ย้อนประวัติการจัดประชุมบริหารพัฒนาทิเบตของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน

2020-08-30 19:58:23 | CMG
Share with:

จากอดีตถึงปัจจุบัน การบริหารจัดการเขตชายแดนถือเป็นงานสำคัญยิ่งของรัฐบาลกลางมาโดยตลอด และพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ให้ความสำคัญระดับสูงต่องานบริหารพัฒนาทิเบตมาตั้งแต่แรก ได้ดำเนินการศึกษาและวางแผนในภาพรวมเกี่ยวกับการปฏิบัติงานพัฒนาสร้างสรรค์ทิเบตในช่วงสำคัญทางประวัติศาสตร์ ทำการออกแบบระดับสูงและกำหนดทิศทางดำเนินยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนให้กับการพัฒนาก้าวไปข้างหน้าของทิเบต

การประชุมหารือว่าด้วยงานพัฒนาสร้างสรรค์ทิเบต เป็นการศึกษาและวางแผนเฉพาะกิจที่เห็นผลของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน กล่าวได้ว่า การประชุมทุกครั้งที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของยุคสมัย เป็นผลการตัดสินใจล่าสุดต่อสถานการณ์ทิเบตของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และเป็นการจัดวางนโยบายสำคัญอย่างเป็นระบบ บนพื้นฐานของการศึกษาและประเมินสถานการณ์ มีความหมายสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาสร้างสรรค์เศรษฐกิจสังคม และการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของทิเบตในระยะยาว

การประชุมงานพัฒนาทิเบตครั้งแรก จัดขึ้นเมื่อ ค.ศ.1980 อันเป็นช่วงต้นของการปฏิรูปและเปิดประเทศของจีน ที่ประชุมมีมติว่า ต้องเดินหน้าบนพื้นฐานที่เคารพสภาพความเป็นจริงของทิเบต แก้ไขความผิดพลาดและขจัดปัจจัยที่ก่อให้เกิดความปั่นป่วน นับเป็นการประชุมครั้งสำคัญ ภายหลังเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่บรรลุการปลดแอกทิเบตอย่างสันติ และดำเนินการปฏิรูปทางประชาธิปไตยของทิเบต

การประชุมงานพัฒนาทิเบตครั้งที่ 2 จัดขึ้นเมื่อ ค.ศ.1984 ได้มีการศึกษาวิจัยอีกขั้นในประเด็นผ่อนปรนนโยบายทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชนทิเบตมั่งคั่งร่ำรวยขึ้นในเร็ววัน ปูรากฐานที่มั่นคงให้กับงานสร้างสรรค์ความทันสมัยของทิเบต

ค.ศ. 1994 คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนจัดประชุมหารืองานพัฒนาทิเบตครั้งที่ 3 โดยชูนโยบาย “แยกพื้นที่แบ่งความรับผิดชอบ สนับสนุนให้ตรงจุด สลับเปลี่ยนหน้าที่เป็นระยะ” และใช้รูปแบบส่งเจ้าหน้าที่ไปบริหารงานในลักษณะ “ลงพื้นที่ช่วยงานระยะยาว สลับเปลี่ยนตำแหน่งงานด้วยตนเอง” เป็นการเปิดกระบวนการที่คณะกรรมการกลางพรรค มณฑล และเมืองพี่เมืองน้องทั่วประเทศ ร่วมกันสนับสนุนช่วยเหลือทิเบตให้ตรงจุดในระยะยาว

การประชุมงานพัฒนาทิเบตครั้งที่ 4 มีขึ้นในปี 2001 อันเป็นจุดเริ่มต้นของศตวรรษใหม่ ที่ประชุมมีมติให้คว้าโอกาสอันดีจากยุทธศาสตร์บุกเบิกพัฒนาภาคตะวันตกของจีน และสถานการณ์ในสังคมทิเบตที่มีความสงบเรียบร้อยในขั้นพื้นฐาน ระดมกำลังแก้ไขปัญหาสำคัญเกี่ยวกับภาพรวมของการพัฒนาและความมั่นคงปลอดภัยของทิเบต ผลักดันทิเบตเข้าสู่ทางด่วนการพัฒนา

ต่อจากนั้น การประชุมงานพัฒนาทิเบตครั้งที่ 5 จัดขึ้นในปี 2010 มีการกำหนดให้ 4 มณฑลที่มีพื้นที่ปกครองตนเองชนชาติทิเบต เข้าร่วมงานสนับสนุนช่วยเหลือทิเบตเป็นครั้งแรก ได้แก่ มณฑลซื่อชวน(เสฉวน) หยุนหนาน(ยูนนาน) กันซู่ และชิงไห่ เพื่อหารือและประสานการวางแผนพัฒนาในภาพรวม นับเป็นการเปิดบันทึกหน้าใหม่ให้กับการพัฒนาของ 4 มณฑลด้วย

การประชุมงานพัฒนาทิเบตครั้งที่ 6 จัดขึ้นในปี 2015 ถือเป็นการเรียกประชุมหารือในประเด็นนี้โดยเฉพาะหลังการประชุมสมัชชาผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั่วประเทศครั้งที่ 18 และเป็นครั้งแรกที่พรรคคอมมิวนิสต์บรรยายสรุปแนวทางและยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทิเบต เริ่มต้นกระบวนการสร้างสรรค์สังคมพอกินพอใช้อย่างรอบด้านของทิเบตภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

Yim/Feng/Lu

  • เสียงข่าวประจำวัน (03-05-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (03-05-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (03-05-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (02-05-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (02-05-2567)

陆永江