ปัญหาภูมิอากาศโลกนับวันยิ่งหนักหน่วง‘สี จิ้นผิง’เสนอแนวทางจีนด้วยความรับผิดชอบ

2020-12-17 10:01:15 | CMG
Share with:

ปัญหาภูมิอากาศโลกนับวันยิ่งหนักหน่วง‘สี จิ้นผิง’เสนอแนวทางจีนด้วยความรับผิดชอบ

ปัจจุบัน ปัญหาภูมิอากาศโลกนับวันยิ่งทวีความรุนแรง ระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อุณหภูมิสูงขึ้น 1.2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับก่อนยุคอุตสาหกรรม หากไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลกอาจสูงขึ้นถึง 3 องศาเซลเซียสภายในศตวรรษนี้ซึ่งจะนำหายนะมาสู่ชาวโลก ด้วยเหตุนี้ขณะกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมสุดยอดว่าด้วยความมุ่งมั่นรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Ambition Summit) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา นายแอนโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้วิงวอนทั่วโลกให้เข้าสู่ “ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ” จนกว่าจะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

นายแอนโตนิโอ กูเตอร์เรส กล่าวว่า เป้าหมายหลักในปี 2021 ของสหประชาชาติ คือ การสร้างสหพันธ์เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์อย่างแท้จริงภายในกลางศตวรรษนี้ เพราะฉะนั้นจึงต้องเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป บรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกลดลงในปริมาณ 45% เมื่อเทียบกับปี 2010 ภายในสิ้นปี 2030 และบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในสิ้นปี 2050

นับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นมาในฐานะผู้นำสูงสุดของประเทศใหญ่ในโลก นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เสนอ “สูตร” จีนด้วยความรับผิดชอบเกี่ยวกับการรับมือปัญหาภูมิอากาศโลกบนเวทีสำคัญระหว่างประเทศหลายครั้ง

ในที่ประชุมสุดยอดว่าด้วยความมุ่งมั่นรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เพิ่งจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ปธน.สี จิ้นผิง เสนอข้อริเริ่ม 3 ประการเกี่ยวกับการบริหารจัดการสภาพภูมิอากาศโลกในอนาคต

ประการแรก สามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน บุกเบิกสถานการณ์ใหม่แห่งการบริหารจัดการสภาพภูมิอากาศที่ร่วมมือและได้ชัยชนะร่วมกัน เมื่อเผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มวลมนุษย์มีชะตากรรมร่วมกัน ลัทธิเอกภาคีไม่ใช่ทางออก เรามีแต่ยืนหยัดลัทธิพหุภาคี ส่งเสริมความสามัคคี และความร่วมมือเท่านั้นจึงจะอำนวยประโยชน์แก่กัน ได้รับชัยชนะร่วมกัน และนำความผาสุกมาสู่ประชาชนนานาประเทศได้ จีนยินดีต้อนรับประเทศต่าง ๆ ให้การสนับสนุน “ข้อตกลงปารีส” และสร้างคุณูปการมากขึ้นต่อการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ประการที่สอง ยกระดับความมุ่งมั่นตั้งใจก่อรูปขึ้นเป็นระบบใหม่แห่งการบริหารจัดการภูมิอากาศที่สามารถแสดงศักยภาพของทุกฝ่ายได้อย่างเต็มที่ ประเทศต่าง ๆ ควรปฏิบัติตามหลักการแบกความรับผิดชอบที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมบนพื้นฐานความแตกต่าง ให้ทุกประเทศเสริมสร้างการใช้ปฏิบัติการได้อย่างเต็มที่ตามสภาพและขีดความสามารถของแต่ละประเทศ ขณะเดียวกันประเทศที่พัฒนาแล้วต้องให้การสนับสนุนอย่างจริงจังแก่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งด้านเงินทุน เทคโนโลยี และการเพิ่มขีดความสามารถ

ประการที่สาม เสริมสร้างความมั่นใจ ยืนหยัดแนวคิดใหม่แห่งการบริหารจัดการสภาพภูมิอากาศที่เน้นฟื้นฟูความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิด “น้ำใสภูเขาเขียว คือ ภูเขาเงินภูเขาทอง” ต้องทุ่มเทส่งเสริมวิถีการผลิตและดำรงชีวิต “แบบสีเขียวและคาร์บอนต่ำ” ทั้งยังแสวงหาโอกาสและพลังขับเคลื่อนจากการพัฒนาแบบสีเขียว

พร้อมกันนี้ ปธน.สี จิ้นผิง ประกาศเป็นครั้งแรกว่า ภายในปี 2030  จีนจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงมากกว่า 65% เมื่อเทียบกับปี 2005 ใช้พลังงานที่ไม่ใช่ฟอสซิลเป็นสัดส่วนราว 25% ของการใช้พลังงานสิ้นเปลือง ปริมาณพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมและแสงอาทิตย์มีมากกว่า 1,200 ล้านกิโลวัตต์

