลว์ วิลสัน ที่ทางอังกฤษเห็นว่า เขาชอบอ่อนข้อให้แก่จีนมากเกินไป
ทันทีที่ นาย คริส แพตเทน ขึ้นดำรงตำแหน่ง ก็ดำเนินการปรับเปลี่ยนนโยบายที่อังกฤษมีต่อฮ่องกงอย่างมาก แนวคิดที่แตกต่างระหว่างจีน-อังกฤษเกี่ยวกับการพัฒนาระบบการปกครองฮ่องกงก็นำไปสู่การโต้แย้งที่เปิดเผยและรุนแรงอีกรอบหนึ่ง
โดยเหตุผลแล้ว หน้าที่ของผู้ว่าราชการเขตฮ่องกงคนสุดท้ายในช่วงเปลี่ยนผ่านนั้น ควรจะให้ความร่วมมือกับจีนอย่างดี เพื่อให้มีเสถียรภาพในช่วงเปลี่ยนผ่าน และการถ่ายโอนอำนาจการปกครองเป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งหากทำได้เช่นนี้ ก็จะกล่าวได้ว่า ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างดียิ่ง และชื่อเสียงของผู้ว่าฯท่านนี้ก็จะได้รับการจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ แต่นาย คริส แพตเทน ผู้ว่าฯคนสุดท้ายนี้กลับทำตรงกันข้าม กลัวว่าการส่งมอบฮ่องกงคืนสู่จีนจะราบรื่นเกินไป
หลังจากขึ้นดำรงตำแหน่งในเดือนกรกฎาคมปี 1992 นาย คริส แพตเทนก็ได้ประกาศแผนการปฏิรูประบบการปกครองฮ่องกง ซึ่งทำให้เกิดการเผชิญหน้ากับจีน โดยจัดทำรูปแบบการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติฮ่องกงในปี 1995 ออกมาใหม่อีกรูปแบบหนึ่ง หากมองอย่างผิวเผิน ก็ยังเป็นการรักษาระบบการปกครองที่กำกับโดยฝ่ายบริหารไว้ แต่โดยเนื้อแท้แล้ว ต้องการจะเร่งเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองฮ่องกง เพื่อยกฐานะและเพิ่มอำนาจให้แก่ฝ่ายนิติบัญญัติ
นาย คริส แพตเทน ได้แถลงนโยบายการบริหารเป็นครั้งแรกในวันที่ 7 ตุลาคม ปี 1992 รวมทั้งได้ประกาศแผนการปฏิรูประบบการปกครองฮ่องกง ต่อมาอีกหลายวันให้หลัง จีนแจ้งให้ฝ่ายอังกฤษทราบว่า แผนการปฏิรูประบบการปกครองฮ่องกงของนาย คริส แพตเทนขัดต่อกฎหมายพื้นฐานเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ดังนั้น สภานิติบัญญัติที่เกิดจากแผนดังกล่าวจะทำงานต่อไม่ได้หลังฮ่องกงกลับคืนสู่จีนในวันที่ 1 กรกฎาคม ปี 1997 นอกจากนั้น จีนยังเตือนฝ่ายอังกฤษว่า อย่าเปิดศึกคารมโดยใช่เหตุ
อังกฤษดูจะเตรียมก่อเรื่องอยู่แล้ว จึงไม่ได้สนใจการคัดค้านและการเตือนของจีน อังกฤษได้ทำการประกาศแผนการปฏิรูประบบการปกครองฮ่องกงดังกล่าว โดยมิได้ปรึกษากับจีน ถือเป็นพฤติกรรมที่ขัดต่อแถลงการณ์ร่วมระหว่างจีน-อังกฤษ จงใจก่อให้เกิดการโต้แย้งกันอย่างเปิดเผย และหมายจะอาศัยสื่อมวลชนในการกดดันจีน ทันทีที่มีการประกาศแผนการปฏิรูประบบการปกครองฮ่องกงดังกล่าว นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษก็แสดงท่าทีสนับสนุน
ส่วนจีนได้แจ้งจุดยืนของตนเองให้ทุกฝ่ายทราบทันที อีกทั้งแสดงความเป็นห่วงในการกระทำของอังกฤษ โดยจีนชี้แจงให้ทราบว่า หากระบบการปกครองไม่สามารถเชื่อมต่อกันก่อนและหลังฮ่องกงกลับคืนสู่จีน ความรับผิดชอบมิได้อยู่ที่ฝ่ายจีน เมื่อฮ่องกงกลับคืนสู่จีน หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงจะถูกตั้งขึ้นตามกฎหมายพื้นฐานฮ่องกง และมติของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน
หลังจากประกาศแผนการปฏิรูประบบการปกครองฮ่องกงแล้ว นาย คริส แพตเทนจึงเดินทางมาเยือนปักกิ่งในวันที่ 22 เดือนตุลาคม หมายจะใช้เรื่องที่เกิดขึ้นมากดดันจีน จะให้จีนมีข้อเสนอค้านบนพื้นฐานของแผนดังกล่าว
แต่จีนยืนหยัดจะปฏิบัติตามหลักการที่กำหนดไว้ในแถลงการณ์ร่วมระหว่างจีน-อังกฤษในการดำเนินการ เนื่องจากเห็นว่า การเลือกตั้งประจำปี 1994/1995 เกี่ยวพันถึงเสถียรภาพในช่วงเปลี่ยนผ่าน จึงควรมีการปรึกษากับจีน เพื่อให้มีความคิดเห็นที่ตรงกัน อังกฤษไม่ควรกระทำโดยลำพังฝ่ายเดียว โดยที่ยังไม่มีการหารือกับจีน ดังนั้น จีนขอให้นาย คริส แพตเทน เปลี่ยนแปลงท่าที และให้ประกาศถอนแผนการปฏิรูประบบการปกครองฮ่องกง จีนได้วิเคราะห์ให้นายคริส แพตเทนฟังหลายรอบว่า แผนการปฏิรูประบบการปกครองของเขาได้ละเมิดแถลงการณ์ร่วมระหว่างจีน-อังกฤษ ละเมิดหลักการการเชื่อมต่อที่กำหนดไว้ในกฎหมายพื้นฐาน และละเมิดข้อตกลงที่ได้บรรลุในก่อนหน้านี้แล้ว แต่นาย คริส แพตเทน เพิกเฉย มิได้ใส่ใจในคำชี้แนะ และคำเตือนของฝ่ายจีน
การมาเยือนปักกิ่งของนายคริส แพตเทน ไม่มีประโยชน์ในการแก้ไขปัญหา แต่กลับทำให้จุดยืนของทั้งสองฝ่ายกลายเป็นการเผชิญหน้ากัน
เพื่อรับมือกับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นได้ จีนได้เตรียมมาตรการรองรับไว้สองประการ คือ ประการแรก จะยืนหยัดในจุดยืนของตนเอง และพยายามรักษาพื้นฐานแห่งความร่วมมือระหว่างสองฝ่าย และอีกประการหนึ่งคือ หากในที่สุดเกิดสถานการณ์ที่ระบบการปกครองเชื่อมต่อกันไม่ได้ก่อนและหลังฮ่องกงกลับคืนสู่จีน จีนก็จะใช้วิธีการของตนเอง