วันที่ 22 กันยายน 2020 ปธน. สี จิ้นผิง ระบุขณะกล่าวสุนทรพจน์ในการอภิปรายทั่วไปของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 75 ว่า โรคระบาดโควิด-19 ให้ข้อคิดแก่เราว่า มนุษยชาติต้องการการปฏิวัติตัวเองครั้งหนึ่งเพื่อเร่งให้เกิดวิถีการดำรงชีวิตและการผลิตแบบสีเขียว รวมถึงการสร้างอารยธรรมทางระบบนิเวศและโลกที่สวยงาม มนุษยชาติไม่ควรมองข้ามการตักเตือนครั้งแล้วครั้งเล่าของธรรมชาติ โดยยังคงเดินบนหนทางเก่าที่เอาแต่ได้โดยไม่คำนึงถึงการทุ่มเท เอาแต่การพัฒนาแต่ไม่คำนึงถึงการอนุรักษ์ และเอาแต่ใช้ประโยชน์แต่ไม่คำนึงถึงการบูรณะซ่อมแซม “ข้อตกลงปารีส” ที่มีขึ้นเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนั้นเป็นตัวแทนของทิศทางใหญ่ของโลกในการเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาแบบสีเขียวและคาร์บอนต่ำ เป็นปฏิบัติการขั้นต่ำสุดที่พึงมีเพื่อคุ้มครองบ้านของโลก นานาประเทศจำต้องก้าวเดินไปข้างหน้าซึ่งนับเป็นจังหวะก้าวเชิงชี้ขาด จีนยินดีที่จะยกระดับการสร้างคุณูปการเพื่อการนี้โดยใช้นโยบายและมาตรการที่ทรงพลังมากยิ่งขึ้น ใช้ความพยายามลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้มากที่สุดก่อนสิ้นปี 2030 และบรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ก่อนสิ้นปี 2060 นานาประเทศควรยึดแนวคิดใหม่แห่งการพัฒนาที่ประกอบด้วยความคิดสร้างสรรค์ ความกลมกลืน การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเปิดกว้าง และการแบ่งปัน ใช้โอกาสเชิงประวัติศาสตร์แห่งการปฏิวัติวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรวมถึงอุตสาหกรรมรอบใหม่ให้เป็นประโยชน์ ผลักดันให้เศรษฐกิจโลกหลังสิ้นสุดการระบาดของโควิด-19 บรรลุเป้าหมาย “การฟื้นฟูแบบสีเขียว” และรวมตัวกันเป็นพลังเข้มแข็งแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน

วันที่ 30 กันยายน 2020 ขณะกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมสุดยอดว่าด้วยความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตแห่งสหประชาชาติ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน กล่าวย้ำถึงจุดยืนดังกล่าวของจีนอีกครั้ง พร้อมแสดงว่าจีนได้ปฏิบัติตามพันธกรณีว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และสนธิสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งบรรลุเป้าหมายปี 2020 ในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งยังจัดตั้งเขตอนุรักษ์ธรรมชาติก่อนกำหนด ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาใหญ่ที่สุดในโลกจีนยินดีแบกรับความรับผิดชอบระหว่างประเทศที่สอดคล้องกับระดับการพัฒนาของตน ใช้ความพยายามและการมีส่วนร่วมมากขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในข้อตกลงปารีสเกี่ยวกับการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เมื่อ 5 ปีก่อน การประชุมสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปารีสได้มีมติผ่าน “ข้อตกลงปารีส” วางแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกภายหลังปี 2020 แต่รัฐบาลสหรัฐฯ กลับถอนตัวออกจากข้อตกลงดังกล่าวเพียงเพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ถือเป็นอุปสรรคต่อการรับมือปัญหาภูมิอากาศทั่วโลก การระบาดของโควิด-19 ภัยพิบัติที่ไม่ได้เกิดขึ้นนับร้อยปีครั้งนี้ “กระตุ้นให้เกิดการลงลึกทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ” นานาประเทศควรใช้มาตรการมากยิ่งขึ้นเพื่อร่วมกันรับมือปัญหาภูมิอากาศโลก

การแสดงวิสัยทัศน์ในประเด็นการบริหารจัดการภูมิอากาศโลกของ ปธน.สี จิ้นผิง กล่าวได้ว่าชี้ให้เห็นถึงความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในการบริหารจัดการสภาพภูมิอากาศทั่วโลก สะท้อนให้เห็นถึงประสบการณ์แห่งการพัฒนาแบบสีเขียวของจีน รวมถึงความรับผิดชอบที่มีต่ออนาคตของมนุษยชาติในฐานะผู้นำประเทศใหญ่ ในด้านวิสัยทัศน์ของปธน.สี จิ้นผิงนั้น ข้อริเริ่มเกี่ยวกับการยืนหยัดลัทธิพหุภาคีและหลักการว่าด้วยทุกประเทศมีส่วนร่วมแต่มีภาระหน้าที่แตกต่างกันเพื่อรับมือปัญหาภูมิอากาศโลกนั้นถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะการปกป้องโลกซึ่งเป็นบ้านของมนุษย์เราทุกคนนั้น กล่าวโดยสรุปแล้วเป็นภาระหน้าที่ร่วมกันของทุกคน ไม่ควรดำเนินลัทธิเอกภาคี หรือ พึ่งพาปฏิบัติการของประเทศเพียงไม่กี่ประเทศ ทั้งยังต้องยืนหยัดความร่วมมือพหุภาคี ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาสภาพและขีดความสามารถที่ต่างกันของแต่ละประเทศ ประเทศพัฒนาแล้วควรแบกรับภาระหน้าที่มากยิ่งขึ้นและให้การสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาทั้งด้านเงินทุน เทคโนโลยี และการยกระดับขีดความสามารถ มีแต่การดำเนินการเช่นนี้เท่านั้นจึงจะสามารถเสริมสร้างการรับมือปัญหาภูมิอากาศโลกได้อย่างเต็มที่ เป็นที่แน่นอนว่าข้อริเริ่มของจีนสะท้อนถึงเสียงของบรรดาประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก รวมทั้งเน้นถึงวิธีการที่สมเหตุสมผลในการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ขณะให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน (CMG) นายแอนโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวด้วยความชื่นชมว่า ประเทศจีนได้ขยายบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าทิศทางของจีนนั้นถูกต้องแล้ว

TIM/LU

  • เสียงข่าวประจำวัน (26-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (26-11-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (26-11-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (25-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (25-11-2567)

陆永江